ค่าเงินบาทวันนี้ 13 ธ.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตามดอลลาร์แข็งค่า คาดเฟดชะลอลดดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทวันนี้ 13 ธ.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตามดอลลาร์แข็งค่า คาดเฟดชะลอลดดอกเบี้ย

ค่าเงินบาทวันนี้ 13 ธ.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า” ที่ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังตลาดประเมินเฟดชะลอลดดอกเบี้ยในปี 2568 และยูโร อ่อนค่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.90 - 34.10 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ  33.81 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.90 - 34.10 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) ได้เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ (กรอบการเคลื่อนไหว 33.79 - 34.00 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งได้แรงหนุนจากทั้งการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ หลังผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสชะลอการลดดอกเบี้ยในปี 2025 เหลือราว 2 ครั้ง ตามรายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนพฤศจิกายน ที่ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ อยู่ 

นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ กอปรกับรายงานข่าวว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจพิจารณาคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม นี้ ได้กดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุระดับ 152.50 เยนต่อดอลลาร์ 

ค่าเงินบาทวันนี้ 13 ธ.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตามดอลลาร์แข็งค่า คาดเฟดชะลอลดดอกเบี้ย

ขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็ได้แรงหนุนบ้าง จากการอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินยูโร (EUR) หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) เดินหน้าลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 3.00% ตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปี 2025 ตามภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลง

ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มชะลอลงเข้าสู่เป้าหมายของ ECB และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติม จากการปรับตัวลงหนักของ ราคาทองคำ(XAUUSD) ราว -40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังทั้งเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ต่างปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ การอ่อนค่าลงของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้างแถวโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา (ซึ่งเรายอมรับว่า สวนทางกับสิ่งที่เราประเมินไว้) อาจเริ่มชะลอลงบ้างแถวโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดอาจทยอยขายเงินดอลลาร์ในโซนดังกล่าว นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง หากราคาทองคำ (XAUUSD) สามารถรีบาวด์ขึ้นจากโซนแนวรับ 2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนเงินดอลลาร์อาจเผชิญแรงขายทำกำไรจากผู้เล่นในตลาดได้บ้าง หลังดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 107 จุด และเข้าใกล้จุดสูงสุดของปีนี้ อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดต่างก็คาดหวังแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ยในปีหน้าไปพอสมควรแล้ว ทำให้อาจมีความเสี่ยงที่ในสัปดาห์หน้า คาดการณ์แนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Dot Plot) ใหม่ อาจสะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจต้องปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด (Repricing Fed’s rate cuts) ซึ่งอาจกดดันทั้งเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์สหรัฐได้

อย่างไรก็ดี ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่ายังคงมีอยู่ ทั้งแรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับมาเพิ่มมากขึ้นในช่วงนี้ อีกทั้งเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงพอสมควร ตามการปรับลดความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในเดือนธันวาคม ซึ่งหากเงินบาทอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ก็อาจอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ แต่หากเงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านดังกล่าว เราจะยังคงประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสกลับมาทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัว Sideways จากกลยุทธ์ Trend-Following 

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือ เช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

ตลาดหุ้นสหรัฐ ถูกกดดันโดยแรงขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Alphabet -1.6%, Nvidia -1.4% ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นจากการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า แม้เฟดจะเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ในการประชุม FOMC เดือนธันวาคม นี้ แต่ในปีหน้า เฟดก็อาจลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ลดลง -0.66% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.54% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.14% กดดันโดยแรงขายหุ้น Inditex -2.8% หลังบริษัทรายงานผลประกอบการที่น่าผิดหวังในวันก่อนหน้า รวมถึงแรงขายหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ อาทิ Rio Tinto -1.6% ตามการปรับตัวลงของราคาแร่โลหะในช่วงนี้ ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้าง จากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ SAP +1.2%, Hermes +1.2% หลัง ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลดดอกเบี้ยตามคาด พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐทยอยปรับตัวสูงขึ้น สู่ระดับ 4.32% หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ที่ออกมาสูงกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า เฟดมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ในปีหน้า อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างคงกังวลต่อแนวโน้มการขาดดุลงบประมาณ (Budget Deficit) อย่างไรก็ดี เราขอเน้นย้ำว่า การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐในช่วงนี้ ก็ถือว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่เข้าทางกลยุทธ์ Buy on Dip บอนด์ระยะยาวของเรา เนื่องจากเราคงประเมินว่า Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) ของบอนด์ระยะยาวนั้นยังมีความน่าสนใจอยู่ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐที่ได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้ง ในปีหน้า นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐกับญี่ปุ่นที่กว้างขึ้น รวมถึงการอ่อนค่าลงเล็กน้อยของเงินยูโร (EUR) ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 107 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.5-107.0 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ รวมถึงแรงขายทำกำไรทองคำของผู้เล่นในตลาด ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนก.พ.2025) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่โซน 2,700-2,710 ดอลลาร์ อีกครั้ง 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (BOJ Tankan Survey) ที่จัดทำโดย BOJ 

และในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอังกฤษ และยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) 

นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามความชัดเจนของเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากทางการจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาดการเงินจีน โดยเฉพาะในส่วนของค่าเงินหยวนจีน (CNY) ได้ 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์