รัฐบาลหาช่องกดค่าไฟต่ำกว่า 3 บาท 'เอกชน' คาดช่วยลดต้นทุนแสนล้านบาท

รัฐบาลหาช่องกดค่าไฟต่ำกว่า 3 บาท 'เอกชน' คาดช่วยลดต้นทุนแสนล้านบาท

“เอกนัฏ” ชี้ค่าไฟฟ้า 2 บาท เป็นไปได้ ย้ำต้นทุนพลังงานหัวใจอุตสาหกรรม สร้างแต้มต่อดึงดูดลงทุน ส.อ.ท.หนุนกดค่าไฟต่ำกว่า 3 บาท สร้างการแข่งขันเวียดนาม-อินโดนีเซีย กกร.เรียกร้องตั้ง กรอ.พลังงาน แก้ค่าไฟแพง หอการค้า คาดลดค่าไฟช่วยประหยัดต้นทุนทุกภาคส่วน 1 แสนล้านบาท

รัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประกาศนโยบายเป้าหมายลดค่าไฟฟ้าปี 2568 เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน จากงวดปัจจุบันเดือนม.ค.- เม.ย.2568 ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งก่อนหน้านี้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศว่าสามารถทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือ 3.70 บาท ได้

การประกาศลดค่าไฟฟ้าส่งผลให้ภาคเอกชนตอบรับ เพราะค่าไฟฟ้าเป็นต้นทุนหลักของภาคการผลิตของอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย อย่างเช่นอุตสาหกรรมดาต้าเซนเตอร์ ที่ต้องอาศัยทรัพยากรมหาศาลทั้งน้ำ และไฟ 

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ งานประจำปี สศอ. OIE Forum ครั้งที่ 16 "Industrial Reform : ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่“ จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า สิ่งท้าทายของภาคอุตสาหกรรม คือ ต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งอุตสาหกรรมดาต้าเซนเตอร์ต้องการสูง จึงลงนามให้ปลดล็อกการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาโดยไม่ต้องขออนุญาต 

 

อีกทั้งการที่อดีตนายทักษิณ และ น.ส.แพทองธาร ประกาศลดค่าไฟ 3.70 บาท หากทุกฝ่ายทั้งรัฐ และเอกชนช่วยกันจะลดต่ำลงกว่า 3 บาทได้ จะเป็นแต้มต่อสำคัญของภาคอุตสาหกรรม เพราะไทยมีนโยบายเป็นมิตรด้านการลงทุน มีซัพพลายเชนทุกเซคเตอร์ได้ประโยชน์ นักลงทุนจะเข้ามาสร้างเศรษฐกิจประเทศมหาศาล

รัฐบาลหาช่องกดค่าไฟต่ำกว่า 3 บาท \'เอกชน\' คาดช่วยลดต้นทุนแสนล้านบาท

“วันนี้ต้องการใช้ไฟสะอาด ซึ่งการซื้อไฟโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงมีราคาแพง การผลิตพลังงานถูกดิสรัปเกิดต้นทุนทำให้เนื้อไฟที่กว่าจะมาถึงประชาชนจาก 2 บาท กลายเป็น 4 บาท การปลดล็อกทำให้ไม่ต้องผ่านหลายระบบ" 

ดังนั้น หาก กฟผ.ทำหน้าที่พัฒนาระบบสมาร์ตกริด และแอปพลิเคชันสำรองไฟโดยเฉพาะแบตเตอรี่จะนำพลังงานที่เหลือจากกลางวันมาใช้ในกลางคืนได้ ถ้าช่วยกันทำจะเห็นค่าไฟตัวเลข 2 บาทแน่นอน

นอกจากนี้ หากแก้ปัญหาพลังงานได้ จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมสำคัญทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ อาหาร และชีวภาพ รวมถึงการพัฒนาคนจะช่วยฟื้นภาคอุตสาหกรรมได้ 

