กรมประมง เปิด Line Openchat บริการสู่ยุคดิจิทัล ดันส่งออกหนุนเศรษฐกิจประเทศ
“กรมประมง เปิด Line Openchat หนุนส่งออกสินค้าประมงไทย คลายทุกข้อสงสัย พร้อมทรานฟอร์มระบบให้บริการสู่ยุคดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ยกระดับภาคการประมงไทยสู่สากล
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าประมงสูงถึง 1,476,538 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 211,280 ล้านบาท ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้และมีความสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ประกอบกับปัจจุบันต่างประเทศยังคงมีแนวโน้มความต้องการบริโภคสินค้าประมงของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ค้ารายใหม่ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ต้องการการรับรองเพื่อส่งออกสินค้าประมงมากขึ้น
กรมประมงจึงนำ Application Line มาใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการให้คำปรึกษา แนะนำ และตอบข้อซักถามเกี่ยวกับกระบวนการส่งออกสินค้าประมง ตามนโยบายของ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในษการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับ “คลินิกสินค้าประมงส่งออก” เป็นช่องทางที่กรมประมงได้เริ่มให้บริการในการตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับขั้นตอนการส่งออกสินค้าประมงผ่าน Application Line เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากจนสมาชิกเต็มจำนวน 500 คน และไม่สามารถเพิ่มจำนวนสมาชิกได้
ดังนั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และรองรับจำนวนสมาชิกที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต กรมประมงจึงเปิดช่องทางใหม่ผ่านทาง Line Openchat “ห้องสนทนาสินค้าประมงส่งออก” ซึ่งสามารถรองรับสมาชิกได้ถึง 5,000 คน โดยผู้ประกอบการสามารถขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการขอการรับรองได้อย่างละเอียด ตั้งแต่รายละเอียดของข้อกำหนดประเทศคู่ค้า การขึ้นทะเบียนสถานประกอบการกับกรมประมง การขอรับรอง GMP/HACCP การตรวจสุขอนามัยแพปลา ท่าเทียบเรือ สถานบรรจุสัตว์น้ำ และโรงงานแปรรูป รวมถึงขั้นตอนการขอใบรับรองสุขอนามัย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงไปยังต่างประเทศได้ถูกต้องตามกฎระเบียบและข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
นอกจากนี้ กรมประมงยังได้ร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในการจัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง กฎระเบียบและข้อกำหนดในการรับรองโรงงานผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ประมงส่งออก โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถซักถามข้อกำหนดและขั้นตอนการขอการรับรองโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ประมงส่งออก มาตรฐานผลิตภัณฑ์ประมงส่งออกทั้งทางด้านเคมี จุลินทรีย์ และกายภาพ ข้อกำหนดการออกใบรับรองสุขอนามัย รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ด้านการส่งออกสินค้าประมงไปยังต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้กับสถานประกอบการของตนเองได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม มีกระบวนการผลิตที่สอดคล้องตามมาตรฐานสากล และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 200 ราย
สำหรับผู้ประกอบการส่งออกสินค้าประมงที่สนใจสามารถขอรับคำปรึกษา แนะนำ ได้โดยการสแกน QR-Code เข้าร่วมกลุ่ม Line Openchat หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง กรมประมง โทร. 02 562 0600 – 5 ต่อ 13119 ในวันและเวลาราชการ หรือทางอีเมล [email protected] …อธิบดีกรมประมงกล่าว
นอกจากนี้ เนื่องจากปัจจุบันโลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องปรับตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการให้ระบบงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งการจัดเก็บข้อมูล การประมวลผล และการวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารเพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ด้านต่าง ๆ รวมถึงการขยายขีดความสามารถของงานบริการประชาชน ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการ
อีกทั้งยังสามารถลดข้อผิดพลาดที่เกิดจากการทำงานแบบดั้งเดิม เพิ่มความโปร่งใสในการบริหารงานของภาครัฐ พร้อมปรับภาพลักษณ์องค์กรให้ทันสมัยขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิบัติการดิจิทัลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566 – 2570
