เปิด 4 ข้อสั่งการนายกฯ ทำงบฯปี 69 เน้นเพิ่มประสิทธิภาพใช้จ่าย - จัดเก็บรายได้

เปิด 4 ข้อสั่งการนายกฯ ทำงบฯปี 69  เน้นเพิ่มประสิทธิภาพใช้จ่าย - จัดเก็บรายได้

ครม.เคาะกรอบงบฯ 69 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท ขาดดุล 8.6 แสนล้านบาท นายกฯ สั่ง 4 ข้อ เพิ่มประสิทธิภาพเบิกจ่าย จัดเก็บรายได้เทียบประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย “จุลพันธ์” ชี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังเห็น ธปท.ทำเงินเฟ้อเข้ากรอบ และใกล้เคียงระดับ 2%

การจัดทำงบประมาณเป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการใช้จ่ายของภาครัฐจากวงเงินงบประมาณถือว่าเป็นวงเงินที่มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละปีได้อย่างมากเนื่องจากมีทั้งในส่วนของงบประจำที่เป็นเงินเดือน ค่าจ้างบุคลากรภาครัฐ และงบประมาณลงทุน

ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 ม.ค.68) เห็นชอบกรอบวงเงินรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ตามที่ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจประกอบไปด้วยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบแล้ว

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังเปิดเผยว่า รายละเอียดของกรอบงบประมาณปี 2569 วงเงินรวม 3,780,600 ล้านบาทเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2569 - 2572)โดยประมาณการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลอยู่ที่ 2,920,600 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลวงเงิน 8.6 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDPโดยมีการการขาดดุลงบประมาณลดลง 5 พันล้านบาท กรอบงบประมาณรวมเพิ่มขึ้น 2.7 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่ม 0.7% และจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

คาดการณ์เศรษฐกิจปี 69 ขยายตัว 2.8%

สำหรับการจัดทำงบประมาณปี 2569 จัดทำภายใต้สมมติฐานทางเศรษฐกิจในปี 2569 ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 2.3 - 3.3 หรือค่ากลาง 2.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ อยู่ในช่วง 0.7 - 1.7% ค่ากลาง 1.2%

สำหรับโครงสร้างงบประมาณฯ ปี 2569 วงเงิน 3,780,600 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 2,645,858.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 70% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 123,541.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.3% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 860,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.7% ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่าย ชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 151,200 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4% ของวงเงินงบประมาณ

สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุน และงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนด ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

คงขาดดุลงบประมาณสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า การขาดดุลงบประมาณที่อยู่ในระดับสูงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสิ่งจำเป็นที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้า ทั้งนี้ขั้นตอนกระบวนการที่จะตั้งงบประมาณต้องดูวินัยการคลัง ต้องดูสัดส่วนตามที่กฎหมาย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังกำหนด กรอบการขาดดุลต่างๆ นั้นเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยขั้นตอนต่อไปก็ต้องมีการดูในเรื่องของงบประมาณที่เสนอเข้ามา และจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสมต่อไปทั้งนี้หน่วยงานเศรษฐกิจต่างมองว่าระดับของงบประมาณนี้เหมาะสมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วยซึ่งหลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอน และกระบวนการตามกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตามในการประชุมร่วมกันของหน่วยงานเศรษฐกิจนั้นมีกรอบความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานที่จะต้องมีการดำเนินการภายหลังจากที่ ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณปี 2569 แล้ว ได้แก่

1.กระทรวงการคลังจะต้องดูการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

2.สำนักงบประมาณต้องดูในเรื่องของการใช้จ่าย

จี้ ธปท.ดันเงินเฟ้อเข้ากรอบเป้าหมาย 1-3%

และ 3.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ต้องมีหน้าที่ไปดูเงินเฟ้อให้ได้ตามกรอบเป้าหมาย 1-3% และให้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่าง รมว.คลังกับผู้ว่าฯ ธปท.ที่จะทำให้เงินเฟ้อเข้าใกล้ 2% ตามที่ตกลงไว้ โดยเรื่องนี้ต้องให้เวลาที่ ธปท.จะทำให้เงินเฟ้อเข้ากรอบ และค่ากลางที่ 2%

 นอกจากนั้นในข้อตกลงระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท.ยังมีการกำหนดด้วยว่า ธปท.จะต้องดูแลให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับเหมาะสมที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันระหว่างคู่ค้า และคู่แข่ง

นายอนันต์ แก้วกำเนิด ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเปิดเผยว่าในปีงบประมาณ 2569 รัฐบาลยังคงดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณ เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลรวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ทั้งปัญหาหนี้สิน รายได้ และค่าครองชีพ

เช่นเดียวกับการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ การต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิต และการบริการ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว และพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่องด้วย

นายกฯ สั่งเพิ่มประสิทธิภาพใช้งบประมาณ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในการประชุม ครม.ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับในที่ประชุม ครม. ขอให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดทำงบประมาณฯ ปี 2569 ให้เป็นไปตามแผนการคลังระยะปานกลางอย่างเคร่งครัด โดยเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดังนี้

1. ให้กระทรวงการคลังดำเนินการจัดเก็บรายได้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้เทียบเคียงการดำเนินการกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับประเทศไทย

2. ให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากที่สุด เพื่อให้มีความคุ้มค่า ประหยัด และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน สำหรับการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้เสนอขอรับเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนของภาครัฐ

3. ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐที่มีเงินนอกงบประมาณ เงินรายได้ หรือเงินสะสม ให้นำเงินมาใช้ดำเนินโครงการหรือภารกิจในความรับผิดชอบเป็นลำดับแรก รวมทั้ง พิจารณาแหล่งเงินอื่นเพื่อนำมาใช้ในการดำเนินโครงการของหน่วยงาน ตามความเหมาะสม

และ 4. ให้ทุกกระทรวงและรัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งให้รัฐวิสาหกิจพิจารณา ลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชน และนักลงทุนจากต่างประเทศ เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น

นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบฯ หน่วยราชการ

โดยในขั้นตอนต่อไปนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในการมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2569 ให้กับหน่วยงานต่างๆ ในวันที่ 15 มกราคม 2568 นี้ จากนั้นจึงให้หน่วยงานต่างๆ จัดทำคำของบประมาณเสนอเข้ามายังสำนักงบประมาณ เพื่อพิจารณารายละเอียดในขั้นตอนการจัดทำงบประมาณต่อไป โดยกำหนดให้มีการเสนอคำของบประมาณมายังสำนักงบประมาณภายในวันที่ 31 ม.ค.2568

จากนั้นสำนักงบประมาณ พิจารณาการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2569 ระหว่างวันที่ 18 - 28 มี.ค.2568 เพื่อนำเสนอ ครม.พิจารณาภายในวันอังคารที่ 1 เม.ย.2568 จากนั้นสำนักงบประมาณจะมีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2569 ระหว่างวันที่ 2-16 เม.ย.2568 เพื่อนำเสนอ ครม.รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็น และพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.2569 และให้สำนักงบประมาณจัดพิมพ์ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ พ.ศ.2569 และเอกสารประกอบในวันที่ 29 เม.ย.2568 ก่อนที่สำนักงบประมาณจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 20 พ.ค.2568 เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ 3 วาระตามขั้นตอนก่อนที่จะประกาศใช้ พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี 2569 ภายในวันที่ 1 ต.ค.2568

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์