นโยบาย ‘ทรัมป์ 2.0’ กับโอกาสเศรษฐกิจ ประเทศไทยตั้งรับอย่างไรให้ได้ประโยชน์
"นักวิชาการ" ชี้นโยบายทรัมป์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย แม้มีนโยบายกีดกันการค้าจีนมากขึ้น แต่มีนโยบายที่ต้องการระงับสงครามรัสเซีย - ยูเครน หนุนสันติภาพในตะวันออกกลาง ทำให้ราคาพลังงานโลกลดลง เป็นบวกต่อเงินเฟ้อและดอกเบี้ย แนะไทยเร่งเดินหน้า FTA
KEY
POINTS
- "นักวิชาการ" ชี้นโยบายทรัมป์ 2.0ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย
- แม้มีนโยบายกีดกันการค้าจีนมากขึ้น แต่มีนโยบายที่ต้องการระงับสงครามรัสเซีย - ยูเครน หนุนสันติภาพในตะวันออกกลาง
- ทำให้บรรยากาศการค้าโลกดีขึ้น เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นราคาพลังงานโลกลดลง เป็นบวกต่อเงินเฟ้อและดอกเบี้ย
- แนะไทยเร่งเดินหน้า FTA สร้างความร่วมมือทางการค้า
เมื่อเร็วๆนี้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม (ITIF) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรในสหรัฐฯ ได้เผยดัชนีใหม่ในชื่อ Trump Risk Index ซึ่งจัดอันดับประเทศพันธมิตรสหรัฐฯ 39 ประเทศตามระดับความเสี่ยงที่ประเทศเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ดัชนีดังกล่าวพบว่า เม็กซิโกเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด (-4.12 คะแนน) ส่วนไทยก็ตามมาติด ๆ ในอันดับสอง (-3.98 คะแนน) และเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่ติด 10 อันดับแรก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า “นโนบายทรัมป์ 2.0” นั้นจะส่งผลกระทบในแง่บวกหรือแง่ลบกับเศรษฐกิจไทยมากแค่ไหน
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวถึงผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ว่าถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2568 โดยเศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและส่งออกคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 72%
ดังนั้นนโยบายของทรัมป์นั้นจะกระทบกับเศรษฐกิจโลกและส่งผลมายังภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนทางตรง (FDI) ของเราด้วย ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจมาก ทำให้ปี 2568 เราต้องดูเรื่องของปัจจัยภายนอกเป็นหลัก
ทั้งนี้ในวันที่ 20 ม.ค.2567 นายโดนัล ทรัมป์ จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯอีกสมัย ซึ่งหลังจากรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ นโยบายต่างๆที่ออกมาจะมีผลบวกและลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย
ทรัมป์จ่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน
โดยผลดีก็คือทรัมป์มีนโยบายที่ประกาศไว้ว่าจะทำให้สงครามยุติลง โดยเฉพาะสงครามรัสเซียและยูเครน โดยทรัมป์ขู่ที่จะถอนตัวออกจาก องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) และให้นาโต้ชดเชยเงิน ตามที่สหรัฐฯได้เคยสนับสนุนนาโต้ไปก่อนหน้านี้ คิดเป็นเงินประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์คืนให้กับสหรัฐฯหากนาโต้ไม่ยุติสงคราม
“งานนี้หากสหรัฐฯไม่สนับสนุนนาโต้ การที่นาโต้จะสนับสนุนให้ยูเครนทำสงครามต่อเนื่องกับรัสเซียก็ยากขึ้น ดังนั้นก็มีโอกาสที่สงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซียจะยุติลง ซึ่งจะมีผลดีที่ทำให้ปัญหาสงครามเบาลง โอกาสที่สงครามจะดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นก็ไม่มาก”
ส่วนในพื้นที่ตะวันออกกลางทรัมป์ก็มีนโยบายที่เน้นการเจรจาเพื่อสันติภาพมากขึ้น โดยการเข้าไปช่วยลดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน รวมทั้งปาเลสไตน์ ดูแล้วบรรยากาศความตรึงเครียดน่าจะเบาบางลง ดังนั้นความกังวลว่าสงครามในตะวันออกกลางจะบานปลาย ไปสู่การปิดเส้นทางการขนส่งน้ำมันบริเวณช่องแคบฮอร์มุช ทำให้เกิดผลต่อการขนส่งเอเชียไปยุโรป และการขนส่งน้ำมันออกจากตะวันออกกลางนั้นไม่เกิดขึ้น
“ความตรึงเครียดที่ลดลงในพื้นที่ตะวันออกกลาง และความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ด้านอื่นๆ ถือว่าเป็นผลดีเพราะราคาน้ำมันไม่เพิ่ม เงินเฟ้อก็ไม่เพิ่ม เงินฟ้อไม่เพิ่ม ดอกเบี้ยก็จะไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกปัจจัยหนึ่งที่เกิดกับเศรษฐกิจปีหน้า นอกจากนั้นในส่วนนี้ธนาคารกลางในหลายประเทศก็มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งก็จะเป็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน”รศ.ดร.มนตรี กล่าว
