"เอกชน "ชูกลยุทธ์รับมือทรัมป์2.0 หนุนไทยเป็นกลาง ‘รุกส่งออกอินเดีย’
หอการค้า” ชี้ ทรัมป์ 2.0 ฉุดมูลค่าเศรษฐกิจหาย 1.6 แสนล้านบาท แนะไทยวางตัวเป็นกลาง ขยายการค้าไปอินเดีย ส.อ.ท.เตือนสินค้าจีนที่ยิ่งทะลักเข้าอาเซียน-ไทย ‘สภาพัฒน์’ รอประเมินภูมิรัฐศาสตร์ตะวันออกกลางหลัง ซีเรีย เปลี่ยนการปกคลอง หวังสถานการณ์สงบ ดีต่อราคาพลังงาน
ทั่วโลกอยู่ระหว่างการจับตามองการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.2567 ซึ่งนโยบายที่ออกมาสร้างความกังวลต่อสงครามการค้าที่อาจรุนแรงขึ้น
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเมินว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านนโยบายสหรัฐหรือ ตนทรัมป์ 2.0 ถือเป็นจังหวะดีที่รัฐบาลจะใช้โอกาสเป็นประเทศที่วางตัวเป็นกลาง (Conflict-free Countries) สร้าง Flow Business ที่ชัดเจน รวมถึงมีมาตรการอำนวยความสะดวกเข้ามาลงทุน ส่วนนี้จะช่วยเร่งโปรโมทการดึงดูดการลงทุนมาไทยได้มาก
ขณะเดียวกัน หากนโยบายทรัมป์ 2.0 เริ่มใช้นโยบายภาษีการนำเข้าและการกีดกันทางการค้ารอบใหม่จะกระทบการส่งออกไทยบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกินดุลการค้าสูงและมูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ดี เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เซมิคอนดักเตอร์ ยางล้อรวมถึงกลุ่มสินค้าที่เกินดุลการค้าปานกลางและมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวเร็ว เช่น เครื่องปรับอากาศ โซลาร์เซลล์
นอกจากนี้ ภาคการผลิต การก่อสร้าง และภาคการเกษตร ก็อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ขณะที่จีนจะถูกเก็บภาษีจากสหรัฐอัตรา 60% ทำให้สินค้าเพียงแค่บางส่วนของจีนเข้าสหรัฐ ดังนั้น จีนอาจต้องระบาย (Dump) สินค้าที่เหลือยังตลาดอื่นรวมถึงไทย เพราะจีนไม่มีนโยบายลดการผลิต เมื่อสินค้าราคาถูกจากจีนทะลักออกมาและเข้าตลาดไทยระยะแรกผู้บริโภคจะดีใจมีให้เลือกมากในราคาถูก
ส่วนอีกมุมจะกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตและบริการของไทย เพราะไม่สามารถรับคลื่นใหญ่จากจีน ซึ่งอาจเป็นผลกระทบทางอ้อมจากสหรัฐที่ไทยต้องเผชิญ
ทั้งนี้ผู้ผลิตหลายรายอาจย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อลดต้นทุนการส่งสินค้ากลับไปสหรัฐเพื่อเลี่ยงภาษี ส่วนนี้อาจเป็นโอกาสไทยได้รับผลประโยชน์จากแนวโน้มดังกล่าว ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยที่จะทำให้ผู้ผลิตเลือกมาลงทุนในไทย
สำหรับนโยบายของทรัมป์ 2.0 ประเมินว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจจะหายไป 1.6 แสนล้านบาท โดยเฉพาะการถูกสหรัฐขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ซึ่งจะกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไทย เบื้องต้นทางตรงจะกระทบการส่งออกไทย ลดลง 1.03% กระทบต่อ GDP ลดลง 0.59% หากกระทบทางอ้อม มีผลกระทบต่อการส่งออกวัตถุดิบ ห่วงโซ่อุปทาน อย่างมาก ทั้งตลาดสหรัฐและจีน
แนะกลยุทธ์เชื่อมการค้าอินเดีย
ทั้งนี้ หอการค้าไทยมองว่าโลกยังคงมีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ และเห็นแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตมาภูมิภาคนี้ เป็นโอกาสเปิดกว้างสำหรับไทยที่ควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะไม่ใช่แค่ win-win แต่จะเป็น All win Situation โดยไทยต้องวางตัวเป็นกลาง
รวมทั้งไทยควรขยายการค้า Connect กับอินเดียทั้งด้านการค้า การลงทุน เพราะเป็น Strategic Country ที่เชื่อมภูมิภาค South East Asia กับอินเดีย เชื่อมผลประโยชน์จากจีนและสหรัฐ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็น Opportunity ของไทย หรือแม้แต่การเปลี่ยนคู่แข่งเป็นคู่ค้าระหว่างไทยกับเวียดนามซึ่งจะช่วยให้ไทยเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งไปพร้อมกับเพื่อนบ้าน
“รัฐบาลและภาคเอกชนไทยที่มีความคุ้นเคยกับการทำงานของทรัมป์ 1 มาแล้ว ทำให้ไทยมีความเข้าใจดีพอสมควรว่าควรที่จะเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง ซึ่งไทยต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา และเตรียมความพร้อมทั้งนโยบายเชิงรุกและรับรวม รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการนำสินค้านำเข้า-ส่งออก” นายสนั่น กล่าว
