‘ศิริกัญญา’ ตั้งคำถาม ‘แพทองธาร’ จัดลำดับสำคัญอย่างไร ทำไมไม่ประชุมทำงบฯ69

‘ศิริกัญญา’ ตั้งคำถาม ‘แพทองธาร’  จัดลำดับสำคัญอย่างไร ทำไมไม่ประชุมทำงบฯ69

การประชุมจัดทำงบประมาณระหว่างรัฐบาลกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ วางกรอบงบประมาณปี 2569 แพทองธารไม่นั่งหัวโต๊ะประชุมเอง แต่มอบ รองนายกฯพิชัย เป็นประธานแทน เคาะกรอบงบฯ3.78 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 8.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 4.3% จีดีพี

KEY

POINTS

  • การประชุมจัดทำงบประมาณระหว่างรัฐบาลกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ วางกรอบงบประมาณปี 2569  แพทองธารไม่นั่งหัวโต๊ะประชุมเอง แต่มอบ รองนายกฯพิชัย เป็นประธาน
  •  ที่ประชุมเคาะกรอบงบฯ3.78 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 8.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 4.3% จีดีพี 
  • ศิริกัญญา ตั้งคำถามถึงนายกฯจัดลำดับความสำคัญอย่างไร เพราะการทำงบประมาณถือว่ามีความสำคัญมากในทางบริหาร
  • ชี้งบฯขาดดุลยังพุ่ง นายกฯควรชี้แจงกับหน่วยงานเศรษฐกิจด้วยตัวเองถึงทิศทาง เป้าหมายใช้งบฯของรัฐบาล 

การจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ได้เริ่มต้นตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา เมื่อหน่วยงานเศรษฐกิจ 4 หน่วยงานได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มีการหารือกับ “รัฐบาล” ในการจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่าย โดยข้อมูลสำคัญคือการประมาณการรายได้ และรายจ่ายของรัฐบาล การคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจ และนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการจัดทำงบประมาณ

นายกฯมอบ รมว.คลังนั่งหัวโต๊ะ

โดยความสำคัญของงบประมาณที่เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจัดสรรงบประมาณที่เป็นส่วนกำหนดทิศทางการทำงานของรัฐบาล ที่ผ่านมาการประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจนี้ผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะมานั่งหัวโต๊ะเป็นประธานด้วยตนเอง เพื่อรับฟังข้อมูล และมอบนโยบาย ทั้งนี้ข้อน่าสังเกตที่เกิดขึ้นในการจัดทำงบกรอบงบประมาณในครั้งนี้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ได้นั่งเป็นประธานการประชุมเอง แต่มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานประชุมร่วมกับ 4 หน่วยงาน

โดยที่ประชุมฯได้เคาะกรอบงบประมาณปี 2569  3.78 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 8.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณ 4.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยมีระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นปีงบประมาณอยู่ที่ 67.3%

ศิริกัญญา ถามนายกฯลำดับความสำคัญอย่างไร?

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชนฝ่ายนโยบาย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเรื่องการจัดทำกรอบงบประมาณนั้นมีขอบเขตที่กว้างกว่างานของกระทรวงการคลัง ดังนั้นคนที่ควรจะมานั่งเป็นประธานการในการจัดทำกรอบงบประมาณควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่าที่จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากการประชุมนี้นายกรัฐมนตรีควรจะเป็นผู้ชี้แจงให้หน่วยงานเศรษฐกิจรับทราบทิศทาง นโยบาย และยุทธศาสตร์ในการจัดสรรงบประมาณว่ารัฐบาลจะเน้นการทำงบประมาณในเรื่องใด

โดยเฉพาะงบประมาณปี 2569 นั้นเป็นงบประมาณที่รัฐบาลปัจจุบันนั้นจัดทำเองทั้งหมดเป็นปีแรกนายกรัฐมนตรีจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่าภารกิจอื่นๆ ซึ่งการที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาประชุมด้วยตัวเองก็สะท้อนเรื่องการจัดลำดับความสำคัญในการทำงานของนายกรัฐมนตรีได้เป็นอย่างดี

“การจัดทำงบประมาณปี 2569 นั้นตัวเลขงบประมาณนั้นยังเพิ่มสูง สัดส่วนการขาดดุลงบประมาณสูงถึง 8.6 แสนล้านบาท หรือ 4.3% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับความยั่งยืนทางการคลัง ที่ระบุว่าไม่ควรขาดดุลฯเกิน 3% ของจีดีพี ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจึงควรเป็นผู้ที่ชี้แจงถึง direction ของรัฐบาลว่าเป็นอย่างไร มีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องทำงบประมาณขาดดุลจำนวนมากซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีจะต้องรู้มากที่สุดเพราะการจัดสรรงบประมาณนั้นครอบคลุมทุกกระทรวง หน่วยงาน ไม่ใช่แค่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง”นางสาวศิริกัญญา กล่าว 

ชี้บทบาทรมว.คลังต้องเบรกใช้งบฯไม่จำเป็น

นอกจากนี้ในกรณีที่มีการมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานนั้น ก็จะคล้ายกับในอดีตสมัยที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และควบตำแหน่ง รมว.คลัง ด้วย ซึ่งทำให้บทบาทหน้าที่มีความขัดแย้งกันเพราะโดยปกติแล้วบทบาทของกระทรวงการคลังจะต้องมีหน้าที่ในการแตะเบรกการใช้งบประมาณ ในส่วนที่เกินกว่าความจำเป็นเพื่อไม่ให้กระทบกับฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว

แต่เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาทำหน้าที่ในฐานะประธานแทนนายกบทบาทในการแตะเบรกการใช้งบประมาณจะลดน้อยลงไป ซึ่งเป็นอันตรายต่อการคลังของประเทศในระยะยาวได้เช่นกัน

เมื่อถามว่าในการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง 2569 – 2572 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปนายกรัฐมนตรีได้มีการมอบนโยบายเรื่องการจัดทำงบประมาณให้กับกระทรวง และหน่วยงานปฎิบัติไปแล้วเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่าในการประชุม 4 หน่วยงานเศรษฐกิจนั้นจะมีการหารือกันในรายละเอียดมากกว่าเพื่อจัดทำกรอบงบประมาณในปี 2569 ซึ่งจะนำไปส่งต่อให้กับส่วนราชการต่างๆเพื่อจัดทำคำของบประมาณของหน่วยงานต่างๆต่อไปซึ่งหากนายกรัฐมนตรีสื่อสารในเรื่องนี้ออกไปและพูดคุยกับหน่วยงานเศรษฐกิจจะตรงกว่าการที่สั่งการใน ครม.

จับตาตั้งงบลงทุนฯโปะดิจิทัลวอลเล็ต

นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่าในเรื่องการจัดทำงบประมาณปี 2569 นั้นต้องจับตาดูในเรื่องของงบลงทุนฯที่จะเพิ่มขึ้น โดยจากข่าวที่ระบุว่าจะมีการเพิ่มงบลงทุนฯ 1.2 แสนล้านบาท โดยลดงบประจำลงก็ต้องดูด้วยว่าในส่วนของงบลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นนั้นเป็นการนำไปใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาใน 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมาก็มีการตั้งงบลงทุนเพิ่มแต่นำไปใช้ในโครงการแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยในส่วนของดิจิทัลวอลเล็ตหรือแจกเงินเฟส 3 นั้นก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปจัดสรรเป็นงบประมาณของโครงการนี้ และจะแจกเงินลงมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ หรือต้นปีงบประมาณ 2569