'เอกนัฏ' ชู 3 แนวคิดฟื้น 'เอสเอ็มอี' ไทย ดันภาคการผลิตหนุน GDP โตกว่า1%
"เอกนัฏ" ชูแนวคิด “สู้ เซฟ สร้าง” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวคิดขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างโอกาส ขีดความสามารถการแข่งขัน ติดอาวุธอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตยั่งยืน มั่นใจภาคอุตสาหกรรมดัน GDP โตไม่ต่ำกว่า 1% โดยไม่ต้องอัดเม็ดเงินเพิ่ม
KEY
POINTS
- การเปลี่ยนผู้นำประเทศมหาอำนาจ การเติบโตของ AI จะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย
- สถานการณ์อุตสาหกรรมไทยยังมีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนจากภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สศอ.คาดการณ์ว่าในปี 68 ดัชนี MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มขยายตัว 1.5 - 2.5%
- รัฐบาลผลักดันให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้า ภารกิจกระทรวงอุตสาหกรรมที่เป็นพระเอกมีความท้าทาย การผลักดันอุตสาหกรรมใหม่จะหนุนเอสเอ็มอีฟื้นตัวและคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีส่วนส่วนดัน GDP ให้โตขึ้นไม่ต่ำกว่า 1% โดยไม่ใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว
ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเจอแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว หรือการเปลี่ยนแปลงผู้นำของประเทศมหาอำนาจที่อาจจะสร้างความปั่นปวนทางเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศ การเติบโตของเทคโนโลยี AI ที่ก่อให้เกิดการแข่งขันและเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ล้วนส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทย
ทั้งนี้ สถานการณ์อุตสาหกรรมไทยยังมีแนวโน้มดีขึ้น สะท้อนจากภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่าในปี 2568 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) และ GDP ภาคอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มขยายตัว 1.5 - 2.5%
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักที่เติบโตต่อเนื่อง รวมทั้งการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการ การลงทุนภาครัฐผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้เข้าถึงแหล่งทุนและสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คาดว่าจะช่วยพยุงภาวะเศรษฐกิจภาพรวมให้ดีขึ้น
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลผลักดันให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้าเติบโตได้ ภารกิจกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นพระเอกมีความท้าทาย หลายคนมองว่าเอสเอ็มอีจะฟื้นตัว ส่วนตัวยังหวังว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีส่วนส่วนดัน GDP ให้โตขึ้นไม่ต่ำกว่า 1% โดยไม่ใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว
ทั้งนี้ จึงต้องดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ หากวิเคราะห์เศรษฐกิจของประเทศ ยังอยู่ระหว่างกำลังฟื้นจากโควิด จะเห็นปัญหาหนี้สาธารณะเกือบแตะ 70% ซึ่งไทยตั้งงบขาดดุลทุกปีเพื่อนำเงินมาลงทุน เมื่อหนี้สาธารณะสูง จึงมีข้อจำกัดในการตั้งงบประมาณขาดดุลมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ก็ยังติดปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูง ธนาคารไม่ปล่อยกู้ ทำให้การจับจ่ายใช้สอดหดตัว
ดังนั้น ความหวังจึงอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม แต่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั้งเทคโนโลยี ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า คนส่วนใหญ่มองเป็นปัญหาความท้าทายที่ไทยต้องเจอ แต่ตนมองว่าเป็นโอกาสสำคัญของไทย ถ้าสามารถปรับตัวได้เร็ว และแรง เท่ากับการเปลี่ยนแปลง มั่นใจว่าภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นกลับมาเป็นพระเอกให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโตได้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ภารกิจนี้จะอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ จึงต้องร่วมมือและปรับตัว ทั้งรัฐ และเอกชน เพราะจุดเด่นไทยวันนี้เป็นเป้าหมายของนักลงุทนทั่วโลก จากการมีโลเคชั่นที่ดีเชื่อมต่อเหนือลงใต้ คาบมหาสมุทรผ่านประเทศไทย มีโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนมา 10 ปี โดยใช้เงินมหาศาล มีซัพพลายเชนสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีความสมบูรณ์มากสุดที่หนึ่งในภูมิภาค มีคนไทย ประเทศน่าอยู่
"หากแก้ปัญหาพลังงาน ภาษี ปรับการส่งออก อุตสาหกรรมยานยนต์จะโต ซึ่งเซ็คเตอร์สำคัญ ยานยนต์ ไฮเทค อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมอาหารและชีวภาพ รวมถึงการพัฒนาคนจะฟื้นให้ภาคอุตสาหรกรรม ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับเอกชน ปรับตัวทำให้สะดวกโปรงใส่ ลดต้นทุนพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มเติมเต็มซัพลลายเชนในอุตสาหกรรมสำคัญ ปกป้องอุตสาหกรรมต้นน้ำ เอสเอ็มอีประเทศ ไม่ให้ลักลอบเอาสินค้าที่ผลิตเกินมาดั้มราคาในไทย"
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสร้างโอกาสและการเติบโตให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ “การปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ผ่าน 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง (สู้ เซฟ สร้าง) ได้แก่
ปฏิรูปที่ 1. “สู้” กับผู้ประกอบการ ที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายชีวิตประชาชน บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ คืนน้ำสะอาด แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 สร้างอากาศบริสุทธิ์ให้คนไทย
ปฏิรูปที่ 2 “เซฟ” สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของภาค อุตสาหกรรม และธุรกิจSMEs สร้างโอกาส สร้างรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย
ปฏิรูปที่ 3 “สร้าง” อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก โดยขับเคลื่อนผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่
1. การสร้างความร่วมมือพันธมิตรห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ เช่น ปรับมาตรการและสิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเชื่อมโยงผู้ผลิตไทยเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมหลักต่าง ๆ ของโลก
2. สร้าง Ease of Doing Business เช่น ปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจด้วยระบบดิจิทัล เช่นe-License, e-Monitoring และ e-Payment และ
3. จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน เน้นพัฒนาบุคลากรในสายอาชีพและอาชีวศึกษา รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยก้าวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ที่ทันสมัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว