ครม.ไฟเขียวเปิดร่วมทุน 8 หมื่นล้าน ทางด่วนอุตราภิมุข ช่วงรังสิต - บางปะอิน

ครม.ไฟเขียวเปิดร่วมทุน 8 หมื่นล้าน ทางด่วนอุตราภิมุข ช่วงรังสิต - บางปะอิน

ครม.ไฟเขียวเปิด PPP ส่วนต่อขยายโทล์ลเวย์ ช่วงรังสิต - บางปะอิน มูลค่าการลงทุนแตะ 8 หมื่นล้านบาท หวังแก้รถติดชานเมืองบนถนนวิภาวดีรังสิต ทิศเหนือ คาดแล้วเสร็จปี 2572

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ 24 ธ.ค. 2567 ได้มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอให้พิจารณาอนุมัติการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข  5 สาย ทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต - บางปะอิน ของกรมทางหลวง หรือ M5 ซึ่งคาดว่าจะมีการเร่งดำเนินการ และเปิดให้บริการภายในปี 2572

โดยโครงการดังกล่าวจะใช้วงเงินลงทุนราว 79,916.78 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชนในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยภาครัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เอกชนลงทุนก่อสร้าง เป็นเจ้าของโดยมีหน้าที่ เช่น เวนคืนที่ดิน กำกับดูแลการดำเนินงานของภาคเอกชน และเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการ

สำหรับ ระยะเวลาโครงการรวมทั้งสิ้น 34 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1. ออกแบบและก่อสร้าง 4 ปี และ 2. ดำเนินงานและบำรุงรักษา 30 ปี (นับจากวันเปิดให้บริการ) ส่วนค่าผ่านทาง กำหนดเบื้องต้น แบ่งเป็น รถยนต์ 4 ล้อ 20 หรือ 40 บาทต่อคัน และรถยนต์มากกว่า 4 ล้อ 30 หรือ 65 บาทต่อคัน (ปรับขึ้นทุก 5 ปี ในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อปี)

ทั้งนี้ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข  5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต - บางปะอิน มีแนวเส้นทาง เป็นการต่อขยายทางด่วนดอนเมืองโทล์ลเวย์ รวมระยะทางประมาณ  22 กิโลเมตร เริ่มต้นตั้งแต่ ปลายทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทล์ลเวย์) ณ บริเวณโรงกษาปณ์ ไปจนถึงบริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน  จ.พระนครศรีอยุธยา โดยเป็นการก่อสร้างทางยกระดับอยู่บนเกาะกลาง ถ.พหลโยธิน ขนาด 6 ช่องจราจร มีจุดขึ้นลง จำนวน 7 แห่ง

1. จุดเชื่อมต่อ บริเวณด่านฯ รังสิต 1

2.จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ รังสิต 2

3. จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ คลองหลวง

4. จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ ม.ธรรมศาสตร์

5. จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ นวนคร

6. จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ วไลยอลงกรณ์

7. จุดขึ้น-ลง บริเวณด่านฯ ประตูน้ำพระอินทร์

ทั้งนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่เลขาฯ ครม. สรุปความเห็นหน่วยงานต่างๆ มาจะเห็นว่าความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีข้อสังเกตหลายประเด็น แต่อย่างไรก็ดี โครงการนี้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ โดย ครม. อนุมัติวันนี้ จะเป็นกรอบที่ทางกระทรวงคมนาคม ต้องนำไปใช้คัดเลือกเอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการ จึงขอย้ำให้ทางกระทรวงคมนาคมดำเนินการคัดเลือก และต่อรองราคาเพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า โครงการนี้จะดำเนินการในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP Gross Cost มีระยะเวลาสัญญาไม่เกิน 34 ปี แบ่งเป็น งานก่อสร้าง 4 ปี และดำเนินการและบำรุงรักษา หรือ O&M 30 ปี โดยมีวงเงินลงทุนโครงการราว 79,916.78 ล้านบาท ส่วนนี้แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างประมาณ 31,358 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • เงินลงทุนภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 78 ล้านบาท
  • เงินลงทุนของภาคเอกชน จำนวน 31,280 ล้านบาท

ส่วนงานดำเนินการและบำรุงรักษา หรือ O&M 30 ปี คิดเป็นจำนวนเงินมูลค่าปัจจุบันไม่เกิน 47,881 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้เอกชนจะได้รับเงินค่าตอบแทนจากการให้บริการ (Availability Payment) จากกรมทางหลวงตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญา โดยภาครัฐจะทยอยจ่ายให้เอกชนหลังจากเริ่มเปิดให้บริการ มีกำหนดระยะเวลาแบ่งจ่ายค่าตอบแทนเงินลงทุนก่อสร้างไม่น้อยกว่า 15 ปี และค่าตอบแทนการให้บริการในส่วนของค่าดำเนินงานเป็นระยะเวลา 30 ปี นับจากปีที่เปิดให้บริการ

โดยกรมทางหลวงจะได้พิจารณากำหนดเงื่อนไขตัวชี้วัดระดับคุณภาพการให้บริการ (KPI) เพื่อให้เอกชนคู่สัญญารักษาคุณภาพระดับการให้บริการที่ดี และปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้ทาง โดยกรมทางหลวงคาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปี 2568 และจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในปี 2569

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์