ส.อ.ท.จับตา 4 ประเด็นร้อน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้งทำให้ต้องจับตาดูสถานการณ์สงครามการค้าในปี 2568 โดยเฉพาะโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าอย่างน้อย 10-20% ส่วนจีน 60-100% โดยสิ่งที่ต้องจับตาแบ่งเป็น
1.การส่งออกของไทยว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่ อาจจะสังเกตุนโยบายสมัยทรัมป์ 1 ขณะนั้นไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ดุลสหรัฐอันดับที่ 14 ปีละกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนเป็นอันดับ 1 ได้ถูกจับตาพิเศษ ไทยอาจจะโดนจับตาเรื่องของการบิดเบือนค่าเงินหรือไม่
ทั้งนี้ การขึ้นภาษีจีนทำให้สหรัฐต้องนำเข้าจากที่อื่นแทน ซึ่งไทยได้อนิสงค์ตั้งแต่ช่วงนั้นและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2566 ไทยได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นและถูกเลื่อนมาอยู่ที่อันดับ 12 ขณะที่ยอดส่งออกๆปสหรัฐ 10 เดือนของปี 2567 ไทยปรับขึ้นมาเป็นอันดับ 9 ดังนั้น อาจอยู่ในเป้าประเทศที่ไต่อันดับที่ได้ดุลการค้าสหรัฐเพิ่มขึ้น จึงเสี่ยงถูกจับตามองและทำให้เงินไทยแข็งค่าขึ้น จึงมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง
จับตาดึงการลงทุนกลับสหรัฐ
2.การลงทุน เดิมสหรัฐต้องการให้พันธมิตรย้ายฐานออกจากจีนเพื่อลดความเข้มแข็งของจีน เพื่อทำลายซัพพลายเชนให้อ่อนแอลงจึงมีมาตรการดึงดูดให้นักลงทุนย้ายกลับมาสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าไฮเทค
“นโยบายทรัมป์สนับสนุนการลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% เป็นแรงจูงใจให้คนย้ายฐานกลับสหรัฐ และขึ้นภาษีประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะจีนก็ไปตั้งโรงงานด้วย”
ดังนั้น การลงทุนยังมีความผันผวน จึงต้องจับตาดูว่าอุตสาหกรรมดาต้าเซ็นเตอร์ สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ คลาวด์เซอร์วิส ที่กระจายตัวลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยที่ได้ประกาศแผนลงทุนแล้ว เมื่อถึงเวลาทรัมป์จะลอบบี้และดึงกลับประเทศไปหรือไม่ เพราะยังไม่ได้ลงทุนจริง เป็นเพียงประกาศแผนและขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI)
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังไม่สนใจการเจรจาพหุภาคี ซึ่งไบเดนดำเนินการกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของการรวมตัวทางเศรษฐกิจเพื่อต้านอิทธิพลของจีน โดยปัจจุบันมี 14 ประเทศ สมัครเป็นสมาชิกรวมถึงไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นการค้าของโลกประมาณ 8% และมี GDP ราว 40% ของมูลค่าการค้าของโลก
ขณะเดียวกันจีนและพันธมิตรได้ตั้งกลุ่ม BRICS ขึ้น ประกอบด้วย 10 ประเทศปัจจุบัน ซึ่งไทยเป็นหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567
ดังนั้น เมื่อทรัมป์มาทำให้ไทยไทยจะโดนขึ้นภาษีเป็นการลงโทษด้วยเช่นกัน เพราะกลุ่มนี้จะตั้งสกุลเงินเพื่อลดเงินดอลลาร์ในการค้าขาย โดยทรัมป์รับไม่ได้ และไม่นิยมการใช้พหุภาคีในการเจรจาการค้าจะเป็นลักษณะทวิภาคีคือเจรจาประเทศต่อประเทศมีการต่อรองและผลประโยชน์ระหว่างกัน
3.อุตสาหกรรมสีเขียว ทรัมป์ไม่สนใจอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม และประกาศออกจากการเป็นสมาชิก Paris Agreement 2015 หรือ สนธิสัญญาเรื่องของการลดปัญหาภูมิอากาศหรือโลกร้อน เกิดวงแตกในฐานะที่สหรัฐเป็นประเทศใหญ่ทรงอิทธิพลและเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากสุด กลับไม่เข้าร่วม ต่างจากไบเดนที่มุ่งเน้นไปที่พลังงานสะอาดลดการปล่อยคาร์บอนแบะมีแผนชัดเจน
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาคือการที่ทรัมป์มีผู้สนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาใหญ่คือ อีลอนมัสก์ ถือเป็นเจ้าพ่อแห่งพลังงานสะอาด ให้ความสำคัญเรื่องรักโลกและทำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดังนั้น ถือเป็นความย้อนแย้งที่ต้องจับตา
