หนี้สาธารณะไทยจ่อแตะ 70% ใน 4 ปี สภาพัฒน์ – แบงก์ชาติ แนะเพิ่มพื้นที่การคลัง
สภาพัฒน์ - ธปท.ประสานเสียงเตือนระดับหนี้สาธารณะไทยสูง หลังกรอบการคลังระยะปานกลาง 2569 - 2572 ระดับหนี้สาธารณะสิ้นสุดแผน 69.3% แนะเพิ่มพื้นที่การคลังรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น ให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพ และลดรายจ่ายภาครัฐ
ภาระการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีเพิ่มขึ้นทั้งจากภารกิจ รายจ่ายประจำ การใช้เงินงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณในการเยียวยาเศรษฐกิจจากวิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากที่เคยอยู่ในระดับประมาณ 40% ของจีดีพีในช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 มาอยู่ที่ระดับเกินกว่า 60% ของจีดีพี และจากรายงานเรื่องแผนการคลังระยะปานกลาง (2568 – 2572) ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดพบว่าระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยยังมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากระดับ 65.6% ต่อจีดีพีในปัจจุบันเพิ่มไปสู่ระดับ 69.3% ต่อจีดีพีในปีงบประมาณ 2572
ซึ่งเกือบจะชนเพดานตามกรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ที่ 70% ของจีดีพีซึ่งถือว่าเป็นระดับที่พื้นที่ทางการคลังของประเทศเหลือไม่เพียงพอที่จะรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ระดับหนี้สาธารณะของไทยตามรายงานฉบับดังกล่าวมีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2568 ขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 8.657 แสนล้านบาท คิดเป็น 65.7% ของจีดีพี ปีงบประมาณ 2569 หนี้สาธารณะอยู่ที่ 8.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 67.3% ของจีดีพี ปีงบประมาณ 2570 ขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 7.586 แสนล้านบาท คิดเป็น 68.5% ของจีดีพี ปีงบประมาณ 2571 ขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 7.219 แสนล้านบาท คิดเป็น 69.2%ของจีดีพี และปีงบประมาณ 2572 ขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 7.033 แสนล้านบาท คิดเป็น 69.3%ของจีดีพี
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่าแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 - 2572) ของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เมื่อได้พิจารณาตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมถึงประเด็นความเสี่ยงทางการคลัง และการดำเนินนโยบายการคลังตามที่ปรากฏในรายงานความเสี่ยงทางการคลัง โดยครบถ้วนแล้ว ครม.สามารถที่จะเห็นชอบได้
'สภาพัฒน์' ชี้หนี้สาธารณะใกล้ 70% ต่อจีดีพี
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตว่า สถานะทางการคลังตามแผนการคลังระยะปานกลางฉบับนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อจีดีพีปรับตัวสูงขึ้งขึ้นเข้าใกล้ 70% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใช้เป็นกรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐและสัดส่วนรายได้รัฐบาลต่อจีดีพียังคงต่ำกว่า15% ขณะที่สัดส่วนงบประมาณรายจ่ายต่อจีดีพีเฉลี่ย ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ทางการคลังลดลง และอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง
ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกรณีฐานจนทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในระดับสูงเกินกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณรายจ่ายมากขึ้นในการประคับประคองและแก้ไขปัญหา
ดังนั้นการเร่งรัดการสร้างเสถียรภาพทางการคลังจึงมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อการลดขนาดการขาดดุลงประมาณรวม
สภาพัฒน์แนะเร่งเพิ่มพื้นที่การคลัง
รวมทั้งความชัดเจนในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ ตลอดจนการจัดสรรงบชำระหนี้ของรัฐบาลให้สอดคล้องกับขนาดของมูลหนี้และดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีงบประมาณ เพื่อสร้างความเชื่อมันและลดความเสี่ยงจากการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือ และเพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) ที่เพียงพอสำหรับรองรับความเสียงทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยะยาวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในระยะถัดไปที่มีความซับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในด้านความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด
แบงก์ชาติเห็นด้วยเร่งฟื้นฟูสภาพการคลัง
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความเห็นว่าการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 - 2572) ธปท.พิจารณาเสนอความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องนั้น ธปท. พิจารณาแล้วไม่ชัดข้อง เนื่องจากเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 4/2567 และอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายทางการคลังที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นด้วยกับกับแนวทางการดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลางที่เน้นฟื้นฟูสภาพทางการคลังให้กลับสู่สภาวะที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต
ซึ่งรวมถึงการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ให้เกิดประสิทธิผลโดยเร็ว ใช้นโยบายที่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้เท่าที่จำเป็น มีแนวทางปรับลดรายจ่ายเพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังในระยะยาว
รวมทั้งชำระคืนต้นเงินกู้ของหนี้สาธารณะอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยบรรเทาแรงกดดันจากหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยภาครัฐ อีกทั้งรักษาพื้นที่ทางการคลังสำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นขึ้นในระยะข้างหน้า