"เมอร์โคซูร์ " ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง ประตูการค้าสู่ลาตินอเมริกา
‘พาณิชย์’ เปิด ผลศึกษาการจัดทำเอฟทีเอไทย - เมอร์โคซูร์ (ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง) เพิ่ม จีดีพีไทย 1.62 % หนุนส่งออก ขยายตลาดการค้าในภูมิภาคลาตินอเมริกา
KEY
POINTS
Key Point
- ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือ เมอร์โคซูร์ (MERCOSUR) ซึ่งประกอบด้วยประกอบด้วย ประเทศบราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย และ อุรุกวัย
- 4 ประเทศมีประชากรรวมกัน 224 ล้านคนมี GDP รวมไม่ต่่ำกว่า 639,000 ล้านดอลลาร์
- การจัดทำ FTA กับเมอร์โคซูร์ จะส่งผล GDP ของไทย เพิ่มขึ้น 1.62 %
- ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2567) การค้าระหว่างไทยและกลุ่มเมอร์โคซูร์ มีมูลค่า 6,560.56 ล้านดอลลาร์
การเจรจาความตกลงการค้าเสรีหรือ "เอฟทีเอ "(FTA) ถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ที่จะขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน ผ่านการเจรจาจัด ล่าสุดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลศึกษาความเป็นไปได้ และผลกระทบของจัดทำความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ (FTA )ไทย-ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือ เมอร์โคซูร์ (MERCOSUR) ซึ่งประกอบด้วยประกอบด้วย ประเทศบราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย และ อุรุกวัย
ทั้งนี้ข้อมูลจากเว็ปไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เผยแพร่รายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับเมอร์โคซูร์ มีรายละเอียดข้อมูลพื้นฐานของประเทศกลุ่ม เมอร์โคซูร์ ว่า ประเทศในลาตินอเมริกาและแถบคาริบเบียนมีแผนจัดตั้งตลาดรวมภูมิภาคมานานแล้วแต่เนื่องจากต้องเกี่ยวข้องกับหลายประเทศที่มีความแตกต่างในระดับการพัฒนาการรวมตัวขนาดใหญ่จึงยังไม่สําเร็จต้องอนุญาตให้กลุ่มประเทศที่พร้อมเริ่มต้นเป็นตลาดร่วมไปก่อน MERCOSUR หรือเมอร์โคซูร์ เป็นหนึ่งในตลาดร่วมที่แยกมาเริ่มต้นดังกล่าว
ตลาดร่วมนี้จัดตั้งขึ้นโดย Treaty of Asuncion ประกอบด้วย อาเจนตินา บราซิล ปารากวัยและอุรุกวัย เมื่อรวมกันแล้วได้กลายเป็นตลาดร่วมของประเทศกําลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดเพราะทั้ง 4 ประเทศมีประชากรรวมกัน 224 ล้านคนมี GDP รวมไม่ต่่ำกว่า 639,000 ล้านดอลลาร์ จุดมุ่งหมายหลักของเมอร์โคซูร์ ก็คือการเปิดเสรีระหว่างประเทศสมาชิกโดยสมบูรณ์ ส่วนการนําเข้าจากประเทศนอกตลาดร่วม จะใช้อัตราภาษีศุลกากรรวมที่เรียกว่า Common External Tariffs
"เมอร์โคซูร์" ได้จัดตั้งองค์กรบริหารเพื่อการกําหนดระเบียบกฎเกณฑ์เพิ่มเติมและเพื่อการตัดสินใจร่วมกันองค์กรสูงสุดคือ Council of the Common Market ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีเศรษฐกิจของแต่ละประเทศและได้จัดตั้งสํานักงานเลขาธิการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายเลขานุการนอกจากนี้เมอร์โคซูร์ได้กําหนดกระบวนการยุติข้อพิพาทของตนเองเพื่อใช้ในกรณีที่มีการไม่ปฏิบัติตามพันธะกรณีของตลาดร่วม
สำหรับความเป็นไปได้ในการการเข้าสูตลาดเมอร์โคซูร์ ผลการศึกษาระบุว่า จะเป็นไปได้เมื่อไทยจัดตั้ง"เขตการค้าเสรีกับเมอร์โคซูร์ "ตลาดร่วมเมอร์โคซูร์แม้จะมีขนาดใหญ่แต่ยังมีอุปสรรคการเข้าสู่ตลาดโดยมีอัตราภาษีศุลกากรในอัตราที่สูงและระยะทางที่ห่างจากไทยก็เป็นอุปสรรคธรรมชาติการจัดทําเขตการค้าเสรีจะทําให้สินค้าจากไทยสามารถแข่งขันทางด้านราคากับสินค้าจากประเทศในเมอร์โคซูร์เองและจากประเทศอื่นที่เป็นคู้ค้ากับเมอร์โคซูร์
