เกษตรฯ ดึงเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม GEd พัฒนาพันธุ์พืช ดันไทยขึ้นแท่นSeed hub

เกษตรฯ ดึงเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม GEd พัฒนาพันธุ์พืช ดันไทยขึ้นแท่นSeed hub

กรมวิชาการเกษตร ใส่เกียร์เดินหน้าพัฒนาพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีจีโนม เตรียมพร้อมเป็น Seed hub ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและปุ๋ย ผลผลิตสูง ยกระดับรายได้เกษตรกรไทย สร้างความมั่นคงทางอาหาร รับวิกฤตโลกเดือด

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ และเป็นครัวของโลก ได้มีแนวทางการขับเคลื่อนภาคการเกษตร  ยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางภาคเกษตรและอาหารของโลก ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนพัฒนาการดำเนินงานให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง ภาวะโลกเดือด หรือศัตรูพืชอุบัติใหม่ โดยภาครัฐมีหน้าที่วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือหาแนวทางในการป้องกันและดูแลที่เหมาะสมสำหรับภาคการเกษตรให้รอดพ้นในทุกสถานการณ์  ซึ่ง  โดย กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืช เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็น Seed hub ซึ่งเทคโนโลยีจีโนม (Gene Editing) หรือ GEd จะช่วยยกระดับรายได้ 3 เท่าของ 4 ปี ของเกษตรกรไทยได้อย่างแท้จริง

เกษตรฯ ดึงเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม GEd พัฒนาพันธุ์พืช ดันไทยขึ้นแท่นSeed hub

เทคโนโลยี GEd เป็นเทคนิคในการปรับเปลี่ยนและแก้ไขรหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต ที่มีความจำเพาะและแม่นยำ หรือแก้ไขให้ได้ยีนที่มีลักษณะตามต้องการ ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs มีความปลอดภัยสูง มีศักยภาพ ใช้ระยะเวลาสั้น ต้นทุนต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการประกาศใช้นโยบาย no transgene = not GMOs โดยถือว่าพืช GEd มีความปลอดภัยเช่นเดียวกับพืชปกติทั่วไป ซึ่งองค์กรนานาชาติ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ให้การยอมรับและสนับสนุน ที่สำคัญหลายประเทศทั่วโลกได้เร่งลงทุนงานวิจัยพัฒนาและอนุมัติการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GEd ในเชิงการค้าและการบริโภค อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลีญี่ปุ่น จีน อังกฤษ ฟิลิปปินส์เคนยา รัสเซีย และออสเตรเลีย

สำหรับพืชจากเทคโนโลยี GEd ที่ได้รับการอนุมัติใช้ประโยชน์ เพื่อรองรับวิกฤตการณ์ความมั่นคงทางอาหารของโลก ได้แก่ มะเขือเทศ (ญี่ปุ่น) ถั่วเหลือง (สหรัฐอเมริกา) กล้วย (ฟิลิปปินส์) ทั้งนี้ยังมีพืชที่อยู่ระหว่างรอการอนุมัติเชิงพาณิชย์หรืออยู่ในขั้นการศึกษาวิจัย เช่น มันฝรั่งปรับแต่งจีโนมต้านทานโรค (สหรัฐอเมริกา), ถั่วเหลืองโปรตีนสูงปรับแต่งจีโนมและมะเขือเทศปรับแต่งจีโนมทนแล้งและเพิ่มผลผลิต (จีน) เป็นต้น 

เกษตรฯ ดึงเทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม GEd พัฒนาพันธุ์พืช ดันไทยขึ้นแท่นSeed hub

ซึ่งข้อดีของเทคโนโลยี GEd คือ สามารถแก้ไขรหัสพันธุกรรมของยีนเป้าหมายได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว สามารถปรับปรุงให้พืชมีความแข็งแรงทนทานต่อภัยคุกคามด้านสภาพภูมิอากาศและศัตรูพืชอุบัติใหม่ ลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรและปุ๋ย อีกทั้งช่วยทำให้ผลผลิตมีปริมาณสูงและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและรองรับวิกฤตโลกเดือด

สำหรับในด้านงานวิจัย กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการสร้างเครือข่ายด้านการวิจัยการปรับแต่งจีโนมระดับประเทศ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาคราชการต่างๆ เพื่อสร้างพืช GEd ทดแทนการนำเข้า เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลือง พืช GEd พลังงาน เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน รวมถึงพืช Ged ผักและสมุนไพร พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้มีการปรับปรุงพันธุ์และพัฒนาพันธุ์พืชใหม่ ส่วนในระดับนานาชาติ กรมวิชาการเกษตรได้เตรียมความพร้อมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายกับต่างประเทศ ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีGEdเพื่อพัฒนาสายพันธุ์พืชGEdและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยกับสถาบันในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น เป็นต้น

“แนวทางการขับเคลื่อนเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม กรมวิชาการเกษตรได้ผสานความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ส่งเสริมในด้านการวิจัยและการกำกับดูแล เพื่อพัฒนาสิ่งมีชีวิตที่ได้จากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม สู่การใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ยกระดับพัฒนาศักยภาพ และสร้างความเข้มแข็งภาคการเกษตรของประเทศ ให้สามารถรองรับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาวะโลกเดือดที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเกษตรและอาหารของโลก พร้อมสนับสนุนเร่งวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยี GEd โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณวิจัย สวก. และ สกสว. ในการส่งเสริมพัฒนานักวิจัยไทยไปเรียนรู้เทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกา รวมถึงได้ร่วมมือกับภาคเอกชนที่เป็นผู้นำเทคโนโลยีในการพัฒนาทดสอบในสภาพแปลงทดลอง ซึ่งคาดว่าในปี 2568 จะสามารถนำร่องขับเคลื่อนด้านการกำกับดูแลได้อย่างเป็นรูปธรรม”