อาลัย 'ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์' ผู้ว่าการ ปตท.คนแรก ขับเคลื่อนพลังงานยุค 'โชติช่วงชัชวาล'

อาลัย 'ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์' ผู้ว่าการ ปตท.คนแรก ขับเคลื่อนพลังงานยุค 'โชติช่วงชัชวาล'

สุดอาลัย "ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์" ผู้ว่าการ "ปตท." คนแรกของประเทศไทย ช่วยขับเคลื่อนพลังงานในยุค "โชติช่วงชัชวาล"

รายงานข่าวระบุว่า เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โพสต์เฟซบุ๊กในชื่อบัญชี Tevin at easa ระบุถึง ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ได้เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อตอนหัวค่ำ (23 ธ.ค.2567)

สำหรับ "ดร.ทองฉัตร" คือ อดีตผู้ว่าการ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) มาจากสายบริษัทพลังงานโดยตรง โดยในปี 2521 เมื่อครั้งมีการก่อตั้ง ปตท.ได้รับการเชิญชวนจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ให้มาร่วมทำงาน

ในขณะนั้นรัฐบาลเห็นสมควรรวมหน่วยงานที่มีอยู่บางหน่วย จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจขึ้นใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจปิโตรเลียม ตั้งแต่การสำรวจ ไปจนถึงการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ได้จากการกลั่น โดยหวังให้เป็นองค์กรที่มีบทบาทในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ

"ดร.ทองฉัตร" ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ปตท. คนแรก  ที่มาพร้อมภารกิจ ทำเพื่อชาติ แก้ปัญหาน้ำมันขาดแคลนในประเทศจากวิกฤตการณ์น้ำมันโลก ครั้งที่ 2 ซึ่งถือเป็นพลังขับเคลื่อน ปตท. ในยุคบุกเบิก 

นอกจากนี้ เมื่อครั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ก่อตั้ง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ขึ้นเพื่อทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งใน และต่างประเทศ ดร.ทองฉัตร เป็นคนแรกที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท

นอกจากนี้ยัง เคยเป็นที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาคณะกรรมการ ปตท.สผ.อีกด้วย

ดร.ทองฉัตร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ปตท.ปี 2522-2530 ซึ่งเป็นผู้นำการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย แก้วิกฤติน้ำโลก ครั้งที่ 2 รวมถึงสร้างโรงแยกก๊าซฯ แห่งที่ 1 ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างท่อส่งก๊าซในทะเลเส้นแรก ยาว 425 กิโลเมตร 

ทั้งนี้ ปตท.ในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาพลังงาน รวมถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาแหล่งก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งเป็นยุค "โชคช่วงชัชวาล" ที่นำมาสู่การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก หรือ อีสท์เทิร์นซีบอร์ด ซึ่งทำให้เกิดมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนปิโตรเคมีที่สำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม ปตท. ถือเป็นองค์กรสำคัญ ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ ได้ก่อกำเนิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์น้ำมันโลก หรือ Oil Shock ครั้งแรกในช่วงปี 2516-2517 สาเหตุ จากกลุ่ม OPEC ได้ลดกำลังการผลิตลงในเดือนต.ค.2516 เพื่อต่อรองกับโลกตะวันตก เนื่องจากมีความขัดแย้งกับอิสราเอล ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในขณะนั้น

ด้วยเหตุที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด ขณะที่แหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เพิ่งค้นพบ ยังไม่ได้รับการพัฒนาเพื่อนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ รัฐบาลจึงมีนโยบายให้จัดตั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ขึ้นมารับผิดชอบการดำเนินการในกิจการที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมจึงได้ตรา “พระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521” ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2521 ให้มีผลบังคับใช้ในวันต่อมา คือ วันที่ 29 ธันวาคม 2521 และจัดตั้ง “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท.” มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยรวมเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับพลังงานปิโตรเลียมทั้งองค์การเชื้อเพลิง องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย

นับจากช่วงเวลาของการเผชิญวิกฤติปี 2523 ปตท.ได้พัฒนาตนเองขึ้นตามลำดับ เริ่มต้นจากการเปลี่ยนสถานีบริการน้ำมันตราสามทหาร มาเป็นสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปเปลวไฟสีฟ้า หยดน้ำมันสีน้ำเงินในวงกลมสีแดง และใช้คำขวัญเชิญชวนคนไทยให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ของ ปตท.ว่า นิยมไทย ศรัทธาไทย ใช้ ปตท.

เนื่องจากช่วงนั้น สถานีบริการน้ำมันล้วนเป็นของต่างชาติหมด หลังจัดรูปแบบบริหารกิจการพลังงานเข้าใกล้ความเป็นสากล ปตท.ได้ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และเริ่มวางท่อก๊าซธรรมชาติจาก อ.มาบตาพุด จังหวัดระยอง ผ่านเข้าสู่ระบบท่อเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.)

 

โดยในปีถัดมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี จึงได้เดินทางไปเปิดวาล์วท่อส่งก๊าซมายังโรงไฟฟ้าบางปะกง จนเกิดเปลวไฟพวยพุ่งขึ้นจากปล่องควัน เป็นผลให้คนในยุคนั้นเรียกขานเปลวไฟนี้ว่า เปลวไฟ แห่งความโชติช่วงชัชวาล

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์