ไทยปักธงหุ้นส่วน BRICS ลดความเสี่ยงผลกระทบภูมิรัฐศาสตร์
ไทยเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ดีเดย์ 1 ม.ค.68เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก BRICS "อัทธ์"ชี้ เป็นประโยชน์ด้านการค้าและเศรษฐกิจ ลดความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์
กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2567 ไทยได้รับแจ้งจากรัสเซียในฐานะประธานกลุ่ม BRICS ปี 2567 ว่าไทยจะเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2568
สำหรับการเข้าเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยกับ BRICS ซึ่งไทยได้เข้าร่วมกิจกรรมและการประชุมในกรอบ BRICS Plus มาตั้งแต่แรกเริ่มเมื่อปี 2560 และจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก BRICS ซึ่งเป็นประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด กล่าวกับ ”กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การที่ไทยได้รับเลือกเป็นหุ้นส่วนพันธมิตรของกลุ่มบริกส์ถือว่าเป็นประโยชน์มาทั้งด้านการค้าและการลดการพึ่งพึงเงินสกุลดอลลาร์
รวมทั้งลดความเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคการค้าระหว่างไทยกับประเทศกลุ่มที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐและยุโรป แม้ว่าปัจจุบันไทยจะมีมูลค่าการค้า การลงทุนกับประเทศกลุ่ม BRICS ไม่มาก ยกเว้นจีน ซึ่งเชื่อว่าในระยะต่อไปจะมีหลายประเทศขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ขยายวงกว้างมากขึ้น
นอกจากนี้ในอนาคตจะเกิดเงินสกุลบริกส์ขึ้น ซึ่งจะทำให้เงิน BRICS มีบทบาทในตลาดการเงินโลกมากขึ้น นอกเหนือจากเงินสกุลดอลลาร์เพียงอย่างเดียว ทำให้โมเมนตัมด้านเศรษฐกิจมาทางกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในการค้าและการลงทุน
ทั้งนี้กลุ่ม BRICS จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องการค้า มาตรการต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นความเหนียวแน่นในกลุ่ม สร้างพลังให้เกิดขึ้นในกลุ่ม ลดการกีดกันการทางการค้า ไม่แทรกเซงกิจการภายในรวมทั้งช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มที่ยังไม่พัฒนามากขึ้นให้พัฒนาขึ้น ซึ่งจะเป็นโมเดลใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจโลก
“หากมองในแง่ของต้นทุนการผลิต กลุ่มบริกส์มีวัตถุดิบที่ช่วยลดต้นทุนให้ไทย เช่น น้ำมัน ปุ๋ย แร่ธาตุ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องซื้อน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย ที่ผ่านมาซื้อน้ำมันแพงทำให้ต้นทุนพลังงานแพง จึงต้องมีจุดยืนด้านการค้าการลงทุนเพื่อผลประโยชน์เศรษฐกิจไทย”
นายอัทธ์ กล่าวว่า กรณีไทยร่วมเป็นสมาชิกทั้ง 2 กลุ่ม มองว่าไม่มีปัญหาประเด็นการแบ่งขั้ว เพราะการที่ทั้ง 2 กลุ่มรับไทยเป็นสมาชิกก็จะเป็นประโยชน์ด้านการค้าและเศรษฐกิจ
อีกทั้งเป็นสิทธิชอบธรรมของไทยเพราะต้องพึ่งพาทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ได้ฝักใฝ่ผ่ายใดทั้งสิ้น เป็นการลดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจของไทย ลดความเสี่ยงด้านห่วงโซ่การผลิตและซัพพลายเชน และหลังการเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐ ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดี นโยบายด้านเศรษฐกิจการค้า ส่งผลกระทบต่อไทยแน่นอน ดังนั้นไทย จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงและรับมือ
“ยุทธศาสตร์ของ BRICS ในระยะสั้นไม่ได้ต้องการกดดันหรือต่อต้านโออีซีดี แต่ต้องการลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และความขัดแย้งต่างๆ แต่ในระยะต่อไปมีสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ บทบาทของจีนก็จะโดดเด่นและมีอิทธิพลมากขึ้นจนกลายเป็นอีกขั้วหนึ่งที่มาคานกับกลุ่มสหรัฐ ยุโรป “นายอัทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่มอาเซียน 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และไทย ต่างร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS เพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไหนไม่เข้ากลุ่มถือว่าเป็นความเสี่ยง จึงคาดว่าต่อไปตะวันออกกลางและเกาหลีเหนือ จะเข้าร่วมด้วย
