ยกระดับ Credit Rating สร้างความเชื่อมั่นตลาดตราสารหนี้
6.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน เป็นมูลค่าเฉลี่ยของธุรกรรมในตลาดตราสารหนี้ (bonds) ในประเทศไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวจากปี 2537 ที่มีมูลค่าเพียง 1 ล้านบาท
“ตราสารหนี้” เป็นเครื่องมือสำคัญในการระดมทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ด้วยมูลค่ามหาศาลนี้เอง ทำให้ตัวช่วยในการตัดสินใจลงทุนจึงมีความสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะ อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ที่จัดทำโดย Credit Rating Agencies หรือ CRA ซึ่งบริษัทที่ต้องการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้จะต้องใช้บริการ CRA ในการประเมินอันดับเครดิตตราสารของตน (Issuer-Pays Model)
ผลการประเมินนี้ ส่งผลต่อการกำหนดอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ และเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน อย่างไรก็ดี การจัด Credit Rating อาจไม่สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงได้เสมอไป ดังเช่นกรณี “Fallen Angels” ที่ตราสารหนี้ถูกลดอันดับอย่างรุนแรง จนส่งผลต่อมูลค่าตราสารหนี้และการซื้อขายในตลาด
ด้วยความสำคัญของการจัด Credit Rating ทำให้ CRA ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและเป็นมืออาชีพ ในการประเมินปัจจัยด้านธุรกิจ และการเงินของผู้ออกตราสาร รวมถึงติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการจัดอันดับที่โปร่งใส และใช้ข้อมูลถูกต้อง ลดความเสี่ยงเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่าง CRA กับผู้ออกตราสารที่เป็นผู้จ่ายค่าบริการ ซึ่งอาจกระทบต่อความเป็นอิสระการจัดอันดับ และเปิดเผยข้อมูลผลการจัดอันดับของ CRA แก่นักลงทุนอย่างครบถ้วน
ปัจจุบันประเทศไทยมี CRA เพียง 2 ราย คือ TRIS Ratings และ Fitch Ratings โดยผู้ประกอบการทั้งสองอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพื่อขอความเห็นชอบในการประกอบกิจการ ที่ครอบคลุมทั้งการจัดให้มีระบบงานที่มีมาตรฐานตามหลักสากล
การรายงานข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงาน และการยอมให้สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบสถานประกอบการ ซึ่งหากพบการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ สำนักงาน ก.ล.ต. สามารถเพิกถอนความเห็นชอบ ซึ่งทำให้ CRA ต้องยุติการให้บริการ
อย่างไรก็ตาม กรอบการกำกับดูแลปัจจุบันมีข้อจำกัดสำคัญสองประการ
1.เป็นมาตรการกำกับปลายทาง ที่มีเพียงการเพิกถอนความเห็นชอบเป็นเครื่องมือหลัก ซึ่งอาจรุนแรงเกินไป และไม่เอื้อต่อการกำกับดูแลเชิงรุก
2.มุ่งเน้นเพียงมาตรการระดับองค์กร โดยยังขาดมาตรการสำคัญในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการส่งเสริมความโปร่งใส
ทั้งนี้ เพื่อช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดตราสารหนี้ไทย และยกระดับคุณภาพการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ผู้เขียนเห็นว่าควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาในสองด้านดังนี้
สำนักงาน ก.ล.ต. ควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการหมุนเวียนนักวิเคราะห์ เพื่อส่งเสริมความเป็นอิสระในการจัดอันดับผ่านการลดความสัมพันธ์ระยะยาวระหว่าง CRA กับผู้ออกตราสาร
โดยปัจจุบันหลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป กำหนดให้เปลี่ยน CRA ทุกๆ 4 ปี แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องจำนวนบริษัท CRA ของไทยที่มีเพียง 2 ราย จึงอาจปรับมาตรการดังกล่าว โดยเปลี่ยนมาเป็นการกำหนดให้มีการหมุนเวียนนักวิเคราะห์รายบุคคล ที่รับผิดชอบลูกค้าแต่ละราย ซึ่งจะช่วยรักษาความต่อเนื่องของการให้บริการ ส่งเสริมความเป็นอิสระ และลดความเสี่ยงที่เกิดจากความสัมพันธ์ระยะยาวของนักวิเคราะห์และผู้ออกตราสาร
