เกษตรฯ เร่งช่วยน้ำท่วมเกษตรกร วางกรอบฟื้นฟูเยียยวยา
กระทรวงเกษตรฯ เคาะกรอบช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 เร่งสำรวจความเสียหายภาคเกษตรและเตรียมเยียวยาเกษตรกรโดยเร็ว พร้อมวางแนวทางการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 เพื่อลดผลกระทบภาคเกษตรให้น้อยที่สุด
นายธิติ โลหะปิยะพรรณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 6/2567ว่า กระทรวงเกษตรฯ พร้อมเดินหน้าภารกิจโครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งได้มอบหมายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและรวบรวมข้อมูลเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงวันที่ 14 ก.ค. 67 – 31 ต.ค. 67 จำนวน 59 จังหวัด พร้อมทั้งได้กำหนดกรอบการดำเนินงานโครงการฯ โดยแบ่งรูปแบบโครงการออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.การฟื้นฟูส่งเสริมอาชีพภาคเกษตร(เกษตรกรเลือกได้ 1 กิจกรรม และสามารถเข้าร่วมโครงการในกลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 ได้) ได้แก่
โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรผู้ประสบภัย โดยกรมการข้าวเตรียมสนับสนุนปัจจัยการผลิต อาทิ เมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี สารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น
2.โครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้ประสบภัยด้านปศุสัตว์ ปี 2567 โดยกรมปศุสัตว์เตรียมสนับสนุนเงินเพื่อจัดซื้อพันธุ์ไก่พื้นเมือง หรือพันธุ์เป็ดเทศ หรือการปลูกพืชอาหารสัตว์โดยให้เกษตรกรเลือกได้ 1 เมนูอาชีพ
และ โครงการส่งเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง การเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อพลาสติกและในกระชังบก โดยกรมประมงเตรียมสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร 3 เมนูอาชีพ ประกอบด้วย พันธุ์ปลาดุก(บ่อพลาสติก) พันธุ์ปลาดุก(กระชังบก) และพันธุ์กบการฟื้นฟูพัฒนาอาชีพภาคเกษตรได้แก่
โครงการสกัดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช เชื้อรา และการสนับสนุนพันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ปี 2567/2568 โดยกรมวิชาการเกษตรเตรียมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชพันธุ์ผักไร่ ก้อนเชื้อเห็ดเศรษฐกิจ และปัจจัยการผลิตสารชีวภัณฑ์ รวมถึงการซ่อมแซมและฟื้นฟูเครื่องจักรกลขนาดเล็กให้เกษตรกร
โครงการปรับระดับพื้นที่เกษตรและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยระยะหลังน้ำลด ปี 2567 โดยกรมพัฒนาที่ดินเตรียมจัดกิจกรรมการจัดระบบอนุรักษ์และน้ำเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และ โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนไหมที่ประสบอุทกภัย โดยกรมหม่อมไหมเตรียมสนับสนุนต้นพันธุ์หม่อน ปุ๋ย ปูนขาว และโดโลไมท์ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย
3.การลดภาระหนี้สินของสมาชิกสถาบันเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร โดย กรมส่งเสริมสหกรณ์ แบ่งออกเป็น 2 กิจกรรม คือชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ปี 2567 และ ชดเชยความเสียหายของทรัพย์สินสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี 2567
นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แนวทางการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 (ในช่วงเดือนพ.ย. 2567 – เม.ย. 2568) เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานป้องกันและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านการเกษตรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ
โดย กรมชลประทานได้ดำเนินการวิเคราะห์และวางแผนการจัดสรรน้ำฤดูน้ำแล้ง ปี 2566/67 ทั้งประเทศ (ช่วงวันที่ 1 พ.ย. 2567 – 30 เม.ย. 68) ไว้ทั้งหมด 29,175 ล้านลบ.ม. เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง สำหรับการอุปโภค-บริโภค และกิจกรรมภาคการเกษตร ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2567/68 ทั้งประเทศ จำนวน 15.38 ล้านไร่ แบ่งเป็น 1) ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 12.83 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 10.02 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.03 ล้านไร่) และ 2) พืชไร่พืชผัก จำนวน 2.65 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.62 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2.03 ล้านไร่) อีกด้วย