‘คลัง’ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐหลัง 4 ปีภาระหนี้ต่องบประมาณเพิ่ม 88%

‘คลัง’ เร่งปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐหลัง  4 ปีภาระหนี้ต่องบประมาณเพิ่ม 88%

“คลัง” เร่งปรับโครงสร้างหนี้หลังใช้งบขาดดุลเพิ่มในช่วง 4 ปีจากโควิด-19 พบภาระหนี้ต่องบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 88% สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้พุ่งเกิน 35% แนะทบทวนการยกเลิกมาตรการลด – ยกเว้นภาษี ปฏิรูปโครงสร้างและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ

KEY

POINTS

  • “คลัง” เร่งปรับโครงสร้างหนี้หลังงบขาดดุลฯเพิ่มในช่วง 4 ปีจากโควิด-19 พบภาระหนี้ต่องบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 88%
  • สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้พุ่งเกิน 35%
  • หนี้สาธารณะแตะ 11.6 ล้านล้าน เป็นหนี้ที่เป็นภาระงบประมาณโดยตรง 84%
  • คลังแนะการทบทวนการยกเลิกมาตรการลด – ยกเว้นภาษี ปฏิรูปโครงสร้างและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลรายงานว่าเมื่อเร็วๆนี้  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานสัดส่วน หนี้สาธารณะ ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 (สิ้นสุดงบประมาณปี 2567)  ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

โดยประเทศไทยมีหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2567 คงค้าง 11.63 ล้านล้านบาท คิดเป็น 63.32% ของจีดีพี โดยหนี้ส่วนใหญ่ประมาณ 99% เป็นหนี้ในประเทศและ 84.8% เป็นหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณ ซึ่งรัฐบาลต้องชำระคืนเมือถึงกำหนด โดยแนวโน้มหนี้สาธารณะไทยยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและจะขึ้นไปแตะระดับ 15 ล้านล้านบาทหรือ 88.6% ของจีดีพีในปี 2572

หนี้รัฐบาลต่อประมาณการรายได้เกิน 35% 

ทั้งนี้สัดส่วนต่างๆยังคงอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการฯ กําหนด ยกเว้นสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ ประจําปีงบประมาณที่เกินกว่ากรอบเล็กน้อย โดยกรอบที่คณะกรรมการฯ กำหนดไม่เกิน 35% แต่สัดส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจริงอยู่ที่ 35.14%

ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้รายงานเหตุผลที่สัดส่วน ภาระหนี้รัฐบาล ต่อประมาณการรายได้ประจําปีงบประมาณเกินกว่ากรอบ : ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรัฐบาลยังคงต้องดําเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล และต้องปรับโครงสร้างหนี้ ของการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (การแพร่ระบาดฯ) อย่างต่อเนื่อง

หนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณเพิ่ม 88% 

โดยหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณเพิ่มขึ้น 88% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ ซึ่งในการดําเนินการดังกล่าวจําเป็นต้องใช้เครื่องมือระยะสั้น (ตั๋วเงินคลัง ตั๋วสัญญาใช้เงิน และสัญญากู้เงินระยะสั้น) ในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาพคล่อง และความต้องการของนักลงทุนในช่วงที่ระดมทุน ซึ่งเน้นลงทุนในสินทรัพย์ระยะสั้นที่มีความเสี่ยงต่ำ

ส่งผลให้มีการใช้เครื่องมือระดมทุนระยะสั้นเพิ่มขึ้น114% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดฯ เป็นผลให้หนี้กระจุกตัวและทยอยครบกําหนดเป็นจํานวนมากตามสัดส่วนเครื่องมือระดมทุนระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดฯ เป็นต้นมา

ชี้ขาดดุลงบประมาณเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจ

การกู้เงินของรัฐบาลในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรัฐบาลยังคงต้องดําเนินนโยบาย การคลังแบบขาดดุล และต้องปรับโครงสร้างหนี้ของการกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและ สังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะทําให้มีหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น และมีการใช้เครื่องมือระดมทุนระยะสั้นเพิ่มขึ้นตามสภาพคล่องและความต้องการของนักลงทุนในช่วงที่ระดมทุน แต่เป็นความจําเป็น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ฟื้นตัวตามนโยบายของรัฐบาล

