สสว.ดัน SME บุกตลาดจีน สวนทางเศรษฐกิจโตต่ำ ของบปี ' 69 หนุนกว่า 1 พันล้านบาท
"สสว." เล็งของบประมาณปี 2569 กว่า 1 พันล้านบาท ฟื้นชีพ SME ไทย มองดีมานด์ความต้องการอาหารของประเทศจีนสดใส แม้เศรษฐกิจโตต่ำ
KEY
POINTS
- สสว.เตรียมเสนอของบประมาณปี 2569 ราว 1,000 ล้านบาท ยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 3.2 ล้านราย ให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อไปได้
- มีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ต้องปิดโรงงานเพราะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศยังไม่ฟื้นตัว แต่ก็ยังมีเอสเอ็มอีหลายรายที่อาจปิดโรงงานไปแล้วเปิดกิจการประเภทอื่นแทน
- แม้เศรษฐกิจจีนจะยังโตไม่เต็มที่คนจีนก็ยังบริโภค อาหารไทยได้รับความนิยมมาก บางผลิตภัณฑ์ก็ต้องเรียนรู้และมีการปรับกลิ่นปรับรสให้เข้ากับประชากรในแต่ละเมือง
จากพิษเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีจุดเริ่มต้นจากปัญหาโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศต่างชะลอตัวลง และค่อยๆ ฟื้นตัวมาช่วงปี 2567 นี้เท่านั้น แต่ก็ยังไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเท่ากับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ ส่งผลให้บรรดาผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่จะต้องยุติกิจการลงชั่วคราว ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กที่เรียกว่าเอสเอ็มอีไทยกว่า 3.2 ล้านรายที่ต้องปิดตัวลง ยังรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้กำกับของรัฐบาล
นางสาวปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพื่อเตรียมเสนอของบประมาณปี 2569 ราว 1,000 ล้านบาท เพื่อนำมายกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยทั่วประเทศกว่า 3.2 ล้านราย ให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันต่อไปได้
สำหรับงบประมาณปี 2568 สสว. ได้รับราว 500 ล้านบาท และรวมกับงบกองทุนของ สสว. อีกราว 200 ล้านบาท เป็น 700 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่นำมาช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น โครงการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์สีเขียวตอบรับกับเทรนด์ผู้บริโภค
ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้ มีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ต้องปิดโรงงานเพราะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังไม่ฟื้นตัว แต่ก็ยังมีเอสเอ็มอีหลายรายที่อาจจะปิดโรงงานไปแล้วเปิดกิจการประเภทอื่นรับตัวกับเทรนด์โลก
"ยอมรับว่าช่วงปีที่ผ่านมาก็มีโรงงานหลายรายต้องปิดตัวลง รวมถึงที่เปิดใหม่อีกมาก ซึ่งจำนวนเอสเอ็มอีทั้ง 3.2 ล้านราย หนึ่งในนั้นก็มีทั้งปิดและเปิดใหม่สลับกันใหม่ ที่เปิดใหม่ก็ด้วยความเข้าใจในเทรนด์ของการดำเนินธุรกิจ"
อย่างไรก็ตาม ปีหน้าจะเน้นการสนับสนุนด้านนวัตกรรม และเติมความรู้ให้กับผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าเทรนด์โลกเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการที่สหภาพยุโรป หรือ อียู ประกาศมาตรการ CBAM ที่จะเข้มงวด รวมถึงมาตรการภาษีคาร์บอนต่าง ๆ ที่เริ่มบังคับใช้ในหลายประเทศแล้ว ซึ่งสินค้าในประเทศไทยมีหลายอย่างที่ยังเป็นที่นิยมอีกมาก ผู้ประกอบการจึงต้องตั้งรับให้ทันเทรนด์โลก
นอกจากนี้ อีกปรเทศที่สสว.มองว่าเป็นประเทศที่มีดีมานด์ความต้องการบริโภคสูงคือ ประเทศจีน ที่ผู้ประกอบการไทยยังสามารถเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้คือ โดยเฉพาะผลไม้อย่างมะพร้าว มะม่วง และทุเรียน เป็นต้น อย่างเช่นน้ำมะพร้าวสามารถทำยอดขายได้วันละ 30 ล้านแก้วใน 1 วัน ในขณะที่ไต้หวันก็ถือเป็นอีกที่ที่เอสเอ็มอีไทยจะโตได้ รวมถึงตลาดเอเชีย
"ยอมรับว่าแม้เศรษฐกิจจีนจะยังไม่เติบโตเต็มที่คนจีนก็ยังนิยมบริโภคไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ตาม อาหารไทยได้รับความนิยมมาก บางผลิตภัณฑ์ก็ต้องเรียนรู้และมีการปรับกลิ่นปรับรสให้เข้ากับประชากรในแต่ละเมืองของประเทศจีนด้วย"
ล่าสุด สสว. ได้จัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในพื้นที่EEC (Eastern Economic Corridor) และพื้นที่ต่อเนื่อง ปีงบประมาณ 2567 ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี เป็นการส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถ เพื่อยกระดับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดการลงทุนหรือสามารถก่อตั้งธุรกิจได้
พร้อมช่วยเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่ยกระดับนวัตกรรมในธุรกิจได้ และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ โดยมีการจัดกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่ ที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่เดือนก.ย.-ธ.ค. 2567
โดยมุ่งเน้นผู้เข้าร่วมโครงการกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนแล้วไม่เกิน 3 ปี มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ข้างต้น ที่มีการดำเนินกิจการ ได้แก่
1.อุตสาหกรรมที่ต่อยอดอัตลักษณ์เชิงพื้นที่สร้าง Value creation
2. อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยี/แปรรูปอาหาร
3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมทั้งสิ้น 150 ราย
ประกอบด้วย ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 27 ราย ชลบุรี 48 ราย ระยอง 42 ราย และจันทบุรี 33 ราย โดยภายหลังจากรับการพัฒนา คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้/การลดต้นทุน/การขยายการลงทุน/การจ้างงาน/มูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ ฯลฯ มากกว่า 28 ล้านบาท
นอกจากจะได้รับการยกศักยภาพทางธุรกิจแล้ว โครงการฯ ยังได้ดำเนินการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและพร้อมต่อยอดการลงทุนในธุรกิจจำนวน 31 ราย ซึ่งมีแผนการลงทุนกว่า 64 ล้านบาท รวม 126 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่างได้รับประโยชน์หลายมิติ ทั้งความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการใหม่ เพื่อเปิดประตูสู่ธุรกิจและนวัตกรรม ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเชิงลึกเพิ่มคุณค่าผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในประเทศ มีโอกาสนำสินค้าเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน จากสถาบันการเงินของภาครัฐ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ
สำหรับกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการตลอดโครงการ แบ่งเป็น
1. ฝึกอบรมหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ Entrepreneurship เปิดประตูสู่ความ เป็นผู้ประกอบการและนวัตกรรม
2. พัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจเชิงลึกโดยรับการพัฒนารายละ 6 ครั้ง
3. ส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดในประเทศและต่างประเทศ สนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดต่างประเทศ 24 ราย และในประเทศ 20 ราย
4. เชื่อมโยงแหล่งเงินทุน SME D Bank และสถาบันการเงินอื่นๆ 31 ราย