“ครม.”เคาะแจกชาวนาไร่ละ1,000 แพครวมแผนดูแลเสถียรภาพราคา

“ครม.”เคาะแจกชาวนาไร่ละ1,000    แพครวมแผนดูแลเสถียรภาพราคา

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการช่วยเหลือชาวนา ปี 2567 ในอันตราไร่ละ1,000บาท ไม่เกินครัวเรือนละ10ไร่ และครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงตำแหน่งชีพได้ โดยกลุ่มเป้าหมาย 4.61 ล้านครัวเรือน

การช่วยเหลือชาวนา เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และ เหมาะสม โดยมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 กำหนดเป็นหลักการว่า “ในการจัดทำมาตรการ / โครงการ เพื่อสนับสนุนหรือให้ความช่วยเหลือเกษตรกร  และภาคเกษตรต่อจากนี้ไปให้ทุกหน่วยงานหลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตร โดยตรงแก่เกษตรกร

และให้พิจารณาดำเนินมาตรการ / โครงการ ในลักษณะที่เป็นการสนับสนุน การเพิ่มระดับผลิตภาพ (Productivity) ของภาคการเกษตร การพัฒนาภาคเกษตรตลอด ห่วงโซ่อุปทาน หรือ เป็นการยกระดับกระบวนการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก้สินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกร สามารถสร้างรายได้ของตนเอง ได้อย่างเพียงพอได้ในระยะยาว และดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และมีความยั่งยืนต่อไปนั้น

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์วันนั้น ไม่เหมือนกับวันนี้ ล่าสุด แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานประชุม

ครม. เมื่อ 3 ธ.ค. 2567  ว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปี2567/68 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้เกษตรกรสามารถดำรงตำแหน่งชีพได้ โดยกลุ่มเป้าหมาย 4.61 ล้านครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลจ่ายเงินสนับสนุนแก่เกษตร อัตราไร่ละ1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ10ไร่ และครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท

ด้านนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้จะใช้วงเงิน 38,578.19 ล้านบาท จึงขอประกาศให้ชาวนาทั่วประเทศรับทราบพร้อมกัน ว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส.) จะไปกำหนดการวางแผนจ่ายเงินให้กับชาวนาต่อไป 

“กรมส่งเสริมการเกษตรจะส่งรายชื่อให้ ธ.ก.ส. เพื่อโอนเงินไร่ละ 1,000 บาทให้ กำหนดแบ่งการโอนเป็นรอบต่อไป โดยจะจ่ายได้ไม่เกิน 10 วันทำการ นับจากวันนี้ ส่วนเงื่อนไขเกษตรที่จะได้รับเงินไร่ละ 1,000 บาท ต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรซึ่ง เกษตรกรสามารถเข้าไปเช็กสถานะทะเบียนเกษตรได้ผ่านออนไลน์ e-Form เว็บไซต์ https://efarmer.doae.go.th/check”

อนุกูล พฤกษานุกูล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ ครม.เห็นชอบวงเงินงบประมาณ 38,578.22 ล้านบาท ในโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 จะไปใช้แหล่งเงินทุนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก่อนใน 2 ส่วน คือ 1.ใช้เงินจากโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนฯ 29,518.02 ล้านบาท ที่ให้ยกเลิกโครงการนี้ไป และใช้เงินทุน ธ.ก.ส.สำรองจ่ายการดำเนินงานตามโครงการฯ เพิ่มเติมอีก 9,060.20 ล้านบาท และให้ ธ.ก.ส. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป

“โครงการฯ นี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และสามารถลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของศูนย์ข้าวชุมชนและขยายผลไปให้ครอบคลุม ประมาณ 4.6 ล้านครัวเรือน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ส่วนเหลือเพิ่มขึ้นทำให้มีอำนาจการใช้จ่ายภาคครัวเรือนของเกษตรกรและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในระดับเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นการเพิ่มการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้เกษตรมีเงินไว้สำหรับใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิตข้าวหรือจ่ายค่าบริหารจัดการในการผลิตข้าว เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา เป็นต้น”

รายงานข่าวแจ้งว่าก่อนหน้านี้  คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวหรือนบข. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการดังกล่าวแล้ว เพิ่มเติมจากมติครั้งก่อนหน้า ที่เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 เป้าหมายรวม 8.50 ล้านตัน วงเงินรวมทั้งสิ้น 60,085.01 ล้านบาท จำแนกเป็น วงเงินสินเชื่อ 50,481.00 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 9,604.01 ล้านบาท 

ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2567/68 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2567/68 และ 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2567/68 โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. อนุมัติ ในวันที่ 29 พ.ย.2567 ต่อไป