ซึ่งการกู้เงินดังกล่าวจะถูกนําไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วางรากฐานการพัฒนา สร้างรายได้และเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายไป ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเป็นการลงทุนด้านคมนาคม สาธารณูปการ และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นสําคัญ เพื่อกระจายความเจริญ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมขยายโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและเศรษฐกิจของประเทศขยายตัว

อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการขยายตัวทาง เศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทําให้สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น รวมถึงการที่มีหนี้กระจุกตัวและทยอยครบกําหนดเป็นจํานวนมากตามสัดส่วนเครื่องมือระดมทุนระยะสั้นที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วง การแพร่ระบาดฯ เป็นต้นมา ส่งผลให้สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศในระยะต่อไปได้

กระทรวงการคลังเร่งปรับโครงสร้างหนี้ 

ทั้งนี้วิธีการในการทําให้สัดส่วนดังกล่าวอยู่ภายในสัดส่วนที่กําหนด กระทรวงการคลังมีแผน การปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง โดยการทําธุรกรรมการแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) เพื่อยืด อายุหนี้ที่จะครบกําหนด รวมทั้งธุรกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ล่วงหน้า (Prefunding) และการชําระหนี้ก่อน ครบกําหนด (Prepayment) เพื่อลดภาระที่จะต้องกู้เงินในปริมาณมากในคราวเดียว โดยคํานึงถึงต้นทุนและ ความเสี่ยง รวมทั้งสภาพคล่องของตลาดในแต่ละช่วงเวลา

โดยระยะเวลาในการทําให้สัดส่วนดังกล่าวอยู่ภายในสัดส่วนที่กําหนด ขึ้นอยู่กับปัจจัยสําคัญต่าง ๆ ที่มีผลต่อสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจําปีงบประมาณ ได้แก่

1.สภาวะตลาดการเงินและสภาพคล่องในประเทศที่เอื้ออํานวยต่อการปรับโครงสร้างหนี้  ทั้งในเชิงต้นทุนและความเสี่ยง

2.ภาระหนี้รัฐบาล และหนี้รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐที่รัฐบาลรับภาระ (Redemption profile) ซึ่งเป็นผลมาจากการกู้เงินและการปรับโครงสร้างหนี้ในอดีต

3.การก่อหนี้ใหม่ในแต่ละปี โดยการกู้เงินเพื่อการชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามแผนการคลังระยะปานกลางซึ่งปัจจัยความสําเร็จขึ้นกับความคืบหน้าในการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง อันเป็นผลจากการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังซึ่งต้องดำเนินการดังนี้ ได้แก่

  • การทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จําเป็นรวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้
  • การพิจารณาจัดลําดับความสําคัญและความจําเป็นของการใช้จ่ายภาครัฐจากทุกแหล่งเงิน ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
  • การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐตามแผนความต้องการกู้เงิน ระยะปานกลาง ซึ่งปัจจัยความสําเร็จขึ้นกับการพิจารณาจัดลําดับความสําคัญและความจําเป็นของโครงการของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐและความคืบหน้าในการดําเนินโครงการดังกล่าว
  • การก่อหนี้ใหม่ดังกล่าวข้างต้น ควรมุ่งเน้นการสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัว อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ควบคู่กับการคํานึงถึงระดับความเสี่ยงด้านการปรับโครงสร้างหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันด้วย นอกจากนี้จำเป็นต้องได้การได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อชําระหนี้ที่เหมาะสมด้วย

 

“กระทรวงการคลังได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการหนี้สาธารณะตามกรอบการบริหารจัดการหนี้สาธารณะเพื่อสนับสนุนการลงทุนและการดําเนินมาตรการทางการคลัง รวมทั้งการชําระหนี้อย่างเคร่งครัด โดยคํานึงถึงต้นทุนและความเสี่ยงภายใต้เงื่อนไขความจําเป็นและข้อจํากัดตามปัจจัยสําคัญต่างๆด้วย”