'อำนาจ-งบฯพันล้าน'เดิมพัน สมรภูมินักเลือกตั้ง ‘บ้านใหญ่’

'อำนาจ-งบฯพันล้าน'เดิมพัน  สมรภูมินักเลือกตั้ง ‘บ้านใหญ่’

การเลือกตั้งนายก อบจ.ในวันที่ 1 ก.พ.2568 มีทั้งหมด47 จังหวัด เมื่อพลิกดูงบประมาณพบว่ามี 14 จังหวัดที่ได้งบฯ กว่าพันล้านบาท ตำแหน่งนายก อบจ.มีผลต่อฐานเสียงการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติ

KEY

POINTS

  • อบจ.จำนวน 76 แห่ง ของประเทศไทย ได้รับการจัดสรรงบประมาณกว่า 66,756 ล้านบาท
  • เม็ดเงินงบประมาณที่ อบจ.ทำขอคำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 มี อบจ. 14 จังหวัดที่มีงบฯ มากเกินกว่าพันล้านบาท 
  • อบจ.นครราชสีมา เป็นจังหวัดที่มีงบประมาณมากที่สุดกว่า 3,519 ล้านบาท
  • บรรดานายก อบจ.ที่ลาออกก่อนครบวาระ 19 ธ.ค. 2567 ต้องการชิงความได้เปรียบทางการเมือ เพื่อเอาชนะคู่แข่งฝั่งตรงข้าม
  • หลายจังหวัดมีแชมป์เก่าลาออกก่อนครบวาระ สามารถรักษาพื้นที่และฐานเสียงไว้ได้
  • ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น จำเป็นที่ผู้สมัครต้องมีพลังสรรพกำลังทั้งทุนและคะแนนจัดตั้ง ซึ่งมีความต่างจากการเลือกตั้งระดับชาติที่ต้องใช้นโยบายพรรคการเมืองและตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 

ฤดูกาลหาเสียงศึกชิงนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และสมาชิกสภา อบจ.47 จังหวัดจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ.2568     

องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ มีส่วนสำคัญในการคุม และบริหารจัดการงบประมาณจำนวนมากที่ได้รับการจัดสรรจากกระทรวงมหาดไทย 

เมื่อเจาะลึกไปดูเอกสาร ภาพรวมการขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งลงนามโดย “ขจร ศรีชวโนทัย” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย พบว่ามีการของบประมาณ เงินอุดหนุน รวมกว่า 1.16 แสนล้านบาท

โดย อบจ.ของบประมาณไว้ 4.82 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป 3.8 หมื่นล้านบาท และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ 9.9 พันล้านบาท ส่วนเทศบาลนคร ของบเงินอุดหนุน รวมกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท เทศบาลเมือง 4.3 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม อบจ.จำนวน 76 แห่ง ของประเทศไทย (ข้อมูล ณ ปี 2567) พบว่าได้รับการจัดสรรงบประมาณผ่านข้อบัญญัติงบประมาณฯ ทั้งหมด 66,756 ล้านบาท

จำแนก ด้านบริการชุมชนและสังคม 40.08% อาทิ การศึกษา 12,962 ล้านบาท สาธารณสุข 6,988 ล้านบาท สังคมสงเคราะห์ 584 ล้านบาท เคหะและชุมชน 1,617 ล้านบาท

ด้านการเศรษฐกิจ 33.55% เป็นงบประมาณเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและการโยธากว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ใช้จ่ายหลักๆ กับงานด้านผังเมือง การสร้างบูรณะ ถนนและพื้นผิวจราจร ใช้จ่ายด้านการเกษตร 1,263 ล้านบาท

ด้านการพาณิชย์ 92 ล้านบาท เกี่ยวกับโรงรับจำนำ การประปา ตลาดสด โรงฆ่าสัตว์ ทรัพยากรน้ำทางทะเล

ด้านบริหารทั่วไป 17.50%

ด้านการดำเนินงานอื่น ๆ 8.88% เป็นงบฯกลาง 5.926 ล้านบาท เกี่ยวข้องกับรายการนอกเหนือจากภาระหน้าที่หลัก เช่น ชำระหนี้ สมทบประกันสังคม เข้ากองทุนเงินบำเหน็จบำนาญ เงินสำรองจ่าย หรือเงินช่วยเหลือพิเศษ

เมื่อไล่ไปดูงบประมาณที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ทำขอคำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พบว่ามี อบจ. 14 จังหวัดที่มีงบฯ มากเกินกว่าพันล้านบาท ดังนี้

นครราชสีมา 3,519 ล้านบาท(สูงสุด) ศรีสะเกษ 2,141 ล้านบาท  ขอนแก่น 2,004 ล้านบาท ร้อยเอ็ด 1,975 ล้านบาท สกลนคร 1,749 ล้านบาท กาฬสินธุ์ 1,555 ล้านบาท ปัตตานี 1,512 ล้านบาท ชัยภูมิ 1,508 ล้านบาท

มหาสารคาม 1,449 ล้านบาท ชลบุรี 1,381 ล้านบาท  สุราษฎร์ธานี 1,274 ล้านบาท กาญจนบุรี 1,239 ล้านบาท เชียงราย 1,169 ล้านบาท และ อุบลราชธานี 1,081 ล้านบาท

ศึกชิงนายก อบจ. มี 29 จังหวัดที่เสร็จศึกเลือกตั้งไปแล้ว โดยรู้ผลการเลือกตั้ง นายก อบจ.ไปแล้ว ส่วนใหญ่มาจากการลาออกก่อนครบวาระ 19 ธ.ค. 2567 

ขณะที่ วาระการดำรงตำแหน่งของนายก อบจ.มี 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปีก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้ว จะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันพ้นตำแหน่ง

\'อำนาจ-งบฯพันล้าน\'เดิมพัน  สมรภูมินักเลือกตั้ง ‘บ้านใหญ่’

โครงสร้างของ อบจ.จะมี สภาอบจ.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ นายก อบจ.เป็นฝ่ายบริหาร

นายก อบจ.มีอำนาจหน้าที่ กำหนดนโยบายที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย สั่งอนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการของ อบจ.แต่งตั้งถอดถอนรองนายก อบจ. เลขานุการนายก อจบ. และที่ปรึกษานายก อบจ.

โฟกัสไปที่บรรดาแชมป์เก่า และผู้สมัครนายก อบจ.ต่างมองว่า ตามกฎหมายการเลือกตั้ง ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นการหาเสียงใน 180 วันก่อนครบวาระ รวมถึงถูกจำกัดในการใช้งบประมาณต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติ ที่อาจถูกมองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ทางการเมืองได้ ซึ่งอาจถูกร้องเรียนในภายหลังจนทำให้ต้องถูกสั่งให้เลือกตั้งใหม่ และถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้ ทำให้ผู้สมัครต้องใช้แท็คติก ลาออกก่อนครบวาระ เพื่อชิงความได้เปรียบต่อคู่แข่งฝั่งตรงข้าม

\'อำนาจ-งบฯพันล้าน\'เดิมพัน  สมรภูมินักเลือกตั้ง ‘บ้านใหญ่’

บางจังหวัดชิงลาออกก่อนครบวาระเพียงไม่กี่วันเท่านั้น เพื่อป้องกันการตีความตามกฎหมายในการใช้แท็คติกหาเสียงเพื่อช่วงชิงความนิยมทางการเมือง

บางจังหวัด ยังเป็นพื้นที่มีบ้านใหญ่ คนการเมืองจากตระกูลใหญ่ครองความนิยมในพื้นที่นั้นๆ มาเป็นเวลานาน ไล่ตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ รุ่นลูกสู่รุ่นหลาน ทำให้พรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติ ต้องพึ่งพาฐานเสียงจากนักเลือกตั้งตระกูลใหญ่ที่มีชื่อเสียงในพื้นที่แต่ละจังหวัด

บางจังหวัด หากซุ้มไหนเคลียร์กันไม่ลงตัวก็จะเลือกจบด้วยวิธีสุดท้ายคือ ปลิดชีพคู่แข่งฝั่งตรงข้าม หรือบางพรรคมีผู้สมัครแข่งกันเอง ก็ต้องปล่อยให้คนของตัวเองวัดกระแส และกระสุนกันเอง ใครชนะมา พรรคก็มีแต่วินและวิน