สำหรับกรมประมง ได้ให้ความสำคัญกับการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาศักยภาพภาคการประมง โดยได้วางกรอบนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และการจัดการข้อมูลเพื่อ “ยกระดับการประมงไทยให้แข่งขันได้ โดยใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล พร้อมผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างความมั่งคั่งแก่เกษตรกร” ดังวิสัยทัศน์กรมประมงที่กำหนดไว้
นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงระดับกรม (Department Chief Information Officer : DCIO) และผู้บริหารข้อมูลระดับสูง (Chief Data Officer : CDO) ของกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนภาคการประมงของประเทศ จึงได้มุ่งเน้นนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานขององค์กรให้มีความเป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น (Digital Transformation) ตอบโจทย์ต่อความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และยกระดับภาคประมงไทยให้สามารถแข่งขันในระดับสากลได้อย่างทัดเทียมตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันกรมประมง
โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีการปรับปรุงกระบวนงานและจัดทำโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัย พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านภูมิสารสนเทศ (GIS) มาสนับสนุนงานด้านการประมง ให้บริการแผนที่ออนไลน์ด้านการประมง มีฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงบูรณาการทั้งข้อมูลภายในหน่วยงานกับหน่วยงานต่าง ๆ กว่า 17 ฐานข้อมูล และจัดทำระบบแอพพลิเคชั่นออนไลน์เพื่อรองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมประมงและให้บริการประชาชนกว่า 71 ระบบ อาทิเช่น
1. ระบบหนังสือการแปรรูปสัตว์น้ำ (PSE) และระบบการตรวจสอบตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSM) ภายใต้การเชื่อมโยงคำขอกลาง (FSW) ของกรมประมง (Processing Statement and PSM Link System : PPS) ซึ่งใช้สำหรับการออกใบอนุญาตและการตรวจสอบสินค้าสัตว์น้ำที่ผ่านการแปรรูปและต้องดำเนินการตรวจสอบตามมาตรการของรัฐเจ้าของท่าภายใต้ระบบการเชื่อมโยงคำขอกลาง (FSW) ของกรมประมง ที่เชื่อมต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินการ
2. ระบบการแจ้งเข้าแจ้งออกของเรือประมงแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-PIPO) เป็นระบบที่ใช้ในการแจ้งข้อมูลการเข้าและออกของเรือประมงเพื่อการตรวจสอบกิจกรรมการทำประมง การทำรายงาน และควบคุมดูแลการทำประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย
3. ระบบออกหนังสือคนประจำเรือ สำหรับแรงงานต่างด้าว (Sea book) ใช้สำหรับออกเอกสารรับรองสำหรับคนงานต่างด้าวที่ทำงานบนเรือประมงในประเทศไทย โดยจะทำให้มีการจัดเก็บข้อมูลประวัติของแรงงานต่างด้าว และติดตามความถูกต้องตามกฎหมายในการจ้างงาน
4. ระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System : VMS) ช่วยติดตามตำแหน่งของเรือประมงในเวลาจริงผ่านดาวเทียม เพื่อควบคุมการทำประมงในเขตน่านน้ำไทย และป้องกันการทำประมงผิดกฎหมาย
5. ระบบการออกใบอนุญาตทำการประมง (e-License) เป็นระบบที่ช่วยให้นายจ้างและเจ้าของเรือประมงสามารถขอใบอนุญาตทำการประมงทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้กระบวนการขอใบอนุญาตสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
6. ระบบสารสนเทศการทำประมง (Fishing Info) ใช้สำหรับเก็บรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการทำประมงในประเทศไทย เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและทำรายงานเกี่ยวกับกิจกรรมการทำประมง
7. ระบบตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย (Thai Flagged Catch Certification System : TFCC) เป็นระบบที่สร้างขึ้นเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงที่ถือธงชาติไทย เพื่อยืนยันว่าเป็นสินค้าที่ได้มาถูกต้องตามกฎหมายและไม่มีการละเมิดกฎข้อบังคับระหว่างประเทศ
8. ระบบตรวจสอบและรับรองสุขอนามัยสินค้าประมงแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบนี้มีหน้าที่ในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสุขอนามัยของสินค้าประมง เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้ามีคุณภาพและปลอดภัยต่อการบริโภค
ซึ่งระบบเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่กรมประมงได้ดำเนินการ เพื่อให้การทำงานขององค์กรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความซับซ้อนในกระบวนการต่าง ๆ พร้อมยกระดับการบริการและความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและบริการสำหรับประชาชน รวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงของประเทศให้มีความยั่งยืนในระยะยาวอีกด้วย