เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาสะดุด 'พลังงาน' ถอดออกจาก 'แผนพลังงานชาติ'
เจรจาความร่วมมือพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล "ไทย-กัมพูชา" สะดุด "กระทรวงพลังงาน" เล็งถอดออกจาก "แผนพลังงานชาติ"
KEY
POINTS
- การกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเตรียมเปิดสำรวจแหล่งอันดามัน (รอบ26) เพื่อเพิ่มทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดการนำเข้า LNG สร้างความมั่นคงให้ประเทศ
- คาดว่าไตรมาส 1 ปี 2568 จะเปิดประมูลแหล่งอันดามัน โดย "เชฟรอน-โททาล-ปตท.สผ" สนใจที่จะร่วมยื่นประมูลเพื่อสำรวจอีกครั้ง
- ที่ผ่านมามีการพบปริมาณก๊าซธรรมชาติอยู่บริเวณแหล่งอันดามัน คาดหากได้ผู้ชนะการประมูลจะสามารถขุดพบทรัพยากรใต้ท้องทะเลได้ภายในเวลา 5 ปี
การเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกันระหว่างไทยและกัมพูชาและ MOU 44 หรือ MOU 2544 ดูเหมือนจะยังไร้วี่แววบทสรุปในเร็ววันนี้ อีกทั้งรัฐบาลไทยยังไม่มีการตั้งคณะทำงานร่วมเจรจาแต่อย่างใด "กระทรวงพลังงาน" ผู้รับผิดชอบจัดทำปรับปรุงร่าง "แผนพลังงานชาติ" จึงจำเป็นต้องถอดสัดส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติที่คาดว่าจะได้นำมาใช้ออกจากแผนไปก่อน
อย่างไรก็ตาม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงอยู่ระหว่างเตรียมเปิดสำรวจแหล่งอันดามัน (รอบที่26) เพื่อเพิ่มทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์และลดการนำเข้าให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทย มีแหล่งปิโตรเลียมที่เป็นน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งแหล่งในทะเลอ่าวไทย และแหล่งบนบก สำหรับแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลที่ทุกท่านน่าจะเคยได้ยินชื่อกันมาบ้าง ได้แก่ แหล่งเอราวัณ แหล่งบงกช แหล่งอาทิตย์ เป็นต้น และแหล่งน้ำมันดิบในทะเล เช่น แหล่งเบญจมาศ แหล่งบัวหลวง เป็นต้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2024) ว่า ร่างที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนมากสุดคือ ร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) ที่อยู่ระหว่างการทบทวนอย่างหนัก ซึ่งขณะนี้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ตั้งคณะกรรมการเข้าตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อจัดทำร่างแผนให้มีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น
สำหรับแผนพลังงานชาติ จะต้องผนวก 5 แผนย่อยประกอบด้วย 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5.แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)
ทั้งนี้ เดิมคาดว่าจะได้ปริมาณก๊าซธรรมชาติขึ้นมาเพื่อลดการนำเข้า LNG หากสามารถเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area –OCA) ได้สำเร็จ ซึ่งขณะนี้อาจจะต้องใช้เวลา ดังนั้น ในแผนPDP ก็อาจจะไม่รอและปรับให้เป็นแผนสำรองไปก่อน และถอด OCA ออกไป เพราะพื้นที่ดังกล่า;จะช่วยเพิ่มปริมาณก๊าซฯ เพิ่มมากขึ้นได้ ซึ่งหากสามาสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ จะสามารถลดการนำเข้า LNG ได้
ทั้งนี้ เมื่อต้องถอด OCA ออกจากแผนตอนนี้นายพีระพันธุ์ จึงมุ่งมั่นที่เปิดให้ยื่นขอสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ (รอบ 26) ในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งขณะนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการปิโตรเลียมเรียบร้อยแล้ว คาดว่าไตรมาส 1 ปี 2568 เปิดประมูลได้ โดยมีหลายบริษัทที่ให้ความสนใจเข้าร่วม เช่น เชฟรอน โททาล และ ปตท.สผ ซึ่งที่ผ่านมาเคยให้สัมปทานในบริเวณนี้แล้ว และมีการพบปิโตรเลียม
"ที่ผ่านมามีการพบปริมาณก๊าซธรรมชาติอยู่บริเวณแหล่งอันดามัน แต่ด้วยเทคโนโลยีตอนนั้นไม่คุ้มค่ากับการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่พัฒนาสำหรับแหล่งปิโตรเลียมน้ำลึกแล้ว ก็คาดว่าแหล่งในบริเวณนี้จะมีศักยภาพด้านก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากอยู่ใกล้กับแหล่งยาดานา และแหล่งเยตากุน ของเมียนมา คาดว่าหากได้ผู้ชนะการประมูลจะสามารถขุดพบทรัพยากรใต้ท้องทะเลได้ภายในเวลา 5 ปี เพราะด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่" แหล่งข่าว กล่าว