ศักราชใหม่ ซอฟต์พาวเวอร์ไทย จะสร้าง-เสริมไปทางไหน

ศักราชใหม่ ซอฟต์พาวเวอร์ไทย จะสร้าง-เสริมไปทางไหน

จับกระแส Soft Power ศักราชใหม่ ซอฟต์พาวเวอร์ไทย จะสร้าง-เสริมไปทางไหน

ก้าวสู่ศักราชใหม่ 2568 ความหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน อยู่บนการปรับฐานรากและการใช้"ซอฟต์พาวเวอร์ไทย"(Thai Soft Power) ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาใช้จ่ายในประเทศ ที่มีชาวต่างชาติมามากอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่รักษาต้นทุนศิลปวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการประกอบสร้างกิจกรรมทั้งเก่าและใหม่ให้เป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่เสมอก็อาจทำให้เราไม่ได้รับความนิยมในสายตานักท่องเที่ยวทั่วโลกเหมือนเดิม

แน่นอน ความหวังของรัฐบาล ที่จะใช้กลไกลคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (Thailand Creative Content Agency :THACCA) หรือ ทักก้า ซึ่งกำลังผลักดันกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ออกมาในปีนี้

ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ เร่งทำกิจกรรมพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง อย่าง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำ คู่มือการพัฒนากล่องของฝาก ของที่ระลึกประจำเมือง (Toolkit for City Hamper Box Development) เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวทั่วประเทศและประชาชนที่สนใจ สามารถนำคู่มือนี้ไปปรับใช้ในการพัฒนากล่องของฝาก ของที่ระลึก หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นโดยใช้เอกลักษณ์ประจำจังหวัดของตนเองเป็นจุดขาย

คณะอนุฯ ด้านอาหาร ดันโครงการ “หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งเชฟอาหารไทย” รุ่นที่ 1 ล่าสุดประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมแล้วหวังจะช่วยผลักดันเสน่ห์แห่งอาหารไทย เราจึงต้องยกระดับศักยภาพเชฟอาหารไทยให้มีมาตรฐานเดียวกัน พร้อมส่งออกเสน่ห์แห่งอาหารไทยให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

ส่วนคณะอนุฯ ด้านดนตรี ร่วมหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ยกระดับอุตสาหกรรมและทำให้วงการดนตรีของไทยถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางมากขึ้น ผ่าน โครงการส่งเสริมศิลปินและธุรกิจเทศกาลดนตรีของไทยสู่ตลาดโลก หรือ “Music Exchange” มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนศิลปินไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล สร้างจากกระแส “Thai Music Wave” เพิ่มความเป็นที่รู้จักและสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมของเพลงไทยในตลาดเพลงทั่วโลก นอกจากนี้ ยังนำเสนอศักยภาพของศิลปินไทย พร้อมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ในอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก ผ่านการแสดงสดและกิจกรรมสร้างเครือข่าย

คณะอนุฯ ด้านกีฬา ผลักดันศักยภาพกีฬามวยไทย “VISA กีฬา-มวยไทย” เพื่อให้การส่งออกนักกีฬาไทย โดยเฉพาะนักกีฬามวยไทยสามารถออกไปแข่งขันและโชว์ศักยภาพ ขยายระยะเวลาฟรีวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่บินมาเรียนมวยไทย จากเดิม 60 วัน เพิ่มเป็น 90 วัน ยังมีโครงการ MuayThai for Official ส่งนักกีฬาและครูฝึกมวยไทย ไปฝึกสอนในค่ายทหารชาติพันธมิตรทั่วโลก เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธมิตรในฐานะทูตซอฟต์พาวเวอร์ไทย

ขณะที่ คณะอนุฯ ด้านแฟชั่น เดินหน้าอบรม Upskill Reskill ในโครงการหนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) ออกแบบหลักสูตรกว่า 17 หลักสูตร ครอบคลุม เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย หัตถกรรม ผลิตภัณฑ์ความงาม อัญมณีและเครื่องประดับ

ขณะเดียวกัน คณะอนุฯ ด้านภาพยนตร์ มีกิจกรรม ‘ทำไม (ไม่) ถึงภาพยนตร์?’ - Why (Not) Cinema? กับผู้กำกับชื่อดัง “เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” อีกทั้งกรณีการหาทางออกปัญหา Micro Cinema แก้กฎหมายเพื่อคนตัวเล็กในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ จัดทำร่างแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงมหรสพ เพื่อเปิดโอกาสให้โรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก สามารถดำเนินกิจการได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และส่งเสริมระบบนิเวศของอุตสาหกรรมภาพยนตร์

นี่เป็นบางส่วนการทำงานของคณะต่าง ๆ เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งเริ่มศักราชใหม่ จะสร้างและเสริมคนไทยได้พัฒนาจนเกิดเป็นพลังย่อมต้องได้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วนให้ถูกที่ถูกทาง ไม่อาจตบมือข้างเดียวแล้วจะดังจะปังได้ดั่งใจในเร็ววัน

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

บทความที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ทั้งหมด

บทความของ นิติราษฎร์ บุญโย ทั้งหมด