คนเลิกอ่านหนังสือเป็นเล่ม ดัน ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ "กลุ่ม e-Book "โตแรง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชู ‘ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์’ มาแรงในเทรนด์โลก เผย กลุ่ม e-Book สามารถทำรายได้และกำไรได้ดีที่สุด เหตุคนเลิกอ่านหนังสือเป็นเล่ม ขณะที่กลุ่มคาแรคเตอร์น่าจับตามอง นักออกแบบไทยกำลังโดดเด่น สามารถต่อยอดมูลค่าสู่ตลาดการผลิตสินค้าคาแรคเตอร์ได้
KEY
POINTS
Key Point
- ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์’ มาแรงในเทรนด์โลก
- ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (ณ วันที่ 30 พ.ย. 2567) พบว่ามีจำนวนทั้งหมด 1,071 ราย ทุนจดทะเบียน 4,806 ล้านบาท
- ปี 2566 กลุ่ม e-Book มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3,971 ล้านบาท สร้างรายได้ 3,162 ล้านบาท กำไร 107 ล้านบาท
- กลุ่ม e-Book มาแรง เหตุคนเลิกอ่านหนังสือเป็นเล่ม -สื่อสิ่งพิมพ์ หันมาอ่านสื่อออนไลน์
- รองลงมาเป็นกลุ่มคาแรคเตอร์ เช่น Butter Bear หรือหมีเนย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้วิเคราะห์ธุรกิจที่น่าจับตามองและชี้ช่องโอกาสทั้งตลาดในประเทศไทยและโลกโดยในครั้งนี้พบว่า ‘ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์’ กำลังเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อตลาดโลก เพราะได้ก้าวเข้าสู่ศตวรรษแห่งยุคดิจิทัลที่รอบตัวเราเต็มไปด้วยเครื่องมือสารอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็น Smart Phone, Smart TV, แท็บเล็ต หรือสื่อโฆษณาดิจิทัลก็ดี จะต้องได้รับการผลิตข้อมูลที่จะใส่ไปในเครื่องมือต่างๆ ที่ต้องใช้ทักษะความสามารถเฉพาะทางจากนักสร้างคอนเทนต์ (Digital Content Creator) นั่นเอง จึงเป็นที่มาของการเกิดธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ขึ้น
จากข้อมูลนิติบุคคลในธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ (ณ วันที่ 30 พ.ย. 2567) พบว่า
จำนวนทั้งหมด 1,071 ราย ทุนจดทะเบียน 4,806 ล้านบาท แบ่งเป็นประเภทดังนี้
1.แอนิเมชั่น คาแรคเตอร์ จำนวน 299 ราย ทุนจดทะเบียน 1,464 ล้านบาท เกม จำนวน 257 ราย ทุนจดทะเบียน 1,217 ล้านบาท
2.e-Book จำนวน 515 ราย ทุนจดทะเบียน 2,125 ล้านบาท
โดยจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดมากที่สุด จำนวน 993 ราย หรือ 92% ทุนจดทะเบียน 4,211 ล้านบาท รองลงมาเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญ จำนวน 74 ราย ทุนจดทะเบียน 61.46 ล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 4 ราย ทุนจดทะเบียน 535 ล้านบาท
ส่วนใหญ่จัดตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคเหนือ ตามลำดับ ด้านการลงทุนจากชาวต่างชาติพบว่า มีมูลค่าการลงทุน 834 ล้านบาท แบ่งเป็น แอนิเมชั่น/ คาแรคเตอร์ 272 ล้านบาท เกม 422 ล้านบาท และ e-Book 139 ล้านบาท ประเทศที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 ลำดับแรกได้แก่ มาเลเซีย 172 ล้านบาท ญี่ปุ่น 146 ล้านบาท และฮ่องกง 117 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ในเชิงลึกจะพบว่า ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ประเภท e-Book (คิดเป็น 48% ของธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ทั้งหมด) เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงสามารถสร้างรายได้และกำไรได้ดีที่สุดต่อเนื่อง โดยปี 2566 กลุ่ม e-Book มีมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 3,971 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตและบริโภคในประเทศ สร้างรายได้ 3,162 ล้านบาท กำไร 107 ล้านบาท
"ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ของไทยประเภท e-Book มาแรงสร้างรายได้และกำไรดี เนื่องจาก เป็นที่ธุรกิจรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ที่เปลี่ยนผ่านจาก สื่อสิ่งพิมพ์เข้าสู่โลกออนไลน์ และการปิดตัวของร้านหนังสือส่งผลให้ผู้คนเปลี่ยนจากการอ่านหนังสือเป็นเล่มมาเป็นการอ่านผ่านเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่สะดวกต่อการพกพาไปที่ต่างๆ และมีเนื้อหาที่หลากหลายเข้าถึงได้ง่ายตามความสนใจ"
นอกจากนี้ กลุ่มคาแรคเตอร์ ก็เป็นที่น่าจับตามองเพราะเริ่มมีนักออกแบบคาแรคเตอร์ชาวไทยที่สามารถสร้างผลงานให้เป็นที่รู้จักอย่าง Plaplatootoo ซึ่งได้รับไอเดียมาจากปลาทูแม่กลอง และบางรายยังสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศและยังเชื่อมโยงกับ ธุรกิจ Art Toy ที่กำลังเป็นกระแสนิยม
กลุ่มคาแรคเตอร์ ยังสามารถต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้า merchandise ประเภทต่างๆ ได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น การสร้างคาแรคเตอร์ของ Butter Bear หรือหมีเนยที่เป็นจุดเริ่มต้นจากร้านขนมที่สื่อสารผ่านมาสคอตคาแรคเตอร์หมี จนเป็นที่โด่งดังและมีสินค้าที่เป็นตัวแทนของ Butter Bear ออกสู่ตลาดตามมา
“อรมน ทรัพย์ทวีธรรม “อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ให้ข้อมูลว่า ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ ในประเทศไทยแม้จะไม่ได้ดูหวือหวาเหมือนในตลาดต่างประเทศเพราะยังมีความท้าทายใน 3 ด้านคือ
1.เงินทุน ที่เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจนี้เติบโตไปได้โดยเฉพาะการจ้าง Content Creator ที่มีฝีมือดีที่มีค่าตัวที่สูง เครื่องมือที่ใช้ผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ อย่างอุปกรณ์ Hardware และ Software ที่ถือเป็นต้นทุนสูงทำให้ธุรกิจขนาดเล็กยังเข้าไม่ถึงมากนัก
2. บุคลากร สิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจนี้ นักออกแบบคอนเทนต์ของไทยถือว่ามีความสามาถที่ดีแต่ยังขาดตลาดในประเทศที่ช่วยพัฒนาทักษะให้เติบโตขึ้น ทำให้นักออกแบบต้องออกไปหาประสบการณ์ในต่างประเทศจึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ประเทศไทยไม่มีเวทีที่กว้างพอให้นักออกแบบกลุ่มนี้ได้มีโอกาสแสดงความสามารถและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในประเทศ
3.ตลาด ส่วนใหญ่แล้วตลาดในประเทศไทยจะเป็นการส่งออกคอนเทนต์ไปยังต่างประเทศมากกว่าการบริโภคในประเทศ
อย่างไรก็ดี ยังมีพื้นที่อีกมากที่รอนักลงทุนไทยมาครองตลาดในปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับภาครัฐได้เห็นความสำคัญของธุรกิจนี้ หลายหน่วยงานได้สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนผลักดันให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้โดยการจัดงานแสดงศักยภาพต่างๆ พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยีในการผลิต การออกมาตรการช่วยเหลือที่สอดรับกับความต้องการของธุรกิจโดยตรง รวมถึงการส่งเสริม Thai Style ที่จะเป็นจุดแข็งสร้างความแตกต่างบนตลาดโลก สะท้อนวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างแดน