นอกจากนี้สำนักงาน ก.ล.ต. ควรกำหนดให้ CRA เปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลความสัมพันธ์ทางการเงินที่สำคัญระหว่าง CRA และผู้ออกตราสาร ทั้งในแง่การถือหุ้นและสัดส่วนรายได้ หากมีสัดส่วนรายได้ที่อาจครอบงำการตัดสินใจของ CRA หรือมีความสัมพันธ์การถือหุ้นที่มีนัยสำคัญ
รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลที่ช่วยให้นักลงทุนเข้าใจข้อจำกัดกระบวนการจัดอันดับมากยิ่งขึ้น อาทิ สมมติฐานในการวิเคราะห์ ความครบถ้วนและคุณภาพของข้อมูลจากผู้ออกตราสาร และปัจจัยความเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลต่อ Credit Rating ในอนาคต
นอกเหนือจากการปรับปรุงการกำกับดูแล CRA แล้ว การสร้างความเชื่อมั่นและลดความเสี่ยงให้แก่นักลงทุนจำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูป และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในตลาดทุน โดยมีประเด็นสำคัญที่ควรผลักดันควบคู่กันไปดังนี้
1.เพิ่มการแข่งขันในตลาด CRA เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ให้บริการเพียง 2 ราย ทำให้จำกัดทางเลือกของผู้ออกตราสาร และกระทบต่อการแข่งขันในการพัฒนาคุณภาพบริการ ที่สำคัญทำให้เกิดความท้าทายในด้านการกำกับดูแล
เนื่องจากหน่วยงานกำกับดูแลต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดกับผลกระทบต่อตลาดโดยรวม โดยหากมีการเพิกถอนความเห็นชอบ CRA รายใดรายหนึ่ง อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อทั้งตลาดตราสารหนี้ ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงควรศึกษาแนวทางในการเพิ่มการแข่งขันให้เหมาะสม
2.ส่งเสริมมาตรการป้องกันการฉ้อโกง (Fraud Prevention) เนื่องจากคุณภาพของการจัด Credit Rating ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับจากผู้ออกตราสาร แต่จากการผิดนัดชำระหนี้ที่ผ่านมา
เช่น กรณี STARK ที่มีการตบแต่งบัญชี สะท้อนว่า การจัดอันดับอาจคลาดเคลื่อนได้หากผู้ออกตราสารจงใจให้ข้อมูลเท็จ ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส เพื่อช่วยตรวจจับการกระทำผิดตั้งแต่ต้นทาง และลดโอกาสการใช้ข้อมูลเท็จในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
3.สร้างสมดุลในการพึ่งพา Credit Rating ในระบบตลาดทุน (Over Reliance) แม้ Credit Rating จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินความเสี่ยง แต่ไม่ควรเป็นปัจจัยชี้ขาดเพียงอย่างเดียว
ปัจจุบันตลาดทุนไทยเน้นความสำคัญของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือโดยให้เป็นส่วนหนึ่งของกฎเกณฑ์การกำกับดูแล สภาพดังกล่าวสร้างความเปราะบางในระบบ และส่งผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องละเลยการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้วยเครื่องมืออื่น
จึงควรทบทวนบทบาทของ Credit Rating ในโครงสร้างตลาดทุน ควบคู่กับการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงที่หลากหลาย
การยกระดับคุณภาพและการใช้อันดับความน่าเชื่อถืออย่างเหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย โดยปรับปรุงกรอบการกำกับดูแล CRA เป็นหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเสริมสร้างทั้งความเป็นอิสระและความโปร่งใสในการจัดอันดับ
ขณะเดียวกันต้องผลักดันการปฏิรูปในด้านอื่นควบคู่กันไป ทั้งการเพิ่มการแข่งขัน การพัฒนาระบบตรวจจับการทุจริต และการส่งเสริมให้ผู้ร่วมตลาดใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงที่หลากหลาย เพื่อให้อันดับความน่าเชื่อถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง อีกทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยด้วย
บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “โครงการกิโยตินกฎระเบียบตลาดทุน” โดยทีดีอาร์ไอและกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)