‘ส่งออก’ฝ่าสงครามการค้าลุ้น“อาเซียน-อินเดีย“ หนุนยอดปีนี้

‘ส่งออก’ฝ่าสงครามการค้าลุ้น“อาเซียน-อินเดีย“ หนุนยอดปีนี้

สรท.เผยส่งออกปี 68 แนวโน้มขยายตัวลดลงจากปี 67 เหตุสถานการณ์เศรษฐกิจไม่แน่นอน แนะใช้ประโยชน์จาก FTA พร้อมเร่งเจรจาข้อตกลงใหม่ขยายตลาด ลุ้นอาเซียน-อินเดีย ช่วยหนุน สนค.ประเมินนโยบายการค้าทรัมป์ 2.0 กดดันเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้ง จีน ยุโรป ญี่ปุ่น

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ"กรุงเทพธุรกิจ" ว่า ทิศทางการส่งออกและการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเสรีทางการค้าหรือเอฟทีเอท่ามกลางเศรษฐกิจปี 2568 ที่อยู่ภายใต้ความกดดัน ความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นการที่รัฐและเอกชนจะเร่งทำงานร่วมงานเพื่อให้การส่งออกไทยเติบโตได้ในช่วง 2-3% จะมีความท้าทายสูงมากๆ ต้องหาสินค้าที่เหมาะสมกับความต้องการของในแต่ละภูมิภาค

โดยตลาดอเมริกาและลาตินนั้น ตลาดอเมริกาสินค้าหลัก ๆ เช่น ชิ้นส่วนอีเลคทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์และอาหาร เป็นต้น ดังนั้นการส่งออกไปอเมริกาในปี 2568 ยังคงคาดการณ์เติบโต 4-5% 

ทั้งนี้สินค้าด้านอาหารสามารถเร่งขยายตลาดนี้ได้ในอนาคต แต่ควรเพิ่มมูลค่า และการเจาะหาตลาดใหม่ใน ลาติน อเมริกา ควรใช้สิทธิประโยชน์ FTA, Thai-Chile และ Thai-Peru ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะลาติน อเมริกาเป็นตลาดที่น่าสนใจในอนาคต

ส่งออกสินค้าเกษตรจีนรุ่ง-อินเดียขยายตัวสูง

ส่วนตลาดจีนและฮ่องกง แม้ว่าปี 2567 การส่งออกไปจีนอาจจะโตแค่เพียง 1% เท่านั้น จากการชะลอตัวเศรษฐกิจและการย้ายโรงงานบางส่วนมาตั้งในไทย อย่างไรก็ตามสินค้าเกษตรยังสามารถส่งออกได้ เช่น ยางพารา มันสำปะหลังและผลไม้ที่เป็นที่นิยมอย่างมาก 

ดังนั้นในปี 2568 ซึ่งป็นปีครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน ควรจะเร่งผลักดันการส่งออกอาจจะโต 1-2% และควรหาผลไม้อื่นๆมาเสริมทุเรียนที่ได้รับความนิยมสูงอยู่แล้ว เช่น น้ำมะพร้าว เป็นต้น 

นอกจากนี้การนำซอฟท์ พาวเวอร์ มาใช้ในปีหน้า โดยมองว่าจีนเป็นตลาดที่ดีที่สุดที่จะเร่งสร้างแบรนด์ของสินค้าไทย 

สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมจะต้องปรับตัวด้านราคา เนื่องจากสินค้าที่ผลิตในจีนจะมีมากกว่าความต้องการ ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างมากในสินค้าอุตสาหกรรม

‘ส่งออก’ฝ่าสงครามการค้าลุ้น“อาเซียน-อินเดีย“ หนุนยอดปีนี้

นายชัยชาญ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกไปตลาดตะวันออกกลาง ปี 2567 เติบโตประมาณ 4% แต่ปีนี้คาดการณ์จะเติบโต 4-5% เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูงทำให้ตลาดนี้ยังคงมีกำลังซื้อและการลงทุนอย่างต่อเนื่องได้ โดยสินค้ารถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยังสามารถส่งออกได้ตามสภาพเศรษฐกิจกำลังซื้อในตะวันออกกลาง 