ส่วนกรณีที่ทรัมป์เก็บภาษีกลุ่ม BRICS 100% จะทำให้การส่งออกกลุ่ม BRICS ลดลง 50% ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าลดลงจาก 367,673 ล้านดอลลาร์ เหลือ 183,836 ล้านดอลลาร์โดยเวียดนามได้ประโยชน์สูงสุดในอาเซียนตามด้วยไทย
ทั้งนี้กลุ่มสินค้าที่จะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปแทนที่สินค้ากลุ่ม BRICS คือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เครื่องจักร ชิ้นส่วนรถยนต์ ของเด็กเล่น ข้าวและผลไม้
สำหรับอัตราภาษีที่คาดว่าทรัมป์จะจัดเก็บจากสมาชิกกลุ่ม BRICS ประกอบด้วย บราซิล 10% แต่อาจจะไม่จัดเก็บ , รัสเซีย 100% , อินเดีย 10-25% , จีน 100%
ในขณะที่สมาชิกใหม่ของกลุ่ม BRICS ที่อาจถูกจัดเก็บ ประกอบด้วย อิหร่าน 100% , อียิปต์ 10% แต่อาจไม่ถูกจัดเก็บ , เอธิโอเปีย 10% แต่อาจไม่ถูกจัดเก็บ และสหรัฐอาหรับเอมิรสต์ 10-20%
กระทรวงการต่างประเทศ เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 โดยสรุปประโยชน์และผลกระทบต่อประเทศไทย 4 ด้าน ประกอบด้วย
1.การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยกระชับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพก้าวขึ้นมามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน การเงิน ความมั่นคงด้านอาหารและความมั่นคงด้านพลังงาน
ทั้งยังช่วยเพิ่มบทบาทของไทยในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ การส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการพัฒนา และการส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกิจระหว่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง
นอกจากนี้การเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ช่วยเพิ่มโอกาสให้เทศไทยร่วมสร้างระเบียบโลกใหม่ที่กลุ่มประเทศตลาดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทสำคัญ มีความครอบคลุมและไม่มุ่งต่อต้านกลุ่มใด
2.ความร่วมมือกลุ่ม BRICS แบ่งเป็น 3 เสาได้แก่ เสาด้านการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ เสาด้านเศรษฐกิจและการเงิน เสาด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม
นอกจากจะมีการประชุมระดับผู้นำของ BRICS แล้วแต่ละเสายังมีการประชุมระดับต่างๆ เช่น คณะทำงาน เจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี รวมกันประมาณ 200 การประชุมต่อปี และเกี่ยวข้องกับหน่วยราชการต่างๆ ในลักษณะคล้ายกรอบอาเซียน
ดังนั้น หากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยมีความพร้อม การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะเป็นโอกาสให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการหารือกับประเทศสมาชิก ประเทศหุ้นส่วนและประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วมในกลไกของกลุ่ม BRICS
เพื่อขยายความร่วมมือด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย ยุติธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม สาธารณสุข การคลัง การค้าและเศรษฐกิจ การจัดการภาษี การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน การท่องเที่ยว การส่งเสริมบทบาทของเยาวชนและสตรี การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
3.ในสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปัจจุบัน ซึ่งยังคงมีความขัดแย้งระหว่างประเทศตะวันตกกับรัสเซียและการแข่งขันเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศตะวันตกกับจีนที่มีความเข้มข้นขึ้น
อาจจะมีความเสี่ยงที่ประเทศสมาชิกขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกและพันธมิตรมีแนวโน้มที่จะต่อต้านนโยบายของรัสเซียและจีน ซึ่งเป็น 2 ประเทศหลักที่ริเริ่มความร่วมมือและมีอิทธิพลในกลุ่ม BRICS
ทั้งนี้ แม้ว่าจุดประสงค์ของ OECD จะเป็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพื่อจะพัฒนามาตรฐานและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันก็ตาม
4.กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวบนหลักการของการดำเนินการทูตอย่างสมดุลและยืดหยุ่นในภาวะที่มีการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์มีความเข้มข้นขึ้น
และเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทั้งในด้านการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการเมืองกับกลุ่มประเทศกลุ่ม BRICS และความมั่งมั่นที่จะพัฒนามาตรฐานด้านต่างๆ ที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD