ปี2568สมรภูมิ“อุตฯเซมิคอนดักเตอร์” แข่งเดือดคว้าซัพพลายเชนแห่งอนาคต
กลไกสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งอนาคตคือระบบดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ซึ่งมีสมองกลสำคัญภายในนั่นคือ “เซมิคอนดักเตอร์”
ข้อมูลจากStatista แบ่งเซมิคอนดักเตอร์เป็น กลุ่มแบ่งตามส่วนประกอบ ได้แก่ อุปกรณ์หน่วยความจำ,
อุปกรณ์ลอจิก ,IC (Integrated Circuit หรือ วงจรรวม หรือ วงจรเบ็ดเสร็จ) , อนาล็อก ,หน่วยไมโครโปรเซสเซอร์(MPU) ,อุปกรณ์จ่ายไฟแยก MCU ,เซ็นเซอร์ อื่นๆ และ กลุ่มแบ่งตามการใช้งาน ได้แก่ อุปกรณ์จ่ายไฟ ,อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และออปโตอิเล็กทรอนิกส์ ,โครงสร้างพื้นฐานไร้สาย และอื่นๆ
โดยผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้แก่ Intel Corporation อยู่ที่ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ,Qualcomm อยู่ที่ แคลิฟอร์เนีย ,Samsung Electronics อยู่ที่ ซูวอนซี เกาหลีใต้, SK hynix อยู่ที่ คย็องกี เกาหลีใต้ , Taiwan Semiconductors อยู่ที่ ซินจู ไต้หวัน, Texas Instruments อยู่ที่ เท็กซัส สหรัฐ, Toshiba Corporation อยู่ที่ โตเกียว ญี่ปุ่น, Rohm Semiconductor อยู่ที่ เกียวโต ญี่ปุ่น , Renesas Electronics Corporation อยู่ที่ โตเกียว ญี่ปุ่น, Micron Technology อยู่ที่ ไอดาโฮ สหรัฐ, NVIDIA Corporation อยู่ที่ แคลิฟอร์เนีย ,NXP Semiconductors N.V. อยู่ที่ ไอนด์โฮเฟน เนเธอร์แลนด์ และผู้เล่นรายอื่นๆ
Statista เล่าถึงขนาดตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของอาเซียน ว่ามีมูลค่าเมื่อปี 2023 ที่ 31,320 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 52,900 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2032 และมีอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี(CAGR) ที่5.98% ในช่วงปี 2024-2032
ดังนั้น ไทยและประเทศในอาเซียนต่างต้องการชิงตั๋วเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นี้ แต่สมรภูมิแห่งเทคโนโลยี ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีความพร้อมเข้าร่วมการแข่งขัน เพราะเงื่อนไขอุตสาหกรรมนี้ต้องใช้ทั้งเงินทุนมหาศาล บุคลากรที่มีความพร้อม ไม่รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องเป็นแบบพรีเมี่ยมจริงๆ ซึ่งอาเซียนกำลังเร่งเบนเข็มการพัฒนาให้ตอบโจทย์ดังกล่าว
การประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) นัดแรก แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี การประกาศเป้าหมายการดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาประเทศไทยให้ได้ 5 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี
ด้านอินโดนีเซีย Statista วิเคราะห์ว่า กำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำ โดยใช้ทรัพยากรนิกเกิลที่มีอยู่อย่างมากมาย ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่และเซมิคอนดักเตอร์ ในปี 2022 สามารถผลิตนิกเกิลได้ 1.6 ล้านตัน แซงหน้าออสเตรเลียถึง 10 เท่า และอินโดนีเซียห้ามการส่งออกแร่นิกเกิลที่ยังไม่ได้แปรรูปในปี 2020 ซึ่งส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และการก่อตั้งบริษัทแบตเตอรี่อินโดนีเซีย (IBC) ร่วมกับ LG และ Hyundai สะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางชั้นนำการผลิตแบตเตอรี่ระดับโลก
อินโดนีเซียยังได้รับแรงหนุนจากพระราชบัญญัติ CHIPS ของสหรัฐ ที่ส่งให้เกิดการตั้งโรงงานเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเมืองบาตัม และตั้งศูนย์ฝึกอบรมเฉพาะทางในเมืองบันดุง พร้อมกับสร้างความร่วมมือกับผู้นำด้านเทคโนโลยี เช่น LG รวมถึงการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ด้วยการลงทุนจาก Sharp, NEC และ UTAC และการผลิตเวเฟอร์ซิลิคอนของSUMCO ,การผลิตส่วนประกอบของ PT TDK Electronics อินโดนีเซีย
“การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์นี้ไม่เพียงเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย เนื่องจากอินโดนีเซียและสหรัฐกำลังทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก โดยสหรัฐลงทุน 131 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล จากความร่วมมือนี้ทำให้อินโดนีเซียเป็นผู้เล่นที่สำคัญในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของอาเซียน”
ด้านเวียดนามซึ่งครองส่วนแบ่งรายได้ในตลาดเซมิคอนดักเตอร์ของอาเซียนที่ สัดส่วนแบ่ง 21% ในปี 2023 โดยดึงดูดบริษัทข้ามชาติให้ลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความพยายามดึงดูดการลงทุนของอาเซียนก็พบว่า ปัญหาบุคลากร หรือ แรงงานที่มีทักษะชั้นสูงดูเหมือนจะตามไม่ทันกระแสการลงทุนเทคโนโลยีชั้นสูงนี้
“การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในอาเซียนซึ่งนับเป็นความท้าทายที่สำคัญที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามซึ่งกำลังขยายตัวอยู่ การขาดแคลนวิศวกรที่มีทักษะ ความต้องการวิศวกรในอุตสาหกรรมไอทีและดิจิทัลมีมากกว่าอุปทานในสัดส่วนที่สูงมาก”
ปัจจุบันแรงงานมีทักษะสามารถตอบสนองความต้องการตลาดเซมิคอนดักเตอร์ได้เพียง 20% ของความต้องการเท่านั้น คาดการณ์ว่าต้องมีวิศวกรประมาณ “5,000 -10,000 คน” ต่อปี เพื่อแก้ไขปัญหานี้ กระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรมของเวียดนามให้ความสำคัญสูงสุดกับการปรับปรุงโปรแกรมการฝึกอบรมสำหรับวิศวกรออกแบบ IC โดยเวียดนามมีแผนที่จะปิดช่องว่างด้านบุคลากรที่มีทักษะและปลดปล่อยศักยภาพทั้งหมดของภาคส่วนเซมิคอนดักเตอร์โดยเพิ่มจำนวนบัณฑิตด้านวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็น 3,000-4,000 คนต่อปี"
อย่างไรตาม อุปสรรคด้านการแข่งขันจากนอกภูมิภาคก็สำคัญ พบว่า“อินเดีย”ที่กำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อให้การผลิตเซมิคอนดักเตอร์สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีข้อเสนอการลงทุนมูลค่า 2.3 ล้านล้านรูปี หรือ เท่ากับ 30,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก
“แผนดังกล่าวได้จัดสรรเงินกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และจอภาพในอินเดียให้แข็งแกร่ง โดยให้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูด เช่น ความช่วยเหลือทางการเงินสูงสุด 50% สำหรับโรงงานใหม่ และส่งเสริมกลยุทธ์ที่เน้นการออกแบบโดยมีโปรแกรมจูงใจที่เชื่อมโยงกับการออกแบบมูลค่า 1,500 ล้านรูปี แต่ดูเหมือนว่าอินเดียก็ต้องสะดุดขาตัวเองด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ตอบโจทย์การลงทุนอุตสาหกรรมชั้นสูงนี้เท่าที่ควร”
ดังนั้น ในภาพรวม ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันด้านเซมิคอนดักเตอร์โลก พบว่า“อาเซียน”ยังมีความโดดเด่นด้วยสัดส่วนการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ฟิลิปปินส์เติบโตที่ 16% และไทยเติบโตที่ 14% แม้รายงานไม่ได้กล่าวถึงมาเลเซีย ทั้งที่เป็นอีกผู้เล่นรายสำคัญที่มีความพร้อมลงแข่งในสมรภูมินี้เช่นกัน
ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ให้ตกขบวนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตแต่การทุ่มเทสิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่อดึงดูดการลงทุนและโนว์ฮาวด้านเทคโนโลยี ก็ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ได้มาต้องคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแก่นกลางของเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆอย่างแท้จริงด้วย