สกัดกั้นการขยายตัวเศรษฐกิจจีน
อีกนโยบายหนึ่งของทรัมป์คือนโยบายอเมริกาต้องมาก่อน (American First) นโยบายนี้ ทำให้มีการพุ่งเป้าไปที่การกีดกันทางการค้าจีน เพราะว่าจีนนั้นเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก ซึ่งสหรัฐฯนั้นจะยอมให้จีนแซงขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งไม่ได้ จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อสกัดกั้นจีน เพราะทุกวันนี้สหรัฐฯเป็นประเทศผู้นำเข้าอันดับ 1 ของโลก มีกำลังซื้อมากถึง 330 ล้านคน ขณะที่จีนนั้นค่าแรงถูกก็เป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ของโลก ในรูปของมูลค่า และจีนก็เป็นผู้นำเข้าเบอร์ 2 ของโลก ซึ่งสหรัฐฯไม่ยอมให้จีนขึ้นมาเป็นผู้นำทั้งในเรื่องของการส่งออก และนำเข้าเพราะจะทำให้มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากขึ้น สหรัฐฯจะสูญเสียความเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก
ดังนั้นนโยบายที่ออกมาต้องสกัดกั้นจีน เพื่อให้สหรัฐฯคงความได้เปรียบจีนไว้ ดังนั้นจึงมีการตั้งภาษีนำเข้า โดยการตั้งเป้าว่าจะเก็บภาษีจากสินค้าจีนกว่า 60% ส่วนถ้าเป็นรถไฟฟ้า (EV) จากจีนโดน 200% ซึ่งเป็นการประกาศเพื่อปกป้องสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯโดยใช้กำแพงภาษีที่สูง
โดยที่ผ่านมาสมัยทรัมป์ 1.0 มีผู้ประกอบการใช้ประเทศใกล้สหรัฐฯเป็นฐานการผลิต EV ในแคนาดา เม็กซิโก แล้วส่งไปขายในสหรัฐฯโดยใช้ข้อตกลงการค้าอเมริกาเหนือทำให้ได้รับการยกเว้นภาษี ในครั้งนี้ทรัมป์จึงประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากแคนาดา และเม็กซิโก 25% ซึ่งเท่ากับว่าสกัดกั้นจีนทุกวิถีทาง
ไทยรับประโยชน์ย้ายฐานการผลิต
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.มนตรีมองว่าจากเงื่อนไขแบบนี้ทำให้ไทยจะได้ประโยชน์ในการย้ายฐานการผลิต เนื่องจากประเทศไทยนั้นตามนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศนั้นจะมีการขึ้นภาษี 10% ซึ่งยังน้อยกว่าในหลายประเทศที่ทรัมป์ตั้งเป้าหมายกีดกันทางการค้า ไทยอาจได้รับอานิสงค์ในการย้ายฐานการผลิตมาอยู่ในประเทศไทยเพื่อหลีกเลี่ยงอัตราภาษีที่สูงมาก และใช้ตลาดและช่องทางจากไทยที่ส่งไปยังสหรัฐฯ ซึ่งก็มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงวิธีการวางแผนธุรกิจที่อาจเป็นแบรนด์ไทยที่จะส่งไปขายในสหรัฐฯซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ผลกระทบที่อาจตามมาก็คือสินค้าจากจีนที่ส่งไปขายยังสหรัฐฯไม่ได้ ก็จะเข้ามาตีตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าราคาถูก และไม่ได้คุณภาพที่เข้ามาขายด้วยราคาที่ถูกมาก ทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีไทยได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องสกัดกั้นและเตรียมรับมือ โดยจีนอาจจะใช้ประโยชน์จากไทยเนื่องจากมีข้อตกลงทางด้านการค้าระหว่างกันอยู่ เช่น FTA ที่เราทำกับต่างประเทศ
แนะเร่ง FTA ได้ประโยชน์การค้า
ในการส่งสินค้าจากไทยไปขายยังประเทศอื่นๆ เพราะไทยเราก็มีการเดินหน้าทำ FTA กับประเทศอื่นๆอย่างต่อเนื่อง เช่น การเจรจากับกลุ่มยุโรปกลาง และการเดินหน้าทำ FTA กับ EU ต่อไป โดยที่ควรต้องเร่งต่อไปในส่วนของ FTA ไทยอินเดีย และ FTA ไทย กับสหราชอาณาจักร รวมทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน ทักษะ และฝีมือแรงงาน เรื่องค่าแรง รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนด้วย รวมทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ต้องมีการพยายามให้มีการใช้จ่ายในประเทศไทยมากขึ้น จากที่ปัจจุบันใช้จ่ายลดลง 10% ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาทำงานในเรื่องนี้ร่วมกัน
“ผลกระทบจากนโนบายของทรัมป์ต่อเศรษฐกิจไทย มีทั้งประโยชน์ โอกาส และมีทั้งความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าไทยจะเตรียมตัวอย่างไร โดยในส่วนที่จำเป็นก็คือการเร่งเจรจาในการทำ FTA ที่ค้างอยู่กับประเทศต่างๆเพื่อให้เรามีโอกาสในการส่งออกมากขึ้น ซึ่งหากเราสามารถทำให้การส่งออกเติบโตได้ 4% ก็จะทำให้จีดีพีไทยโตได้ 1% ซึ่งก็จะช่วยเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ได้ หากจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ถึง 5% ตามเป้าหมายที่วางไว้ต้องขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลต้องทำงานในเรื่องการเปิดตลาดการค้าใหม่ๆและเจรจาการค้ากับต่างประเทศด้วย”