การทางพิเศษฯ ชู 2 โครงการเรือธง ประมูลปีนี้กว่า 3 หมื่นล้าน
การทางพิเศษฯ ชู 2 โครงการเรือธงปีนี้ ดันสร้างทางด่วนกะทู้ - ป่าตอง และทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ เสนอเข้า ครม.เปิดประมูลเม็ดเงินรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท พร้อมเปิดใช้ “สะพานทศมราชัน” ภายใน 29 ม.ค.นี้
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนทางพิเศษ (ทางด่วน) ในปี 2568 โดยระบุว่า ปีนี้ กทพ.มี 2 โครงการเรือธงที่จะเร่งผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเปิดประกวดราคาต่อไป โดยมีวงเงินลงทุนรวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท และโครงการทางพิเศษ สายกระทู้ - ป่าตอง มูลค่าลงทุน 14,670 ล้านบาท
สำหรับสถานะของทั้งสองโครงการดังกล่าว ปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. และเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้ว โดยส่วนของโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ – ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ส่วนโครงการทางด่วนสายกระทู้ - ป่าตอง ปัจจุบันทางสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังให้ความเห็นแล้ว ขณะที่ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีความเห็นให้ศึกษาเกี่ยวกับปริมาณการใช้บริการเพิ่มเติม เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของ ครม.
อย่างไรก็ดี กทพ.ยังคงรูปแบบดำเนินโครงการทางด่วนสายกะทู้ - ป่าตอง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ - ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร และระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่ - เกาะแก้ว – กะทู้ ระยะทาง 30.62 กิโลเมตร โดยขณะนี้จะเร่งดำเนินการส่วนระยะที่ 1 ช่วงกะทู้ - ป่าตองก่อน เนื่องจากโครงสร้างงานนี้จะเป็นการก่อสร้างงานอุโมงค์ จึงคาดว่าต้องใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปีแล้วเสร็จ ส่วนระยะที่ 2 ช่วงเมืองใหม่ - เกาะแก้ว - กะทู้ จะเร่งดำเนินการภายในปี 2569 เนื่องจากคาดว่าเส้นทางนี้จะใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปีแล้วเสร็จ ดังนั้นโครงการทางด่วนจังหวัดภูเก็ตจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการครบทั้งเส้นทางในปี 2571
“ตอนนี้การทางฯ เสนอแผนเพื่อดำเนินโครงการทางด่วนภูเก็ตเป็น 2 ระยะ เพราะต้องเร่งก่อสร้างช่วงกะทู้ - ป่าตองก่อน ซึ่งโครงการนี้การทางฯ จะลงทุนก่อสร้างเอง และเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ภาครัฐจัดเก็บรายได้ทั้งหมดและชดเชยค่าตอบแทนให้เอกชน ดังนั้นเอกชนไม่ต้องรับความเสี่ยงสูง จึงเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากเอกชนร่วมลงทุน“
นายสุรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในปีนี้ กทพ.ยังเตรียมเปิดให้บริการโครงการใหม่ คือ สะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก โดยเบื้องต้นจะมีการเปิดให้ประชาชนใช้บริการในเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเป็นวันที่ 28 ม.ค.2568 หรือ 29 ม.ค.2568 ส่วนตลอดแนวเส้นทางของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตกในช่วงปลายปี 2568
สำหรับ “สะพานทศมราชัน” เป็นสะพานคู่ขนานแห่งแรกของประเทศไทยที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย กทพ. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพานทศมราชัน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความปราบปลื้มแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าในพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้
และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและสร้างประวัติศาสตร์ก่อนการเปิดใช้สะพานทศมราชัน กทพ. จึงมีการจัดงาน “มหกรรมสุขเต็มสิบ” ระหว่าง วันที่ 10-19 ม.ค. 2568 เวลา 16.00-22.00 น. เป็นเวลา 10 วัน โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมสะพานทศมราชัน พร้อมถ่ายภาพและเลือกชมสินค้า OTOP จากชุมชน ภายในงานได้รวมร้านค้าจากชุมชนและพันธมิตรกว่า 50 ร้านค้า
อีกทั้ง กทพ. ขอเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน กิจกรรมเดิน-วิ่งสร้างประวัติศาสตร์ ในวันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค. 2568 บนสะพานทศมราชัน นับเป็นการจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าสะพานแห่งนี้จะไม่เพียงเป็นโครงสร้างสำคัญ แต่ยังกลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของประเทศไทยอีกด้วย
สำหรับการเปิดใช้สะพานทศมราชัน ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ดังนี้
- ทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ สามารถใช้ทางขึ้นบริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อใช้งานสะพาน โดยสามารถวิ่งเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานคร มุ่งหน้าบางนา - ดินแดง และทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ - ถนนพระราม 9 บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่
- ทิศทางขาออกกรุงเทพฯ สามารถใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ผ่านจุดเชื่อมต่อเข้ามาที่สะพานฯ บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลง บริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ไปเพื่อถนนพระรามที่ 2 ได้