4.เทคโนโลยี ทรัมป์มีความเข้มงวดในการถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่ให้นักลงทุนจีนมาลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน เกี่ยวกับสาธารณูปโภคหรือแม้กระทั่งท่าเรือ และห้ามหลายธุรกิจเข้ามายุ่งเพื่อความมั่นคงเพิ่มขึ้น
ห่วงสินค้าจีนทะลักเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญจะต้องรับมือมากที่สุดคือตลอดปี 2567 ไทยได้รับผลกระทบนอกจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อไม่ดี สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยกู้ สิ่งสำคัญคือ SME ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามา
ดังนั้น จึงคาดว่าปี 2568 จากมาตรการให้เข้มข้นของทรัมป์จะส่งผลทางอ้อมกระทบกับไทยและอาเซียนเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าจีนเมื่อถูกต้องตั้งกำแพงภาษีที่สูงมากเข้าสหรัฐไม่ได้จะยิ่งไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคนี้ โดยปี 2566-2567 ต้านทานไม่ได้และสินค้าเข้ามาทุกทางส่งผลกระทบต่อ 25 อุตสาหกรรม ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมพร้อมรับมือสินค้าที่จะไหลเข้าเพิ่มขึ้น
“เป็นความกังวลและวิตกมาก อยากฝาการรัฐบาลแม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้หนี้ครัวเรือนแล้วจะต้องทำคู่ขนานเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเข้ามา ทำให้ SME และโรงงานปิดกิจการ และเลิกจ้าง เหลือเพียงอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นต่างชาติมากับลงทุน ซึ่งเราไม่ได้รังเกียจแต่ต้องรักษาอุตสาหกรรมของไทยคู่ขนานกับการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน”
สศช.จับตาภูมิรัฐศาสตร์ขัดแย้ง
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ปี 2568 ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งในหลายภูมิภาคเป็นปัจจัยที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องให้ความสนใจ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องมีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2568 สมรภูมิ และคู่ขัดแย้งที่ต้องจับตา ดังนี้
1.ความขัดแย้งตะวันออกกลาง ทั้งนี้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศซีเรีย นายบาชาร์อัล-อัสซาดถูกโค่นล้มจากตำแหน่งประธานาธิบดีของซีเรียและหนีไปอยู่ต่างประเทศ
ซึ่งตอนนี้ยังไม่ชัดว่าประเทดศซีเรียในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการวางระบบใหม่ภายในซึ่งส่งผลในแง่การเป็นพันธมิตรระหว่างซีเรีย และอิสาราเอล ทำให้ความขัดแย้งของสองประเทศนี้ในอิสราเอลนั้นลดลงได้ซึ่งส่งผลดีต่อความสงบในตะวันออกกลางและส่งผลดีต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วย
อย่างไรก็ตามในพื้นที่ตะวันออกกลางมีความซับซ้อนและยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสู้รบกันได้ ซึ่งหากมีความรุนแรงเกิดขึ้นจะกระทบราคาน้ำมันโลก และส่งผลกระทบมายังราคาพลังงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการปิดเส้นทางขนส่งน้ำมันบริเวณช่องแคบฮอร์มุช
2.ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันมีความเสี่ยงขึ้นและเป็นประเด็นใหญ่ในบริเวณนี้ กรณีที่เกิดปัญหาระหว่างกันและเกิดความตรึงเครียดมากขึ้นจะกระทบบรรยากาศการค้าโลก อาจเกิดการขาดแคลนชิปเพราะไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิปรายสำคัญของโลก ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิปและกระทบกับการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งรถยนต์ที่ปัจจุบันต้องใช้ชิปมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตด้วย
3.ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายได้มากขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย แต่ต้องจับตา ว่าก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะหมดวาระลงจะมีการส่งมอบอาวุธอะไรให้ยูเครนสู้กับรัสเซีย หากส่งอาวุธที่มีสมรรถนะสูง และมีจำนวนมากก็จะทำให้ระยะเวลาในการสู้รบยาวนานออกไปได้