แผนแม่บทเกษตร สำเร็จตามเป้า อัปสกิลการผลิต สร้างรายได้เกษตรกร
เปิดผลสำเร็จ 6 แผนแม่บทย่อยด้านการเกษตร ปี 67 เดินหน้ายกระดับการผลิต สร้างรายได้ภาคเกษตร
แนะจัดอบรมเจ้าหน้าที่ เพิ่มความรู้ต่อเนื่อง ก่อนถ่ายทอดเกษตรกรสร้างอำนาจต่อรองด้านราคา
นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ผลการติดตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการเกษตร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งแผนแม่บทด้านการเกษตรมีวัตถุประสงค์ ยกระดับการผลิตให้เข้าสู่คุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย การใช้ประโยชน์จากเอกลักษณ์ของสินค้าเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาสินค้าเกษตรและการแปรรูป การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร
โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในสาขาเกษตรเพิ่มขึ้น และผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 6 แผนย่อย ได้แก่ 1) แผนแม่บทย่อยเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น2) แผนแม่บทย่อยเกษตรปลอดภัย 3) แผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ 4) แผนแม่บทย่อยเกษตรแปรรูป 5) แผนแม่บทย่อยเกษตรอัจฉริยะ และ 6) แผนแม่บทย่อยการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร
จากที่ สศก. ได้ติดตามผลการดำเนินงานโครงการสำคัญภายใต้แผนแม่บทด้านการเกษตร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567(1 ตุลาคม 2566 - 30 กันยายน 2567) ภาพรวมสามารถดำเนินการได้ตามแผนครบถ้วนคิดเป็นร้อยละ106ของเป้าหมาย ซึ่งเมื่อจำแนกแต่ละด้าน พบว่า
1)แผนแม่บทย่อยเกษตรอัตลักษณ์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ105จังหวัดสุรินทร์ สามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดสุรินทร์ ในราคาเฉลี่ย17บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าการจำหน่ายในตลาดทั่วไปที่มีราคาเฉลี่ย12บาทต่อกิโลกรัม (สูงกว่าเดิม 5 บาท)มีการตรวจสอบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย 250,567 เมตร คิดเป็นมูลค่า 643 ล้านบาท
2)แผนแม่บทย่อยเกษตรปลอดภัย ภาพรวมมูลค่าสินค้าเกษตรปลอดภัย (สินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์) เฉลี่ยที่ 4,243,444 บาทต่อปี จากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการที่ได้ 4,410,864 บาทต่อปี (ลดลงเฉลี่ย 167,420 บาทต่อปี หรือร้อยละ เนื่องจากสินค้าปศุสัตว์ได้รับผลกระทบจากโรคประจำถิ่น จึงทำให้ผลผลิตลดลง แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า สินค้าประมง มีมูลค่าสินค้าเกษตรปลอดภัยเพิ่มขึ้นเป็น 2,709,611 บาทต่อปีจากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการที่ได้ 2,586,697บาทต่อปี (เพิ่มขึ้น122,914บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ5)
3)แผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ เกษตรกรนำความรู้ด้านสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจไปใช้ ส่งผลให้มีผลผลิตเฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 83 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหน่วยลดลงร้อยละ 41 โดยเกษตรกรร้อยละ 92 มีรายได้สูงขึ้นหลังจากเข้าร่วมโครงการ อันเนื่องมาจากการเพิ่มพื้นที่ การปลูก/เลี้ยง ตลอดจนนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ จึงส่งผลให้มีรายได้สูงขึ้น
4)แผนแม่บทย่อยเกษตรแปรรูป สถาบันเกษตรกรได้รับการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เช่นข้าวสารมังคุดกวนสามรสปลาส้ม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนมโค โดยสถาบันเกษตรกรมีมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเฉลี่ย 527,375 บาทต่อเดือนจากเดิม 315,333 บาทต่อเดือน (เพิ่มขึ้น 212,042 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 67) ซึ่งเป็นการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์สินค้าให้มีความสวยงาม เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า
5)แผนแม่บทย่อยเกษตรอัจฉริยะ มูลค่าสินค้าเกษตรจากการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการเกษตรไปปรับใช้ ส่งผลให้แปลงเกษตรกรต้นแบบมีมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าปาล์มน้ำมันมีมูลค่า 25,620 บาทต่อไร่ จากเดิม 18,910 บาทต่อไร่(เพิ่มขึ้น 6,710 บาทต่อไร่ หรือร้อยละ 35) และมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้นเป็น 4,200 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิม 3,100 กิโลกรัมต่อไร่(เพิ่มขึ้น 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ หรือร้อยละ 35)
และ 6)แผนแม่บทย่อยการพัฒนาระบบนิเวศ การเกษตรเกษตรกรเริ่มมีการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นสินค้าอื่นที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ตามAgri-Mapเช่น เกษตรผสมผสาน หญ้าเลี้ยงสัตว์เป็นต้นซึ่งคาดว่าเมื่อได้รับผลผลิตแล้ว จะได้มูลค่าผลผลิต 5,693 บาทต่อไร่ จากเดิมที่ปลูกข้าวได้มูลค่าผลผลิต 3,190 บาทต่อไร่ (เพิ่มขึ้น2,503บาทต่อไร่หรือร้อยละ 78) และมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,949 บาทต่อไร่ จากเดิม 2,711 บาทต่อไร่ (เพิ่มขึ้น 2,238 บาทต่อไร่ หรือร้อยละ 83)
นอกจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแปลงใหญ่ มีการรวมกลุ่มกันบริหารจัดการซื้อปัจจัยการผลิตรวมกลุ่มจำหน่าย ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายลดลง และมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้สุทธิ 4,080 บาทต่อไร่ต่อปี จากเดิมรายได้สุทธิ2,404 บาทต่อไร่ต่อปี(เพิ่มขึ้น 1,676 บาทต่อไร่ต่อปี หรือร้อยละ 70) ทั้งนี้เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินโครงการภายใต้ แผนแม่บทฯ บรรลุวัตถุประสงค์ต่อเนื่อง ควรจัดอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ ให้สามารถนำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องการจัดทำแผนการผลิตและแผนการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการผลิต เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานและกิจกรรมในระดับพื้นที่
ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ของการได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร จัดกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายการตลาด และส่งเสริมการรวมกลุ่ม ยกระดับกลุ่มให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองราคากับผู้รับซื้อ ทั้งนี้ สศก. ยังคงติดตามโครงการสำคัญภายใต้แผนแม่บทด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน ให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของแผนต่อไป