ทั้งนี้ ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับเอกชน ปรับตัวทำให้สะดวก โปรงใส ลดต้นทุนพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่ม เติมเต็มซัพพลายเชนอุตสาหกรรมสำคัญ ปกป้องอุตสาหกรรมต้นน้ำ เอสเอ็มอีประเทศ ไม่ให้เกิดการลักลอบเอาสินค้าที่ผลิตเกินมาดั๊มพ์ราคาในไทย

ส.อ.ท.หนุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่า 3 บาท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ต้นทุนสำคัญของอุตสาหกรรมอยู่ที่ค่าไฟฟ้า  โดยเป็นตัวสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันเวียดนามค่าไฟเฉลี่ยกว่า 2 บาท ส่วนอินโดนีเซียเฉลี่ยกว่า 3 บาท ส่วนไทยแพงกว่าเยอะโดยอ้างว่าจะต้องมีความเสถียร

รัฐบาลหาช่องกดค่าไฟต่ำกว่า 3 บาท \'เอกชน\' คาดช่วยลดต้นทุนแสนล้านบาท

“อดีตนายกรัฐมนตรี บอกจะลดลงเหลือ 3.70 บาทนั้น เพราะได้เดินทางไปทั่วโลกเห็นปัญหาและเห็นว่าประเทศต่างๆ ทำได้ ซึ่งหากราคาไทยเราต่ำกว่า 3 บาทจะต้องฉลอง” นายเกรียงไกร กล่าว

กกร.ยันลดค่าไฟดึงการลงทุนใหม่

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า นโยบายลดค่าไฟฟ้าให้เหลือหน่วยละ 3.70 บาท หากทำได้เป็นเรื่องดีที่จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ เพื่อให้แข่งขันในตลาดโลกได้ และลดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ 

นอกจากนี้ สร้างโอกาสให้นักลงทุนตัดสินใจมาลงทุนไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก โดยค่าไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าไฟฟ้าถูกกว่า เช่น เวียดนาม ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องความเสถียร และปริมาณไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอก็ตาม ขณะที่ไทยมีไฟฟ้าเพียงพอ และมีความเสถียร ถือเป็นข้อได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

“กกร.เคยเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน (กรอ.พลังงาน) เพื่อวิเคราะห์ และหารือถึงแนวทางในการลดค่าไฟฟ้าแต่ก็ยังไม่ได้รับตอบรับจากรัฐบาล” นายสนั่น กล่าว

รัฐบาลหาช่องกดค่าไฟต่ำกว่า 3 บาท \'เอกชน\' คาดช่วยลดต้นทุนแสนล้านบาท

ทั้งนี้ จากแนวคิดของนายทักษิณ ที่ต้องการให้ค่าไฟฟ้าลดเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย หากทำได้จริงประเมินว่าประหยัดต้นทุนให้ทุกภาคส่วนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี เทียบจากการใช้ไฟฟ้ารวมของประเทศ 200,000 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งมีผลต่อ GDPได้อีก 0.5% หากเม็ดเงินดังกล่าวถูกหมุนเวียนกลับเป็นการลงทุนหรือการจ้างงานใหม่

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ที่ 2.4-2.9% การส่งออกบวก 1.5-2.5% ซึ่งต่ำกว่าปี 2567 ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8-1.2% โดยเศรษฐกิจไทยยังอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลัก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 39-40 ล้านคน ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่จะทยอยออกมาในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 และเฟส 3 รวมถึงมาตรการอีซี่ อี-รีซีท

"เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกมีโมเมนตัม และเติบโตได้ดีจากมาตรการภาครัฐ ช่วงครึ่งปีมีความจำเป็นที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องให้ความร่วมมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะนโยบายการค้าของสหรัฐ ดังนั้นภาครัฐน่าจะออกมาตรการเพิ่ม เช่น มาตรการคนละครึ่งหรือมาตรการคูณสอง ซึ่ง กกร.เสนอรัฐบาลแล้วเพราะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี " นายสนั่น กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์