เอกชน MOU รับซื้อปลาโอไทยจากเรือประมงไทยหวังแก้ปัญหาราคาตกต่ำ

เอกชน MOU รับซื้อปลาโอไทยจากเรือประมงไทยหวังแก้ปัญหาราคาตกต่ำ

สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย MOU สมาคมประมงอวนล้อม การรับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอของไทยจากเรือประมงไทย มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท หวังใช้กลไกตกลงราคา แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

กรมประมง ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) การรับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอของไทยจากเรือประมงไทยในปี 2568ระหว่าง สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และ สมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) หนุนนโยบาย นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง ด้วยการใช้กลไกการตกลงราคาโดยให้กรมประมงเป็นคนกลาง เริ่มนำร่องในสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอที่ได้จากเรือประมงไทยในน่านน้ำไทยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบแปรรูป

เอกชน MOU รับซื้อปลาโอไทยจากเรือประมงไทยหวังแก้ปัญหาราคาตกต่ำ

 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ในฐานะสักขีพยานในพิธีลงนามครั้งนี้ กล่าวว่ากรมประมงได้ขับเคลื่อนนโยบายของ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงอย่างต่อเนื่อง ภายใต้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ ซี่งประกอบด้วยคณะอนุกรรมการฯ ใน 3 กลุ่มสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มปลาผิวน้ำ กลุ่มปลาหน้าดิน และกลุ่มปลาเป็ดปลาป่น ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มนำร่องในสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอ และจะขยายผลไปยังวัตถุดิบปลาทะเลเพื่อผลิตเนื้อปลาบด (ซูริมิ) รวมถึงปลากะพงขาว โดยมุ่งแก้ไขปัญหาแต่ละกลุ่มสัตว์น้ำให้มีความเหมาะสมและทันท่วงที

การลงนามความร่วมมือการรับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอของไทยจากเรือประมงไทยในปี 2568 ระหว่าง สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และ สมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย)เป็นความเห็นชอบร่วมกันระหว่าง 2 สมาคมฯ ในการใช้กลไกการตกลงราคามาช่วยแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำ

 โดยมีกรมประมงซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่เป็นคนกลางในการประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยจะรับซื้อสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอจากสมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย)ในปี 2568 (มกราคม - ธันวาคม) จำนวนประมาณ 50,000 ตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท และจะหารือแนวทางการรับซื้อร่วมกันเป็นประจำทุกไตรมาส โดยมีข้อกำหนดการรับซื้อปลาเข้าโรงงาน (Specification) จะต้องเป็นปลาที่มีคุณภาพและขนาดตรงความต้องการ อีกทั้งเรือประมงไทยที่จะเข้าร่วมโครงการความร่วมมือดังกล่าวต้องเป็นสมาชิกของสมาคมประมงอวนล้อมจับ (ประเทศไทย) เท่านั้น 

เอกชน MOU รับซื้อปลาโอไทยจากเรือประมงไทยหวังแก้ปัญหาราคาตกต่ำ

โดยทุกลำต้องได้รับการรับรองว่าเป็นเรือไทย มีหนังสือกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document :MCPD) ตลอดจนเอกสารอื่น ๆ ที่แสดงได้ว่าเป็นการทำประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ทั้ง 2 สมาคมฯ ได้ลงนามความร่วมมือในการรับซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำกลุ่มปลาโอของไทยจากเรือประมงไทยไปแล้ว 1 รอบ ในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 (มิถุนายน - ธันวาคม) โดยกำหนดปริมาณการรับซื้อไว้ 20,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่ามีความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาราคาสัตว์น้ำตกต่ำเป็นอย่างดี สามารถช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

"การลงนามใน MOU ครั้งนี้ กรมประมงมุ่งหวังว่า เป็นการส่งเสริมความร่วมมือ ภาคการประมงที่เกื้อกูลประโยชน์ร่วมกัน พร้อมช่วยสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้กับพี่น้องชาวประมง และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมประมงไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป"