4 ปัจจัยชี้วัด ‘รัฐบาลแพทองธาร’ เศรษฐกิจ-การเมือง ปรับครม.ไตรมาสแรก?
4 ปัจจัยวัด ‘รัฐบาลแพทองธาร’ เศรษฐกิจกู้เรตติ้ง ลุ้น‘เหลี่ยมการเมือง’ ปรับครม.ไตรมาสแรก? จับสัญญาณ“ใน-นอกสภา” รอจังหวะ“หักดิบ”
KEY
POINTS
- กว่า 4 เดือนของ “รัฐบาลแพทองธาร” ท่ามกลางสารพัดปัจจัยที่รุมเร้า ทั้งหมดทั้งมวลอาจจะยังต้องลุ้นกันที่หลากหลายเหตุการณ์
- จับตาสารพัดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉบับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบนโยบายประชานิยมที่จะถูกปล่อยออกมาต่อจากนี้ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญ
- ท่ามกลางสัญญาณการ “ปรับครม.” เพื่อรีเซ็ต “สูตรใหม่” มีการประเมินว่า จะเกิดขึ้นช่วง“ไตรมาสแรก” หรือ“ต้นไตรมาส 2”ของปี 2568?
- เกมสภาฯ ส่งสัญญาณเปิดฉากเป็นระยะ สะท้อนถึง “เกมหักเหลี่ยม” ในหลายชั้นหลายตอน ท่ามกลางสัญญาณที่ส่อแวว “หักดิบ” อีกรอบ
- การเมืองนอกสภาฯ การรวมตัวของกลุ่มการเมือง เพื่อสร้างแรงกดดันไปยังรัฐบาลในเวลานี้ในมิติการเมือง และความมั่นคง อาจมองว่า เป็นเพียง “ไม้ขีดไฟก้านน้อย” และยังไร้เชื้อเพลิงทำลายล้างรัฐบาล ทว่า หลากหลายปมร้อนอาจกลายเป็นเชื้อเพลิงของกลุ่มที่จ้องผสมโรง หวังผลเพื่อเขย่ารัฐบาล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เปิดเผยเมื่อวันที่ 5 ม.ค.2568 ถึงผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การเมือง เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต ในปี 2568” ระหว่างวันที่ 16-18 ธ.ค. 2567
คำถามแรกคือ สถานการณ์ทางการเมืองไทยโดยทั่วไป ในปี 2568 เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่พบว่า 50.61% ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมือง จะวุ่นวายเหมือนเดิม 39.92% ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมือง จะวุ่นวายมากขึ้น 7.33% ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมือง จะวุ่นวายน้อยลง เป็นต้น
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับรัฐบาล ของ “นายกฯอิ๊งค์”แพทองธาร ชินวัตร ในปี 2568
พบว่า 51.22% ระบุว่า นายกฯ จะอยู่ยาวตลอดทั้งปี 21.60% ระบุว่า รัฐบาลจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี 15.34% ระบุว่า จะมีการยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่ 2.82% ระบุว่า นายกฯ จะโดนคดีความทางการเมืองจนต้องหลุดจากตำแหน่ง 1.76% ระบุว่า นายกฯ จะเปิดทางให้ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกรัฐมนตรีแทน เป็นต้น
ไม่ต่างจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 เมื่อเทียบกับปี 2567 พบว่า 34.35% ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะแย่เหมือนเดิม 32.82% ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะแย่ลง 21.99% ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะดีขึ้น 10.84% ระบุว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะดีเหมือนเดิม
แน่นอนว่า กว่า 4 เดือนของ “รัฐบาลแพทองธาร” ท่ามกลางสารพัดปัจจัยที่รุมเร้า ทั้งหมดทั้งมวลอาจจะยังต้องลุ้นกันที่หลากหลายเหตุการณ์
จับตาอัดแคมเปญเศรษฐกิจกู้เรตติ้ง
ปัจจัยแรก : การแก้ปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจ ตอกย้ำชัดจากผลสำรวจซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เป็นเช่นนี้ ต้องจับตาไปที่สารพัดแคมเปญที่จะถูกปล่อยออกมาหลังจากนี้
โดยเฉพาะ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้สูงอายุแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ในกลุ่มของประชาชนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งล่าสุดรัฐบาลยืนยันว่าจะโอนเงินได้ทันช่วงเทศกาลตรุษจีน เดือน ม.ค.นี้อย่างแน่นอน
อีกทั้งต้องจับตาสารพัดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ฉบับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นต้นแบบนโยบายประชานิยมที่จะถูกปล่อยออกมาต่อจากนี้ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญ
สัญญาณ"ปรับครม." ไตรมาสแรก?
ปัจจัยที่สอง : สัญญาณพรรคร่วมรัฐบาล ท่ามกลางข่าวคราวการ “ปรับครม.” เพื่อรีเซ็ต “สูตรใหม่” ที่ถูกปล่อยออกมาเป็นระยะ
อย่างที่รู้กัน ความระหองระแหงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ไล่ตั้งแต่วาทกรรม “อีแอบ”พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่ง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่เพื่อไทยซัดเดือด กลางวงสัมมนาพรรคเพื่อไทย เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค.25667
นัยสื่อถึงรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลที่ลาประชุมครม. วาระพิจารณาร่าง พ.ร.ก. มาตรการทางภาษีระหว่างประเทศ ล็อกเป้าไปที่ “พรรคภูมิใจไทย”เจ้าของฉายา “ภูมิใจขวาง” และ “พรรครวมไทยสร้างชาติ”
ไม่ต่างไปจาก “ศึกพลังงาน” ระหว่างพรรคแกนนำ และเจ้ากระทรวง คือ“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ผูกโยงไปที่ “นายทุน”พลังงาน ท่ามกลางข่าวคราวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ของนายทุนรายนี้
จนกระทั่งล่าสุด“เจ้ากระทรวงพลังงาน” ที่สวมหมวกอีกใบในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดฉากซัดเดือดเป็น “พีระพันธุ์ พร้อมพัง” และไม่สน “วิชามาร” ที่กระหน่ำรอบด้านอยู่ในเวลานี้
ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นภาพของการร่วม “ก๊วนตีกอล์ฟ” ระหว่าง “ทักษิณ” และ “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่ากันว่า ไม่ใช่แนวชื่นมื่น สยบรอยร้าวอย่างที่คิด แต่เป็นแนว “เรียกมาเคลียร์” แกมต่อรองกันเสียมากกว่า
หรือล่าสุด สัญญาณจากฝั่งพรรคเพื่อไทย ที่ชิงออกมาสยบข่าวลือ ประเด็นปรับครม.ปลด “เดอะตุ๋ย” พีระพันธุ์ พ้นรัฐมนตรี ว่าเป็น “เกมเสี้ยม” ของขาประจำเพียงไม่กี่คน
ทว่า หลากหลายประเด็นที่ต่างฝ่ายต่างหยิบยกมาเป็นเงื่อนไขต่อรองในเวลานี้ เอาเข้าจริง อาจกลายเป็นเงื่อนไขเร่งรัดให้เกิดการรีเซ็ตเร็วขึ้นเป็นได้
บางกระแสถึงขั้นฟันธง การปรับ “ครม.แพทองธาร 1” จะเกิดขึ้นช่วง“ไตรมาสแรก” หรือ“ต้นไตรมาส 2”ของปี 2568 เสียด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปตามสไตล์ “นายใหญ่” โดยปกติจะมีการปรับตามวงรอบทุก 6 เดือน
เหนือไปกว่านั้น ยังสอดรับกับ “เกมสภาฯ” ซึ่งฝ่ายค้านเตรียมเปิดฉากอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ แน่นอนว่า โอกาสที่จะล้มรัฐบาล เปอร์เซ็นต์แทบจะ “เป็นศูนย์”แต่สิ่งที่จะเป็นเงื่อนไขในการ“ปรับครม.” คือ “จุดอ่อน”ของรัฐมนตรีบางคน ที่จะถูกหยิบมาขยายแผลกลางสภาฯ
ตัวอย่างมีให้เห็นแทบทุกยุคทุกสมัย รัฐมนตรีแต่ละคน บางพรรคถูกอภิปรายเหมือนกัน แต่ผลโหวต “ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ” กลับมีคะแนนไม่เท่ากัน จุดนี้เองที่อาจเข้าทางแผน“รีเซ็ตรัฐบาล”ด้วยการปรับครม.หลังจากนี้เป็นได้
“เกมสภา” เปิดฉากหักเหลี่ยม
ปัจจัยที่สาม : เกมสภาฯ ที่ส่งสัญญาณเปิดฉากหักเหลี่ยมเป็นระยะ สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ได้รับฉายา“เหลี่ยม(จน) ชิน” ไปเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เหตุผลมาจาก เกมการเมืองยังคงสะท้อนถึง “เกมหักเหลี่ยม” ในหลายชั้นหลายตอน
โดยเฉพาะ “เพื่อไทย”และ “ภูมิใจไทย” ฝั่งหนึ่งถือดุลอำนาจบริหาร และสภาล่าง ในขณะที่อีกฝั่งถือดุลอำนาจสภาสูง
กลายเป็นภาพคุ้นชินของการขบเหลี่ยมกันไปมาในสภาฯ ไล่ตั้งแต่กฎหมายประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ที่เจอเกมหักดิบ จนถึงเวลานี้อยู่ในขั้นตอนการพักร่างไว้180วัน ส่งผลให้เรือธงแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย เป็นอันต้องยืดเยื้อออกไป หรือกฎหมายฉบับอื่นทั้ง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม ไม้เว้นแม้แต่รายงานนิรโทษกรรม ซึ่งสะท้อนถึงความเห็นที่เป็นไปในคนละทิศละทาง
ฉะนั้น “เกมดุลอำนาจนิติบัญญัติ” จนถึงเวลานี้ ยังมีเล่ห์เหลี่ยมหลายมุมให้ลุ้น เร็วๆ นี้คือ วันที่14-15 ม.ค.ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรวม 17 ฉบับ ซึ่งเป็นร่างของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และยังมีอีก 1 ร่างของพรรคเพื่อไทยที่เตรียมเสนอเข้าสู่สภาฯ
ด้วยสารพัดนิติสงครามที่เกิดขึ้นในเวลานี้ โดยเฉพาะด่าน สว.ที่ถูกรวบอำนาจเบ็ดเสร็จโดย “พรรคสีน้ำเงิน” ว่ากันว่ามีหลายสัญญาณที่ส่อแวว “หักดิบ” อีกรอบ
ทั้งการส่งซิกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นความชอบด้วยกฎหมาย หรือแม้แต่การยืมมือ "สภาสูง" ซึ่งตามรัฐธรรมนูญระบุว่า จะต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 67เสียง เป็นปราการด่านสำคัญ
เช็กสัญญาณเวลานี้ดูแล้ว เห็นได้ชัดว่าหากดุลอำนาจสภาล่างเคลียร์กันไม่จบ โอกาสเกิดเกม“หักเหลี่ยม”รอบใหม่ ย่อมมีความเป็นไปได้แน่นอน
“ม็อบนอกสภา”โหมกระแสถล่มรัฐบาล
ปัจจัยที่4 : การเมืองนอกสภาฯ การรวมตัวของกลุ่มการเมือง เพื่อสร้างแรงกดดันไปยังรัฐบาลในเวลานี้ในมิติการเมือง และความมั่นคง อาจมองว่า เป็นเพียง “ไม้ขีดไฟก้านน้อย” และยังไร้เชื้อเพลิงทำลายล้างรัฐบาล
ทว่า จากสารพัดปัจจัยที่ถูกนำมาขยายผลเวลานี้ ทั้งกรณี “ซูเปอร์วีไอพี” ของ “2 นายกฯ ชินวัตร” ทั้งประเด็น “ปริศนาชั้น 14” ของทักษิณ ล่าสุดคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐรวม 12 คน กรณีการส่งตัวทักษิณไปรักษาตัวที่ชั้น14 รพ.ตำรวจ
หรือกรณี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯหญิง ผู้น้อง อาจเดินทางกลับไทย ซึ่งผู้เป็นพี่ชายบอกว่าไม่เกิน เม.ย.จะเห็นน้องสาวกลับสู่มาตุภูมิ แน่นอนว่าย่อมถูกจับตาไปที่ทางลอด(ช่อง) เพื่อที่จะลดหย่อนผ่อนโทษ หรือไม่ต้องถูกจองจำ
ไม่เว้นแม้แต่ปมร้อน “MOU44” ที่จนถึงเวลานี้ ยังไม่มีความชัดเจนในประเด็นแบ่งเค้กผลประโยชน์ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้อาจกลายเป็นเชื้อเพลิงของกลุ่มที่จ้องผสมโรง เพื่อเขย่ารัฐบาลก็เป็นได้
ก่อนหน้านี้ “ทักษิณ” เคยให้สัมภาษณ์ เชื่อมั่นว่าเปิดศักราชปี 2568 การเมืองยังดำเนินไปตามสูตรเดิม ไร้สัญญาณที่นำไปสู่จุดพลิก หรืออุบัติเหตุระหว่างทาง
ทว่า สิ่งที่จะเป็นบทพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุดว่า“รัฐบาลแพทองธาร”จะเดินไปจนสุดทาง หรือถึงเวลาจะต้องสะดุดหยุดลงกลางทางทั้งหมดทั้งมวล อาจต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆตามที่กล่าวมา!