ขณะที่สินค้าอาหารและอาหารสัตว์เลี้ยง ต้องเน้นคุณภาพและสร้างมูลค่าของสินค้า สร้างตราสินค้า การส่งเสริมเรื่องซอฟท์ พาวเวอร์ Thai Select และสินค้า HALAL จะต้องเน้นมากในตลาดนี้ เพราะเป็นตลาดยุทธศาสตร์ใหม่ 

โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE)และ ซาอุดิ อาราเบีย ซึ่งการเร่งเจรจา CETA/FTA Thai-UAE จะเป็นการเริ่มนับหนึ่งของความสัมพันธ์ด้านการค้าที่เข้มข้นขึ้นที่จะเร่งการส่งออกไป UAE ให้มากขึ้นและเป็นประตูไปสู่การขยาย FTA ทั่วภูมิภาค GCC ในอนาคต

ส่วนตลาดเอเชียใต้ ปี 2567 เติบโตสูงมากประมาณ 10% สำหรับปีนี้คาดการณ์โตต่อเนื่อง 4-5% เนื่องจากอินเดียมีการลงทุนต่อเนื่องในภาคการผลิต และช่วงที่ผ่านก็มามีการผลิตสูงมาก 

อีกทั้งมีการลงทุนระบบสาธารณูปโภคต่อเนื่อง ดังนั้นอินเดียจึงเป็นประเทศที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่จะต้องเน้นในปี 2568 โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่จะสนับสนุนการขยายตัวของภาคการผลิต ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น 

ขณะที่สินค้าอาหารและอาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้ จะต้องเร่งขยายให้มากขึ้น การเน้นเรื่องซอฟท์ พาวเวอร์ สำหรับอาหารจะได้ผลมากในตลาดอินเดียที่มีกำลังซื้อสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไทยต้องฉวยโอกาสสร้างแบรนด์ให้เป็นทางเลือกนอกจากสินค้าอาหารจากยุโรป

ยุโรปชะลอตัว กระทบสินค้าอุตสาหกรรม

ขณะที่ตลาดยุโรป การส่งออกปี 2567 ขยายตัวประมาณ 10% แต่ปีนี้คาดการณ์เติบโต 1-2% เท่านั้น จากสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในประเทศคู่ค้าหลักหลายแห่ง โดยสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบโดยตรง 

ส่วนสินค้าอาหารและเกษตรยังคงขับเคลื่อนได้ แต่ต้องระวังเรื่องกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่จะทยอยบังคับใช้มากขึ้น เช่น CBAM, EUDR, CSDDD ในรูปแบบการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tariff barrier) แต่หากผู้ส่งออกปรับตัวได้ เช่น EUDR ของยาพารา จะได้อานิสงส์ในด้านราคา 

"น่าเสียดายที่การบังคับใช้เลื่อนออกไปจากปี 2568 เป็น 2569 การเร่ง FTA-Thai-EU, Thai-EFTA จะช่วยอย่างมากในการขยายตลาดในอนาคตโดยเฉพาะสินค้าอาหาร"

ด้านตลาดอาเซียน การส่งออกปี 2567 เติบโตประมาณ 5% และปี 2568 คาดการณ์ 2-3% โดยสินค้าอุตสาหกรรมจะต้องตอบโจทย์ซัพพลาย เชน ที่จะเพิ่มขึ้นในอาเซียน และบางสินค้าจะต้องแข่งขันราคาอย่างมาก โดยเฉพาะกับจีนที่มีแนวโน้มทะลักเข้าในอาเซียน การปรับตัวด้านราคาถึงจะอยู่รอดได้ และสินค้าอาหารจะต้องเน้นซอฟท์ พาวเวอร์ Thai Select 

“การทำ FTA ที่มีอยู่ Thai-EFTA, Thai-EU, CEPA Thai-UAE ต้องเร็วเพื่อรุกตลาดขยายโอกาสการค้า การทำ MOU ระหว่างไทยกับมณฑลสำคัญ ๆ ของจีน เช่น เสฉวน น่าสนใจเพื่อเป็นประตูการค้าและการขนส่ง และครบรอบ 50 ปี ไทย-จีน" นายชัยชาญ กล่าว

