อ่านสัญญาณทรัมป์ 2.0 นำความป่วนคืนทำเนียบขาว

อ่านสัญญาณทรัมป์ 2.0 นำความป่วนคืนทำเนียบขาว

โดนัลด์ ทรัมป์ มีเวลาอีกหนึ่งเดือนก่อนจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ แต่เขาได้แสดงความสามารถเฉพาะตัวในการสร้างความสับสน และขโมยซีนเป็นข่าวใหญ่ด้วยคำพูดดูถูกแคนาดา ข่มขู่สื่อ และทำลายข้อตกลงงบประมาณในสภาคองเกรส

“เราจะรอดูทรัมป์วาระสองที่จะโกลาหลยิ่งกว่าวาระแรก ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้บ่งบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ดี” ท็อดด์ เบลต์ อาจารย์รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กล่าวกับเอเอฟพี เมื่อวันศุกร์ (20 ธ.ค.) พร้อมเสริมว่า การที่ศาลสูงพิพากษาให้ประธานาธิบดีมีเอกสิทธิคุ้มครองในการปฏิบัติราชการ “ยิ่งเปิดโอกาสให้ทรัมป์ทำตามแรงกระตุ้นอันเลวร้ายที่สุดของเขามากขึ้น”

ไม่ผิดนักหากจะพูดว่าทรัมป์ขโมยแสงจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนไปหมด ไบเดนแทบไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของการดำรงตำแหน่ง

เมื่อวันจันทร์สัปดาห์ก่อน (16 ธ.ค.) ทรัมป์แถลงข่าวครั้งแรกนับตั้งแต่ชนะเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ย. พูดคุยกับสื่อหลากหลายหัวข้อนานชั่วโมงกว่า เพลิดเพลินกับการที่ใครๆ ก็สนใจ

“ทุกคนอยากเป็นเพื่อนกับผม” ทรัมป์กล่าวถึงการที่อภิมหาเศรษฐีซีอีโอบริษัทเทคโนโลยีและบรรดาผู้นำโลกเรียงแถวมาเยือนเขาที่คฤหาสน์มาร์อาลาโกในฟลอริดา

โดนัลด์ ทรัมป์ บอกผู้สื่อข่าวด้วยว่า เขาอยาก “จัดระเบียบ” สื่อ นั่นคือสิ่งที่ทีมงานของทรัมป์กระทำผ่านการฟ้องร้อง เป็นเหตุให้นักสังเกตการณ์และกลุ่มสิทธิกังวลว่านี่คือสัญญาณบ่งบอกถึงการเซ็นเซอร์สื่อหนักข้อขึ้น

ในวันแถลงข่าวขณะแสดงความเห็นในหลายประเด็น ทรัมป์แสดงให้เห็นด้วยว่าเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยเรื่องการพูดจาคลุมเครือ หลายครั้งขัดแย้งกันเอง ตัวอย่างเช่น การฉีดวัคซีน ว่าที่ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันกล่าวว่า ตนเป็น “ผู้เชื่อมั่น” ในวัคซีนโปลิโอ แต่ยังสงสัยเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างการฉีดวัคซีนกับการเป็นออทิสติกทั้งๆ ที่มีคนอธิบายจนทะลุปรุโปร่งกันไปแล้ว

“มันต้องมีอะไรบางอย่างผิดปกติ และเราจะพยายามหาคำตอบ” ทรัมป์กล่าวโดยตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยออทิสติกในสหรัฐเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เป็นเพราะเปลี่ยนเกณฑ์ในการวินิจฉัย การตระหนักรู้เพิ่มขึ้น และการคัดกรองดีขึ้น

ย้อนกลับไปมองตอนที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีวาระแรกเต็มไปด้วยคำประกาศที่สร้างความฮือฮา การปลดคนชวนตื่นเต้น การพลิกท่าทีกลับไปกลับมา และความวุ่นวายทางการทูต

ผู้กำหนดนโยบายและนักวิเคราะห์ต่างเผชิญภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่าจะทำตามทุกสิ่งที่ทรัมป์พูด หรือเพิกเฉยกับคำพูดของผู้นำประเทศทรงอำนาจมากที่สุดของโลก

ผ่านไปแล้วสี่ปีและปัญหายังคงอยู่ เห็นได้ชัดเมื่อวันพุธ (18 ธ.ค.) ทรัมป์แสดงความเห็นหยิกแกมหยอกเกี่ยวกับแคนาดาว่า “จะดีมากเลย” ถ้าแคนาดากลายเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐ

ความสับสนจากทรัมป์ได้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับนักข่าว นักการทูต นักการเมือง และนักการเงิน อย่างกรณีที่เขาข่มขู่หลายประเทศเรื่องการเก็บภาษี

“เราไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับนโยบายจริงๆ เราไม่รู้ว่าจะเก็บภาษีอะไร จากประเทศไหน นานเท่าไหร่ มากน้อยขนาดไหน เราไม่รู้ว่าจะมีการเก็บภาษีตอบโตหรือไม่” เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ถึงกับบ่นอุบเมื่อวันพฤหัสบดี (19 ธ.ค.)

สัปดาห์ก่อนเฟดปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อ และตัดสินใจชะลอการลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า เป็นเหตุให้ตลาดหุ้นดิ่ง

 ไม่เฉพาะตัวทรัมป์ การเป็นประธานาธิบดีวาระสองของเขามีแนวโน้มวุ่นวายมากขึ้น ตรงที่ได้ อีลอน มัสก์ ชายผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกและเป็นคนคาดการณ์ไม่ได้เหมือนกันมาร่วมทีม

ผู้บริหารสเปซเอ็กซ์, เทสลา และ X แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนต้องการมีส่วนร่วมในการอภิปรายทางการเมือง สัปดาห์ก่อนได้เชิญตนเองเข้าไปร่วมหารืองบประมาณของสภาคองเกรส

ในหนังสือชีวประวัติของมัสก์ วอลเตอร์ ไอแซคสัน ผู้เขียนนิยามแนวทางของผู้ประกอบการรายนี้ในการสร้างจรวดไว้ว่า “รับความเสี่ยง เรียนรู้จากความเสียหาย ทบทวน ทำใหม่” นิยามสั้นๆ เท่านี้คงพอให้เดาได้ว่า เมื่อมัสก์รวมกับทรัมป์ ทำเนียบขาวจะป่วนขนาดไหน