ต้นทุนผลิตไข่ไก่สูงรอบด้าน สวนทางราคาขายตก หวั่นผู้เลี้ยงอยู่ยาก
เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ อยู่ยาก เผชิญต้นทุนผลิตสูงรับปี 2568 ค่าแรงงานอัตราใหม่ วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปัจจัยปัองกันโรคจากไข้หวัดนกระบาดในเพื่อนบ้านทั่วเอเชีย
นายมงคล พิพัฒสัตยานุวงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ เปิดเผยว่า ในปี 2568 มีปัจจัยหลายด้านที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและผู้เลี้ยงไข่ไก่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน อีกทั้งราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องปัจจุบันเฉลี่ยที่ 11.20 บาทต่อกิโลกรัม จาก 10.30 บาทในเดือนพฤศจิกายน 2568 ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตในปีหน้าโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
นอกจากนี้ โรคระบาดไข้หวัดนกในภูมิภาคเอเชียและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดความเสียหายกับสัตว์ปีกในวงกว้างทั้งไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสัตว์ปีกอื่นๆ หากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ จะส่งผลให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคเพิ่มขึ้น และจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังการปรับสวัสดิการเพื่อดูแลคนงานที่ปฏิบัติงานในฟาร์ม ทั้งการจัดที่พัก ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสวัสดิการอื่นๆ เพื่อตอบแทนการทำงานที่ต้องป้องกันโรคระบาดในระดับสูง ทำให้ต้นทุนค่าแรงของคนทำงานฟาร์มสูงกว่าค่าแรงทั่วไป
“ในปี 2568 ผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องเผชิญกับความยากลำบากหลายด้าน ทั้งการปรับค่าแรง วัตถุดิบอาหารสัตว์ โรคระบาดไข้หวัดนกทั้งในภูมิภาคเอเซียและภูมิภาคอื่นส่งผลให้แม่ไก่ไข่ต้องตายนับล้านๆ ตัว ล้วนเป็นปัจจัยผลักดันต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นทั้งหมด เกษตรกรหลายรายอาจไม่สามารถปรับตัวรับกับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้”
ทั้งนี้ ราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ที่ผ่านมา จากฟองละ 4 บาท ถึงปัจจุบันอยู่ที่ฟองละ 3.60 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สวนทางกับต้นทุนการผลิต หากแนวโน้มต้นทุนยังอยู่ในช่วงขาขึ้นเช่นนี้ เกษตรกรคงอยู่ไม่ได้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการฟาร์มให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคมีไข่กินเพียงพอ
นายมงคล กล่าวว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ประมาณ 2.7 ล้านราย ผลิตไข่ไก่อาหารโปรตีนคุณภาพสูงในราคาสมเหตุผลให้กับผู้บริโภคอย่างเพียงพอ แต่ต้นทุนการผลิตซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมการผลิตจำเป็นต้องได้รับการดูแล ที่สำคัญผู้บริโภคต้องมั่นใจกับคุณภาพอาหารปลอดภัยจากการดูแลและปัองกันสัตว์ตามมาตรฐานสากล เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาให้ผู้เลี้ยงอยู่ได้และผู้บริโภคอยู่ได้