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยควรจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับตลาดร่วมเมอร์โคซูร์เพราะประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างน้อย 3 ด้าน คือ การเปิดโอกาสทางการค้าให้ภาคเอกชนไทย โดย เอกชนจะมีโอกาสในการขยายตลาดไปสู่ตลาดร่วมที่มีประชากรสูงถึง 250 ล้านคน
การใช้ตลาดเมอร์โคซูร์ เป็นประตูสู่ตลาดในทวีปอเมริกาใต้ เพราะตลาดร่วมเมอร์โคซูร์มีความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอื่นๆในทวีปอเมริกาใต้อีกหลายประเทศ เช่น เปรู ชิลีโบลิเวีย เวเนซูเอลา เอกัวดอร์ ฮอนดูรัส และประเทศสมาชิกเมอร์โคซูร์เป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญ เช่น กลุ่มข้าวสาลี กลุ่มธัญพืช กลุ่มกากเมล็ดน้ำมันพืช กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงในบ้าน กลุ่มธัญพืช กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็นต้น
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือ เมอร์โคซูร์ (MERCOSUR) มีประชากรกว่า 300 ล้านคน ซึ่งถือ เป็นตลาดที่มีศักยภาพในภูมิภาคลาตินอเมริกาและเป็นประตูการค้าในการกระจายสินค้าของไทยในภูมิภาคดังกล่าว โดยเฉพาะประเทศบราซิล และอาร์เจนตินา ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย มีสัดส่วนการค้ากว่า 90% ของการค้ารวมทั้งกลุ่ม
“ผลการศึกษาการจัดทำ FTA กับเมอร์โคซูร์ จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย เพิ่มขึ้น 1.62 % มูลค่าการส่งออกระหว่างไทยและเมอร์โคซูร์ เพิ่มขึ้น 1.33 % และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น 3.25 % ซึ่งเป็นผลจากการขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและมิใช่ภาษี และการเปิดเสรีการค้ามากขึ้น รวมทั้งช่วยขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพของไทยเข้าสู่ตลาดเมอร์โคซูร์ โดยเฉพาะสินค้าเมล็ดธัญพืช ผัก ผลไม้ เมล็ดถั่ว น้ำมันและไขมันจากพืช และผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ”นางสาว โชติมา กล่าว
นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้กับภาคบริการที่มีศักยภาพของไทยที่จะเข้าสู่ตลาดเมอร์โคซูร์มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง การค้าปลีกค้าส่ง โรงแรม และร้านอาหาร โดยการศึกษาที่ไทยดำเนินการอยู่นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมและเชื่อมโยงเศรษฐกิจของไทยกับกลุ่มเมอร์โคซูร์ สร้างโอกาสในการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทย ช่วยระบุโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางรองรับปรับตัวที่เหมาะสม
"การจัดทำ FTA จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งการนำเข้าและส่งออก และเป็นโอกาสสำหรับไทยในการได้มาซึ่งวัตถุดิบราคาถูก และส่งออกสินค้าแปรรูปและมีมูลค่าเพิ่มด้วย อาทิ สินค้าอาหารสัตว์ ผลไม้ และสินค้าประมงแปรรูป"นางสาวโชติมา กล่าวว่า
นอกจากนี้ ตลาดบราซิลถือเป็นตลาดเกิดใหม่ (emerging market) และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่โดดเด่น ซึ่งไทยจะสามารถขยายการค้าในตลาดบราซิล เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน จะช่วยเปิดโอกาสทางการค้าโดยเฉพาะด้านสินค้าเกษตร รวมถึงความร่วมมือต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ ประกอบกับไทยมีจุดเด่นที่จะเป็นประตูการค้าไปสู่อาเซียน จึงเป็นโอกาสหากไทยจะจัดทำ FTA กับกลุ่มเมอร์โคซูร์เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองภูมิภาค
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2567) การค้าระหว่างไทยและกลุ่มเมอร์โคซูร์ มีมูลค่า 6,560.56 ล้านดอลลาร์โดยไทยส่งออกไปกลุ่มเมอร์โคซูร์ มูลค่า 2,896.90 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากกลุ่มเมอร์โคซูร์ มูลค่า 3,663.67 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช น้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์