ส่องความคืบหน้า 'รถไฟทางคู่สายใหม่' เหนือ – อีสาน ปักธงเปิดบริการปี 71
การรถไฟฯ เปิดความคืบหน้างานก่อสร้าง 2 โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายเด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ และสายบ้านไผ่ – มุกดาหาร – มหาสารคาม – นครพนม โครงข่ายยุทธศาสตร์สำคัญเชื่อมการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ ปักธงเตรียมเปิดให้บริการในปี 2571
KEY
POINTS
- การรถไฟฯ เปิดความคืบหน้างานก่อสร้าง 2 โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ สายเด่นชัย - เชียงราย – เชียงของ พบผลงานก่อสร้างสูงสุดกว่า 25% ขณะที่สายบ้านไผ่ – มุกดาหาร – มหาสารคาม – นครพนม ผลงาน 16%
- 'สุริยะ' เร่งผลักดันให้แล้วเสร็จตามแผนปักธงเตรียมเปิดให้บริการในปี 2571 หวังดันเป็นโครงข่ายยุทธศาสตร์สำคัญเชื่อมการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ของประเทศไทย เพื่อขยายโครงข่ายระบบรางและเป็นอีกเส้นทางเพิ่มขีดความสามารถการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ
โดยในปี 2561 ครม.เห็นชอบให้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย – เชียงราย - เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงินรวมทั้งสิ้น 72,921 ล้านบาท หลังจากนั้นในปี 2562 เห็นชอบดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร - นครพนม ระยะทางรวม 355 กิโลเมตร วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท
โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างโครงการดังนี้
1. เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ
- สัญญา 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 26,560 ล้านบาท ผลงาน 18.643% เร็วกว่าแผนงาน 4.746 %
- สัญญา 2 ช่วงงาว –เชียงราย ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 26,890 ล้านบาท ผลงาน 25.082% ช้ากว่าแผนงาน 6.300%
- สัญญา 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 19,385 ล้านบาท ผลงาน 20.741% ช้ากว่าแผนงาน 16.704% เนื่องจากติดปัญหาการเวนคืนที่ดิน
2. บ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม
- สัญญา 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 27,095 ล้านบาท ผลงาน 16.050% ช้ากว่าแผนงาน 21.409%
- สัญญา 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 28,306 ล้านบาท ผลงาน 0.329% ช้ากว่าผลงาน 33.311% เนื่องจากติดปัญหาการเวนคืนที่ดิน
“สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า เป้าหมายในปี 2568 กระทรวงฯ จะต้องเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ ซึ่งเป็นการเปิดโครงข่ายรถไฟใหม่ ไปยังจังหวัดที่ไม่เคยมีรถไฟเข้าถึงมาก่อน จำนวน 2 เส้นทาง คือ สายบ้านไผ่ – มุกดาหาร – มหาสารคาม - นครพนม เป็นการต่อขยายเส้นทางรถไฟให้ครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และสายเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ เป็นการต่อขยายเส้นทางไปจังหวัดเชียงรายเชื่อมต่อชายแดนที่เชียงของ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2571
อย่างไรก็ดี โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ถือเป็นเส้นทางสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สามารถรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดนและผ่านแดน ตลอดจนเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย – เชียงราย - เชียงของ หนึ่งในโครงการพัฒนาระบบรางภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยในแผนงาน 1 การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง โดยโครงการนี้จะมีอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายใหม่
สำหรับแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ สิ้นสุดที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ระยะทาง 323.1 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก ตามหลัก Universal Design และยังมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทาง
รวมไปถึงมีสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง ทางรถยนต์ลอดรถไฟ 102 แห่ง มีทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีลานขนถ่ายสินค้า 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ
ส่วน โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ – มหาสารคาม – ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร - นครพนม เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร และนครพนม โดยโครงการจะมีการก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่ จำนวน 30 สถานี 1 ชุมทาง ลานบรรทุกตู้สินค้า 3 แห่ง และย่านกองตู้สินค้า 3 แห่ง มีโรงซ่อมบำรุงบริเวณสถานีภูเหล็ก (จังหวัดขอนแก่น)
อีกทั้งยังมีการออกแบบถนนยกข้ามทางรถไฟ (Overpass) จำนวน 81 แห่ง มีถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) จำนวน 245 แห่ง พร้อมการก่อสร้างรั้วสองข้างทางตลอดแนวเส้นทางรถไฟ ทั้งนี้งานก่อสร้างจะเป็นแนวเส้นทางระเบียบเศรษฐกิจด้านตะวันออก - ตะวันตก เชื่อมโครงข่ายรถไฟเดิมไปยังท่าเรือแหลมฉบัง ส่วนด้านตะวันออกจะเชื่อมไปยังโครงการศูนย์การขนส่งสินค้าชายแดน จังหวัดนครพนม