\'อำนาจ-งบฯพันล้าน\'เดิมพัน  สมรภูมินักเลือกตั้ง ‘บ้านใหญ่’

จะเห็นได้ว่า ถ้าพรรคใดไม่มีฐานเสียงหรือคะแนนจัดตั้งท้องถิ่นจากหัวคะแนนและคนตระกูลบ้านใหญ่ในพื้นที่ ก็จะประสบความพ่ายแพ้ในกระดานเลือกตั้งท้องถิ่น เห็นได้จาก “พรรคประชาชน" หรือ "พรรคก้าวไกล" ที่ยังไม่เคยชนะศึกนายก อบจ.แม้แต่จังหวัดเดียว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น ปัจจัยการแข่งขันอาจดูดุเดือดในพื้นที่ ไม่เหมือนกับการเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติที่อาศัยคะแนนความนิยมของพรรคการเมืองและตัวแคนดิเดตนายกฯ เป็นสำคัญ

พรรคการเมืองบางพรรค ใช้สูตรเคาะว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.ลงสมัครทั้งจากเป็นคนบ้านใหญ่มีฐานเสียงแน่นหนาในจังหวัด และเป็น อดีต สส.ที่เพิ่งสอบตกจากการเมืองระดับชาติ แต่มีคะแนนจัดตั้งมาดีในเขตที่สอบตก

ต้องยอมรับว่า อดีต สส.สอบตก ลงสมัครนายกอบจ. แล้วชนะเลือกตั้ง ก็ด้วยผลจากการระดมสรรพกำลังทั้งทุน และฐานเสียงของ สส.และบรรดาหัวคะแนนจาก สจ.ช่วยกันหนุนส่งให้ชนะเลือกตั้ง

เห็นได้ชัดจากศึกเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี “ศราวุธ เพชรพนมพร” อดีต สส.อุดรธานี เขต 1 เป็น นายก อบจ.

\'อำนาจ-งบฯพันล้าน\'เดิมพัน  สมรภูมินักเลือกตั้ง ‘บ้านใหญ่’

ขณะที่ บางจังหวัด นายก อบจ.แชมป์เก่าชิงลาออกก่อนครบวาระล่วงหน้า 1 เดือน เพื่อต้องการหยุดศึกสงครามสาดกระสุนภายในจังหวัด ที่คู่แข่งพกสรรพกำลังอาวุธหนักไว้เต็มโกดัง ทำให้ต้องงัดกำลังภายใน เพื่อแก้เกมฝั่งตรงข้าม เพราะยิ่งเลือกตั้งได้ไว ก็จะหยุดการปูพรมสงครามกระสุนในพื้นที่ได้

“โมเดลชิงออกก่อนครบวาระ”นั้น ในบางจังหวัดจึงประสบความสำเร็จรักษาแชมป์ไว้ได้ ด้วยผลการชิงความได้เปรียบตรงนี้

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม “คนบ้านใหญ่” และ “นักเลือกตั้ง” ถึงต้องให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่นอย่าง “นายก อบจ.” และ ส.อบจ.

เพราะ อบจ.มีเม็ดเงินงบประมาณมหาศาล เพื่อมากำหนดโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการ รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ภายใน อบจ. ไว้พัฒนาจังหวัดและสร้างคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน

ดังนั้นการใช้เม็ดเงินของ อบจ. จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่มีส่วนในการกำหนดคุณภาพชีวิตของผู้คน

ผู้สมัคร หรือพรรคใด เข้ามาครองอำนาจนายก อบจ. ได้จะสามารถกำหนดความได้เปรียบทางการเมือง

อบจ.เปรียบเหมือน เครื่องไม้เครื่องมือสรรพกำลังของพรรคการเมือง เพื่อเป็นฐานเสียงสนับสนุนคนของบ้านใหญ่และพรรคลง สส.ในการเลือกตั้งระดับชาติ

ตัวนายก อบจ.จึงมีผลต่อการเมืองกระดานใหญ่ที่มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพราะกำหนดทิศทางของประเทศ หากพรรคใดเอาชนะนายก อบจ.ได้มาก ย่อมทำนายโอกาสการเป็นรัฐบาลได้สูง