แรงสั่นสะเทือนเหล็กจีนทะลัก...ซ้ำเติม ความเปราะบางอุตสาหกรรมเหล็กไทย

แรงสั่นสะเทือนเหล็กจีนทะลัก...ซ้ำเติม  ความเปราะบางอุตสาหกรรมเหล็กไทย

แม้การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของ COVID19 จะจบลงไปแล้วกว่า 2 ปี แต่ผลกระทบที่ตามมาเสมือนเป็นคลื่น After shock ลูกใหญ่

โดยเฉพาะผลกระทบในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อมายังอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กไทย ให้ต้องรับมือกับสินค้าเหล็กล้นตลาดจากจีนที่ทะลักเข้ามา จากการผลิตในปริมาณมากเกินความต้องการใช้งานในภาคการก่อสร้างจีน และเมื่อเหล็กราคาถูกจากจีนถูกระบายเข้ามาจนเหล็กไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ผู้ผลิตเหล็กของไทยจึงต้องชะลอการผลิตเพื่อเลี่ยงภาวะขาดทุน จนอัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กไทยลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30% จากก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งอยู่ที่ราว 35-40% ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ผลิตเหล็กของไทยบางรายที่สายป่านเงินทุนหมุนเวียนสำหรับใช้ในการประกอบกิจการไม่ยืดยาวเพียงพอก็ต้องปิดกิจการไป

นอกจากนี้ การเข้ามาลงทุนเปิดโรงงานและคลังสินค้าเหล็กของผู้ผลิตและผู้ค้าเหล็กจากจีน เพื่อลดผลกระทบทางการค้าจากปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการกีดกันทางการค้า ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่ากังวลสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กของไทย ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันในการแข่งขันของผู้ผลิตเหล็กของไทย กับเหล็กของผู้ประกอบการสัญชาติจีนที่มีข้อได้เปรียบด้านการจัดหาสินค้าและวัตถุดิบจากบริษัทในเครือที่อยู่ในจีน ซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า

SCB EIC มองว่า อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยประเมินว่าการผลิตเหล็กในประเทศที่หายไปทุก ๆ 1 แสนตัน จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ลดลงประมาณ 0.2% และส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการจ้างงานภายในอุตสาหกรรมเหล็กลดลงประมาณ 1.2% แม้ปัจจุบันจะมีการใช้มาตรการป้องกันการทุ่มตลาด (Anti-dumping : AD) กับสินค้าเหล็กจากจีน แต่ก็สามารถชะลอการนำเข้าได้เพียงบางส่วน ซึ่งยังต้องอาศัยมาตรการอื่น ๆ ควบคู่กันไป เช่น การชะลอการอนุญาตตั้งโรงงานเหล็กแห่งใหม่ออกไปก่อน จนกว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตเหล็กของประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสม การใช้มาตรการลดต้นทุนเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านราคา อย่างการลดค่าไฟฟ้าสำหรับธุรกิจ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตเหล็กของไทยที่ใช้พลังงานสูงสำหรับเตาหลอม และเครื่องจักร รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ผลิตเหล็กของไทยสามารถยกระดับในกระบวนการผลิตสินค้าเหล็กให้สามารถป้อนสู่ห่วงโซ่การผลิตที่มีมูลค่าสูงได้ ตลอดจนการส่งเสริมการผลิตเหล็กที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณต่ำ หรือ Green steel เพื่อใช้ในประเทศ และขยายโอกาสในการส่งออก สอดคล้องตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลกอย่าง CBAM ที่กำลังดำเนินการใน EU รวมถึงสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มใช้มาตรการประเภทเดียวกันนี้ในระยะข้างหน้า เพื่อเป็นทางรอดให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กของไทย

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมโลหะและวัสดุ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องใน EEC สะท้อนจากการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024 ที่มีโครงการลงทุนต่างชาติจำนวน 113 โครงการ และมูลค่าการลงทุน 29,915 ล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริม โดยเพิ่มขึ้นจากในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 69% และ 34% ตามลำดับ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศที่ยังมีความเปราะบางสูง โดยอาจพิจารณาส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเงื่อนไขการเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม เช่น เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดการปล่อย CO2 ได้มากกว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมในประเทศ และสามารถก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักลงทุนชาวต่างชาติไปสู่ผู้ผลิตเหล็กของไทย ผ่านการร่วมกันวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตเหล็ก เป็นต้น