อย่างไรก็ตามปี 2568 การเจรจาการค้าจะต้องระมัดระวังเรื่องการวางตัวเป็นกลางเพราะการค้าจะแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดเจนมากขึ้น ไทยต้องเน้นเป็นกลางชาติการค้า และอย่างลืมปกป้องผู้ประกอบการไทยจากการทุ่มตลาดจากสินค้าต่างประเทศ และให้เน้นการใช้วัตถุดิบในประเทศให้มากขึ้นจากนักลงทุนที่จะย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย

“พาณิชย์”ตั้งเป้าส่งออก 2-3%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า   กระทรวงฯ คาดการณ์ปี 2568 มูลค่าการส่งออกจะขยายตัว 2-3% ค่ากลาง 2.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 306,000-309,000 ล้านดอลลาร์ ค่ากลาง 307,500 ล้านดอลลาร์ จากฐานปี 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า 300,000 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.2% 

การประเมินดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลก ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์โลก และมาตรการกีดกันทางการค้าที่จะทวีความรุนแรงขึ้น ทั้้งนี้ได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายทางการค้าของสหรัฐแล้ว แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงจะต้องติดตามการประกาศมาตรการของสหรัฐ และประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญเช่น สหรัฐ จีน สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น จะเติบโตปานกลาง จากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐที่จะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งสร้างความเสี่ยงให้เงินเฟ้อกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง การชะลอการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายลงเพิ่มเติม จึงอาจจะไม่เห็นการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมมากนัก 

ขณะที่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงอยู่ และการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจจะกลับมารุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนสินค้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักจะช่วยเพิ่มการลงทุนและการบริโภคให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย

หวังตลาดอาเซียนเป็น“พระเอก”

ขณะที่ตลาดอาเซียนคาดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการส่งออกจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 

อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัว อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนและฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญของโลก และคว้าโอกาสจากการเบี่ยงเบนทางการค้า โดยฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

“ปี 2568 กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่จะรักษาตลาดส่งออกหลักเดิม ได้แก่ สหรัฐ จีน อาเซียน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และเพิ่มเติมตลาดรองที่มีศักยภาพ อาทิ เอเชียใต้ (อินเดีย) ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา”นายพูนพงษ์ กล่าว

ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี จากภาคการผลิตที่ได้ผลดีจากปริมาณน้ำมีเพียงพอซึ่งเป็นอิทธิพลของลานีญาตั้งแต่กลางปี 2567 

อย่างไรก็ตามความเสี่ยงจากปัญหาโลกร้อนจะยังคงส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อการผลิตภาคการเกษตร ค่าเงินบาทแข็งค่า การแข่งขันสูงและยังต้องเจอกับมาตรการการค้าที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้า 

โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง น้ำตาลทราย ยางพารา ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง

จับตาทรัมป์ฉุดอิเล็กฯคอมพิวเตอร์

ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยคาดว่าผู้ส่งออกจะเร่งส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะเริ่มมีสัญญาณชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะสหรัฐ จีน และยุโรป จากการออกมาตรการปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐ จะมีความชัดเจน 

อย่างไรก็ดีไทยได้รับประโยชน์จากการลงทุนย้ายฐานการผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการปรับโครงสร้างการผลิตของไทย เช่น Data Center รวมถึงการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เช่น wafer หรือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 

ทั้งนี้ สอดรับกับกระแสการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยที่จะพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาดโลกมากขึ้น รวมถึงช่วยให้เศรษฐกิจของไทยสามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว

สินค้าอุตสาหกรรมที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) รถยนต์ EV และเคมีภัณฑ์ 

อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าระวังสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 ได้แก่ กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ทั้งไทยและจีนมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เหมือนกัน และเกินดุลการค้ากับสหรัฐสูง