'พิชัย' ชงกรอบเงินเฟ้อ 68 เข้า ครม. หวังเห็นเงินเฟ้อไทยแตะระดับ 2%

'พิชัย' ชงกรอบเงินเฟ้อ 68 เข้า ครม. หวังเห็นเงินเฟ้อไทยแตะระดับ 2%

"พิชัย" เตรียมเสนอกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายปี 68 เข้า ครม.สัปดาห์หน้า ย้ำอยากเห็นเงินเฟ้อโต 2% ชี้ค่าเงินบาทอ่อน หนุนเศรษฐกิจ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 ธ.ค.นี้ กำหนดเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน (กรอบเงินเฟ้อ) ปี 2568 โดยยังคงเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อขยายตัวอยู่ในกรอบ 1-3% 

โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการหารือและเข้าใจตรงกันในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินปี 2568 เพื่อสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ โดยอยากให้เงินเฟ้อขยายตัวได้ถึง 2%
 

“แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า ทำให้นโยบายการเงินจะเข้ามีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในการสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจ” นายพิชัยกล่าว

เมื่อถามถึงเรื่องสถานการณ์ค่าเงินบาท นายพิชัย กล่าวว่า อยากเห็นค่าเงินบาทอ่อนลงกว่าปัจจุบัน ซึ่งนักวิเคราะห์หลายรายมองว่าค่าเงินบาทของไทยในขณะนี้ สามารถอ่อนค่าลงได้มากกว่านี้
 

"การที่เราจะดูว่าค่าเงินของเราสามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นๆหรือไม่นั้น เราจำเป็นต้องว่า ไทยส่งสินค้าไปขายในตลาดใดของโลกบ้าง และคู่แข่งขันของเราในตลาดนั้นๆ มีการใช้มาตรการอะไรบ้างในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของตนเองบ้าง ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนนั้นเราต้องดูในระยะยาวและดูวิวัฒนาการของมันด้วย"

เมื่อถามว่าหากคนที่กำกับนโยบายการเงินไม่สามารถที่จะให้เงินเฟ้อตามเป้าหมายได้จะมีการลงโทษหรือไม่ นายพิชัยบอกว่า ก็ลองไปดูกฎหมายว่าไม่ได้ให้สามารถทำอะไรได้

นอกจากการพูดคุยกันให้เข้าใจว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ทั้งนี้หากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัว อัตราดอกเบี้ยจะไม่ผูกกับนโยบายมากนัก ที่จริงเป็นเรื่องของรายย่อยมากกว่า เพราะอัตราแบบนี้รายใหญ่เขาพอใจแล้ว แต่รายย่อยที่มีเครดิตที่ดีก็ต้องพิจารณาด้วยเงื่อนไขพิเศษ

ซึ่งตนเชื่อว่าคงมีมาตรการหลายๆ อย่างออกมา เหมือนกับการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีคนมาดำเนินการมากก็ต้องดูว่าจะมีการดำเนินการในระยะต่อไปอย่างไร 

สำหรับการใช้นโนบายการเงินเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็ถือว่ามีความจำเป็นมากขึ้นเพราะในเรื่องของพื้นที่การคลัง (Fiscal Space) ของเรามีข้อจำกัดเป็นอย่างมาก การที่จะเพิ่มพื้นที่การคลังอาจทำได้โดยการลดค่าใช้จ่ายประจำหรือลดงบประมาณที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือปรับปรุงโครงสร้าง ส่วนรายได้ประจำนั้นก็ต้องมาดูว่าจะลดอะไรที่ไม่จำเป็นลงได้บ้าง 

“เมื่อเศรษฐกิจเราขยายตัวขึ้นถึง 3.5% ในปีหน้า และเงินเฟ้ออยู่ในระดับประมาณ 2% ก็จะทำให้ Nominal จีดีพี ของเราอยู่ในระดับที่ใช้ได้ ทำให้พื้นที่การคลังเราเพิ่มขึ้น ทั้งนี้นโยบายการเงินนั้นคงต้องมีการจับตามองสถานการณ์ในและต่างประเทศด้วยว่ามีปัจจัยอะไรที่จะมากระทบหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งเงินของภาคธุรกิจ เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น” 

สำหรับเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศ นายพิชัยบอกว่าในเรื่องที่มีกระแสว่าจะมีการเอาทุนสำรองออกมาใช้นั้นคงเป็นการเข้าใจผิด โดยทุนสำรองแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยในส่วนแรกเป็นทุนสำรองที่มีการเข้ามาในประเทศ อีกส่วนหนึ่งคือเกิดจากสภาพคล่องของเราเองที่มีอยู่จำนวนมาก มีการเอาไปเก็บไว้ซึ่งอยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีสภาพคล่องที่อยู่ค่อนข้างที่จะสูง