สภา กทม.รับร่างงบประมาณจ่ายหนี้ BTS ก้อนแรก 1.4 หมื่นล้าน

สภา กทม.รับร่างงบประมาณจ่ายหนี้ BTS ก้อนแรก 1.4 หมื่นล้าน

สภา กทม. รับร่างงบประมาณจ่ายค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หลังผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยื่นขอชำระหนี้ก้อนแรกกว่า 14,000 ล้านบาท มั่นใจพิจารณารอบคอบ

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมีนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

โดยได้เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 พ.ศ.... เนื่องจากกรุงเทพมหานคร มีความประสงค์ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุงตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตามความจำเป็นที่หน่วยงานเสนอ เป็นค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานคร ต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ ภายใน 180 วัน ครบกำหนดวันที่ 21 ม.ค.2568 และขณะนี้ระยะเวลาได้ผ่านล่วงมาแล้ว มีผลให้กรุงเทพมหานคร ต้องชำระดอกเบี้ยอันเกิดจากความล่าช้าในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาล เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับกรุงเทพมหานคร จึงเห็นควรเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 พ.ศ....

สภา กทม.รับร่างงบประมาณจ่ายหนี้ BTS ก้อนแรก 1.4 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานคร พิจารณาเรื่องการชำระหนี้ฯ เป็นไปตามขั้นตอนทุกประการ เพื่อให้เกิดความรอบคอบที่สุดโดยไม่มีการเร่งรัดกระบวนการเพราะความกังวลเรื่องเสียค่าปรับ จึงอยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจ และมั่นใจว่า กทม. จะดูแลเงินภาษีของประชาชนอย่างดีที่สุด ส่วนตัวจึงไม่กังวลในเรื่องของมาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เนื่องจาก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามขั้นตอนทุกประการ และผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสภากรุงเทพมหานคร 

ขณะเดียวกัน กทม. มีเงินสะสมอยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาท จึงมีเงินพอจ่ายหนี้ก้อนดังกล่าว 14,549,503,800 บาท โดยจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากกรุงเทพมหานคร มีความประสงค์ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุงตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งคาดว่าน่าจะจ่ายหนี้ก้อนดังกล่าวได้ภายในปีนี้ ก่อนกำหนดที่ศาลปกครองสูงสุดตั้งไว้ตามคำพิพากษา คือ กทม. ต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ ภายใน 180 วัน ก่อนวันที่ 21 มกราคม 2568 ซึ่งการพิจารณาชำระหนี้ก้อนดังกล่าวได้พิจารณาอย่างรอบคอบทุกด้านแล้ว 

สภา กทม.รับร่างงบประมาณจ่ายหนี้ BTS ก้อนแรก 1.4 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ ได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว  เนื่องจากผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และสภากรุงเทพมหานคร มีหน้าที่ปกป้องเงินภาษีของประชาชนให้รอบคอบที่สุด นอกจากนี้หากสภากรุงเทพมหานคร มาขอพิจารณาเงินก้อนนี้จ่ายหนี้ไป ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้น GDP ในช่วงปลายปีอีกทางด้วย เนื่องจากเมื่อภาคเอกชนได้รับการชำระหนี้ก้อนนี้ไปก็จะนำไปหมุนเวียนทางธุรกิจ เช่น จ่ายผู้รับเหมา จ่ายแรงงาน จึงเป็นเรื่องที่ดีที่วันนี้เรื่องชำระหนี้ก้อนดังกล่าวมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และทุกอย่างตกผลึก จนผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีความมั่นใจว่าสามารถจ่ายชำระหนี้ก้อนนี้ได้

ในส่วนของสำนวนที่ ป.ป.ช. ส่งมาให้ กทม.นั้น ห้ามมิให้เปิดเผยสำนวนการไต่สวน โดยเฉพาะชื่อผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือการกระทำใดๆ อันให้ทราบถึงรายละเอียด ตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ดังนั้น กทม. จึงยังไม่สามารถส่งสำนวนให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาได้ เนื่องจากป.ป.ช. ยังไม่อนุญาต แต่ข้อกังวลเรื่องนี้ก็ตกไปเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว จนนำมาซึ่งการมีคำสั่งให้ กทม.จ่ายเงินชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถฯ 14,549,503,800 บาท ดังนั้นในส่วนของการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งทางวินัยและอาญา จึงไม่สามารถเปิดเผยได้ตามคำสั่งของ ป.ป.ช.

“ขณะนี้เรามองไปถึงอนาคต ที่ยังมีหนี้อีก 1 ก้อน ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง รวมถึงสัมปทานที่ให้เอกชนดำเนินการเดินรถฯ ที่จะหมดลงในปี 2572 ทำให้การเดินรถ BTS ช่วงไข่แดง (ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทางรวม 23.5 กม. 24 สถานี) ก็จะกลับมาเป็นของ กทม. ทั้งหมด ทั้งส่วนของรายได้และตัวโครงสร้าง กทม.จึงต้องเตรียมวางแผนเรื่องจ้างที่ปรึกษาฯ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชนต่อไป โดยต้องผ่านกระบวนการคิดร่วมกับสภากรุงเทพมหานคร ให้รอบคอบตามประเด็นข้อบัญญัติต่างๆ ของกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดเป็นคดีความต่อไปในอนาคต” นายชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ยื่นคำขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 คดีหมายเลขดำที่ อ.2226/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อ.725/2567 มีผลพิจารณาคดี ดังนี้

1. ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่ง ไม่รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะขอให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองใหม่ ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หนังสือแจ้งคำสั่งศาล คดีหมายเลขดำที่ พม. 76/2567 คดีหมายเลขแดงที่ พน. 92/2567 ลงวันที่ 5 พ.ย.2567 และหนังสือแจ้งคำสั่งศาล คดีหมายเลขดำที่ พม. 81/2567 คดีหมายเลขแดงที่ ผม. 93/2567 ลงวันที่ 5 พ.ย. 2567

2. สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ พบ. 81/2567 คดีหมายเลขแดงที่ พม. 93/2567 ดังกล่าว ชอบด้วยเหตุผลตามข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายแล้ว จึงควรไม่อุทธรณ์ หนังสือด่วนที่สุด ที่ อส 0042.2/2064 ลงวันที่ 7 พ.ย.2567 เรื่อง แจ้งคำสั่งของศาลปกครอง

3. สำนักงานกฎหมายและคดี เห็นควรไม่อุทธรณ์ ตามควานเห็นของสำนักการจราจร และขนส่ง ซึ่งไม่มีความเห็นใดที่จะมาขัดหรือแย้งคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดได้ ประกอบกับต้องเร่งรัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เพื่อมิให้เกิดภาระดอกเบี้ย ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กท 0405/6695 ลงวันที่ 11 พ.ย.2567 เรื่อง รายงานผลคดี ขออนุมัติไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางฯ

โดยวันนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีมติเห็นชอบรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัตินี้ และได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 พ.ศ. ... จำนวน 24 ท่าน โดยกำหนดระยะเวลาการแปรญัตติ 10 วันทำการ และกำหนดเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน