ถึงเวลาเปลี่ยนเลนส์มอง‘อินเดีย’ หนุนโลกหลายขั้วเป็นมิตร‘สหรัฐ-รัสเซีย’
“นักวิชาการ” มองอินเดียยึดประโยชน์ชาติเป็นหลัก ไม่สร้างศัตรู ไม่ตกอยู่ในเกมภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมค้าขายกับรัสเซีย ร่วมขับเคลื่อนกลุ่มบริกส์ จับมือสหรัฐดันอินโดแปซิฟิก แนะรัฐบาลไทยเปลี่ยนเลนส์มองอินเดียใหม่
KEY
POINTS
Key Points
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการณ์เศรษฐกิจอินเดียจะมีขยายใหญ่เป็นอันดับ 2 ภายในปี 2030
- นโยบายด้านการต่างประเทศของอินเดียไม่สร้างศัตรูกับใคร โดยสนับสนุนหลายขั้วทั้งสหรัฐและรัสเซีย
- รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับอินเดียมากขึ้น ผ่านเวทีความร่วมมือ BIMSTEC ที่ไทยมีส่วนร่วมจัดตั้งจาก Bangkok Declaration
- ปัจจุบันหลายชาติอาเซียนมีความสัมพันธ์กับอินเดียมากกว่าไทย เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย
“อินเดีย” ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดติด 1 ใน 5 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการณ์ว่าภายในปี 2030 ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียจะขึ้นมาอยู่อันดับ 3
ขณะที่อินเดียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและรวดเร็วที่สุดของโลกจากการบริโภคสินค้าและบริการภายในประเทศด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,400 ล้านคน โดยสถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวทำให้อินเดียเป็นที่จับตามองจากนักลงทุนทั่วโลก
รศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า การที่อินเดียเป็นที่จับตามองจากนานาประเทศเพิ่มขึ้นมาจาก 2 ปัจจัย คือ
1.เศรษฐกิจอินเดียที่ขยายตัวและมีแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยการปฏิรูปเศรษฐกิจของอินเดียยุค 90 เริ่มออกผล เป็นการปรับแนวทางบริหารเศรษฐกิจจากยุค “ชวาหระลาล เนห์รู” นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียที่บริหารเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมประยุกต์ ที่ภาครัฐเป็นเจ้าของกิจการ
ขณะที่โลกเปลี่ยนไปทำให้อินเดียปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อให้เอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เริ่มขายกิจการของรัฐให้เอกชน เช่น ขายสายการบินแอร์อินเดีย คืนให้กลับกลุ่มทาทาที่เคยเป็นเจ้าของเดิม
2.การแก้ปัญหาความยากจนได้สำเร็จ ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียลดจำนวนคนยากจนลงได้ประมาณ 200 ล้านคน จากจำนวนคนยากจนทั้งหมด 400 ล้านคน และทำให้คนจนกลุ่มนี้ขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก
ทั้งนี้ IMF ประมาณการเศรษฐกิจอินเดียจะขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของโลก ในปี 2030 และที่ผ่านมาไม่มีใครปฏิเสธถึงประมาณการดังกล่าว
นโยบายอินเดียไม่สร้างศัตรูกับใคร
สำหรับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ได้กำหนดนโยบายต่างประเทศที่เหมาะสมของตัวเอง อินเดียผิดหวังจากการเสียโอกาสพัฒนาประเทศช่วงสงครามเย็น ทำให้ปัจจุบันอินเดียจะไม่รบกับใคร แต่ขอพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากความยากจน
แนวคิดดังกล่าวทำให้อินเดียเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศได้หมดทั้ง BRICS ที่มีสมาชิกก่อตั้งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน หรือยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐ
ทั้งนี้ช่วงที่อินเดียสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซีย อินเดียมองว่าประเทศอื่นอย่ามาล้ำเส้น และอินเดียไม่ต้องการเป็นศัตรูกับใคร
รวมทั้งต่อไปจะมากำหนดระเบียบโลกแบบเดิมไม่ได้ อินเดียมีประชากรมากที่สุดในโลก 1,400 ล้านคน เป็นแหล่งอารยธรรมพันปี จึงเห็นว่าทำไมอินเดียต้องฟังใคร เป็นจุดยืนของอินเดียที่ชัดเจนมาก ที่ไม่ต้องการให้ประเทศชะลอการเติบโตและท่าทีอินเดียจึงมองได้ ดังนี้
1.ความสัมพันธ์กับสหรัฐผ่านยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก การที่อินเดียร่วมมือกับสหรัฐเพราะมองว่า การมีเพื่อนไม่ใช่เรื่องเลวร้าย รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับจีน และอินเดียมองเกมออกว่ายุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกต้องมีอินเดียอยู่ด้วย
นอกจากนี้ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย หารือกับโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ทำเนียบขาวเมื่อเดือน มิ.ย.2566 ประกาศความร่วมมือหลายด้าน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Quantum computing ความร่วมมือที่ครอบคลุมการถ่ายทอดเทคโนโลยี
รวมทั้งความร่วมมือกับสหรัฐดังกล่าวนำไปสู่ความร่วมมือทางธุรกิจของภาคเอกชนอินเดีย ที่จะเข้าไปสู่อุตสาหกรรมการผลิต เช่น อาวุธยุทโธปกรณ์ เทคโนโลยีอวกาศ
รวมทั้งหลัง โดนัล ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นผลเลือกตั้งที่เข้าทางอินเดีย เพราะทรัมป์กังวลการขาดดุลการค้าจึงมีโอกาสที่จะไม่รบกับรัสเซีย ดังนั้นจะทำให้ภาพลักษณ์มุมลบของอินเดียจากกรณีซื้อน้ำมันรัสเซียเบาบางลง
2.ความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย ช่วงที่อินเดียสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียแล้วถูกวิจารณ์ถึงการสนับสนุนรัสเซีย ทำสงครามกับยูเครน อินเดียชี้แจงว่า เป็นตรรกะเพี้ยน เพราะยุโรปยังคงซื้อก๊าซจากรัสเซีย รวมทั้งรัสเซียเข้ามาช่วยอินเดียทางการทหารในสงครามเมื่อปี 1971 แม้อินเดียกระจายการพึ่งพาการทหารหลายประเทศ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป อิสราเอล
กรณีดังกล่าว หวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ถึงกับออกมาชื่นชมอินเดียเรื่องการซื้อน้ำมันรัสเซีย โดยมองว่าเป็นวิธีคิดแบบเอเชีย ซึ่งทำให้มองอินเดียที่เป็นชาติมีอารยธรรมพันปีคงไม่ฟังชาวตะวันตกทั้งหมด
แนะรัฐบาลไทยเปลี่ยนมุมมอง“อินเดีย”
คำถามสำคัญจากนี้ คือ ไทยหรือรัฐบาลไทยควรมองอินเดียอย่างไร ไทยควรให้ความสำคัญกับอินเดียมากขึ้นเป็นพิเศษ ต้องมีแอ็กชันมากกว่าความสัมพันธ์ด้วยวาจา เพราะไทยจะพึ่งความสัมพันธ์เฉพาะสหรัฐหรือยุโรปไม่ได้ ขณะที่จีนมีทิศทางเศรษฐกิจชะลอตัว จึงต้องเริ่มมองไปที่อินเดีย
ทั้งนี้ ประเด็นที่ภาครัฐไม่กระตือรือร้นกับกรอบความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) ความร่วมมือที่ไทยมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น โดยก่อตั้งจากปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) เมื่อปี 2540 และวันที่ 30 มี.ค.2565 ไทยได้รับตำแหน่งประธาน BIMSTEC
สำหรับ BIMSTEC เป็นอีกพื้นที่สำหรับไทยในการสร้างความร่วมมือกับอินเดีย ขึ้นกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลหลังจากนี้จะมองอินเดียอย่างไร เพราะไทยมีความสัมพันธ์กับอินเดียน้อยกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ลีกวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ เป็นผู้ชวนอินเดียเข้ามามีความสัมพันธ์กับอาเซียนเมื่อปี 2535 กระทั่งพัฒนาเป็นประเทศคู่เจรจากับอาเซียนเมื่อปี 2538 และพัฒนาไปสู่ ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำสิงคโปร์ที่มองออกว่า เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวและมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก
“ถึงเวลาที่ไทยต้องเปลี่ยนเลนส์การเมืองอินเดียใหม่ทั้งที่ไทยมีความใกล้ชิดอินเดียมาก โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมจึงมีคำถามว่าทำไมไทยไม่เหยียบคันเร่งเรื่องอินเดีย”