"อินเดีย" โอกาสไทยยุคสงครามการค้า เกมภาษีกีดกันการค้า “อินเดีย - สหรัฐ - จีน”

"อินเดีย" โอกาสไทยยุคสงครามการค้า เกมภาษีกีดกันการค้า “อินเดีย - สหรัฐ - จีน”

“อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ มองสงครามการค้า “สหรัฐ จีน อินเดีย” ต่างใช้มาตรการขึ้นภาษี กีดกันการค้า หวังลดการขาดดุล ขณะที่ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าไปอินเดียได้แต่ไม่ง่าย เพราะต้องเจอคู่แข่งจากอาเซียน

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัทอินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ"ว่า อินเดียมีบทบาทในเวทีต่างประเทศน่าสนใจ โดยเฉพาะภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ 2 ซึ่งต้องติดตามว่าอินเดียจะวางตำแหน่งอย่างไรท่ามกลางสงครามการค้า และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ 

สำหรับอินเดียมีประชากรมากที่สุดในโลก โดยปี 2023 อินเดียมีประชากร 1.42 ล้านคน ขณะที่จีนมีประชากร 1.41 ล้านคน ซึ่งทำให้อินเดียมีตลาดใหญ่กว่าจีน 

ทั้งนี้การค้าระหว่างประเทศของอินเดียมีตลาดสำคัญ ประกอบด้วย

1.การค้าระหว่างอินเดีย-จีน โดยการส่งออกจากจีนไปอินเดียเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2014 มูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2023 มูลค่า 110,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าของจีนจากอินเดียเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปี 2014 มีมูลค่า 16,000 ล้านดอลลาร์ และปี 2023 มูลค่า 18,000 ล้านดอลลาร์ 

ทั้งนี้อินเดียขาดดุลการค้ากับจีนในปัจจุบันถึง 90,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้อินเดียออกมาตรการ Atmanirbahar Bharat หรือ นโยบายลดการพึ่งพิงสินค้าจากจีน (self-reliant India) เพื่อแก้ปัญหาดุลการค้า ทั้งนี้อินเดียขึ้นภาษีจีน (จีนขึ้นสินค้าอินเดียเช่นกัน) 

รวมถึงทั้ง 2 ประเทศมีความขัดแย้งชายแดนหุบเขา Galwan Valley ของทั้งประเทศทำให้ทั้ง 2 ประเทศทำการค้าด้วยความระแวง

2.การค้าระหว่างอินเดีย-สหรัฐ โดยปัจจุบันสหรัฐส่งออกไปอินเดีย 20,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 40,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ ชิ้นส่วนเครื่องบิน เครื่องจักร และถั่วเหลือง โดยอินเดียส่งออกไปสหรัฐ 46,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 90,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าอินเดีย 50,000 ล้านดอลลาร์

\"อินเดีย\" โอกาสไทยยุคสงครามการค้า เกมภาษีกีดกันการค้า “อินเดีย - สหรัฐ - จีน”

ขณะที่การค้าระหว่างสหรัฐ และจีนมีการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน โดยสหรัฐต้องการลดการขาดดุลการค้าจากจีนจึงมีการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจึงต้องดูว่าหลังจากทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดีจะเป็นอย่างไร

นายอัทธ์ กล่าวว่า  3.การค้าระหว่างไทย-อินเดีย ปี 2023 ไทยส่งออกไปอินเดีย 11,143 ล้านดอลลาร์ สัดส่วน 4% ของการส่งออกรวมของไทย และนำเข้า 7,858 ล้านดอลลาร์ ไทยได้ดุลการค้ากับอินเดีย 3,000 ล้านดอลลาร์ สินค้าหลักที่ไทยส่งออกไปอินเดีย คือ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์ และส่วนประกอบ อัญมณี และเครื่องประดับ เหล็ก เครื่องจักรกล และเครื่องปรับอากาศ

ทั้งนี้ อินเดียตลาดใหญ่กว่าจีน และเมื่อเป็นตลาดใหญ่น่าจะเป็นโอกาสของสินค้าไทย แต่ความเป็นจริงการส่งออกไปอินเดียไม่ง่ายโดยเฉพาะสินค้าเกษตรจาก 6 ปัจจัย ดังนี้

1.ราคาผลไม้ไทยแพง อินเดียปกป้องสินค้าเกษตรและเกษตรกร โดยเกษตรกรอินเดียมีสัดส่วน 45% ของประชากรรวม ดังนั้นสินค้าเกษตรที่ไปขายอินเดียต้องไม่ใช่สินค้าเกษตรที่อินเดียผลิต เช่น มะม่วง กล้วย ทับทิม ฝรั่ง ส้ม มะละกอ แตงโม ขนุน ส้มโอ แอปเปิล มังคุด ลูกตาล มะเฟือง และลิ้นจี่ 

ดังนั้นสินค้าไทยที่มีโอกาสไม่ใช่ทุเรียน แต่เป็นมะขามหวาน และสินค้าอื่นที่อินเดียผลิตไม่ได้ โดยผลไม้ไทยที่ส่งออกไปอินเดียราคาสูง และไม่สดเท่าผลไม้อินเดียเพราะการขนส่งไกล จึงวางขายเฉพาะห้างสรรพสินค้าทำให้ราคาสูงหลายเท่าตัว

2.สินค้าเกษตรอินเดียส่วนใหญ่ ขายในตลาดขายส่ง และปลีกในตลาดท้องถิ่น สินค้าเกษตรไทยไม่ได้วางขายจึงทำให้โอกาสเข้าถึงผู้ซื้ออินเดียยาก

3.น้ำมันปาล์ม และยางพารา เจอคู่แข่งใหญ่แม้อินเดียผลิตได้น้อย โดยอินเดียซื้อน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในขณะที่ยางพารามีอินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นคู่แข่งไทย

 

 

 

4.การตรวจมาตรฐานสินค้านำเข้าเข้มข้นของ 2 หน่วยงาน คือ Bureau of India Standard (BIS) และ (Food Safety and Standard Authority of India (FSSAI) โดยผู้นำเข้าอินเดียต้องการให้มีโลโก้มาตรฐานดังกล่าวติดข้างผลิตภัณฑ์

5.กระจายสินค้ามีต้นทุนสูง ด้วยสภาพ และความพร้อมของถนนในอินเดียที่ไม่ดีมากพอทำให้สินค้าไทยมีเฉพาะเมืองใหญ่

6.งานแสดงสินค้าหรือจับคู่ธุรกิจไม่ต่อเนื่อง แม้ว่าไทยมีกิจกรรมงานแสดงสินค้าไทยและจับคู่ธุรกิจ แต่เป็นระยะสั้นทำให้เกิดข้อจำกัดด้านวันเวลาที่ผู้บริโภคอินเดียเข้าถึง และรับทราบสินค้าไทย และที่สำคัญไม่เคยจัดกิจกรรมในตลาดท้องถิ่น

" ด้วยประชากร และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียที่โตวันโตคืน ความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน ก็เป็นโอกาสของสินค้าไทย แต่ต้องดูคู่แข่งจากอาเซียน" นายอัทธ์ กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์