บทเรียน ปตท.ถอยลงทุน EV ตัดทิ้งธุรกิจเสี่ยงไม่ทำกำไร

บทเรียน ปตท.ถอยลงทุน EV ตัดทิ้งธุรกิจเสี่ยงไม่ทำกำไร

กลุ่มปตท. ปรับโครงสร้างธุรกิจที่ไม่ทำกำไรตามนโยบาย CEO ล่าสุดลดสัดส่วนธุรกิจ Horizon Plus เปิดทาง Foxconn ถือหุ้นใหญ่แทน "อรุณพลัส" ลดลงเหลือ 40% จากเดิม 60% ยันเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของ ปตท. ไม่ส่งผลกระทบต่อการดําเนินงาน ทำในสิ่งที่ถนัด และไม่ทำกำไร

KEY

POINTS

  • Arun Plus บริษัทย่อยปตท. ถือหุ้นลดลงเหลือ 40% โดยให้ Horizon Plus ดําเนินการลดทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้ว เป็นจํานวนเงินประมาณ 5,100 ล้าน
  • การลดทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วของ Horizon Plus เป็นไปตามนโยบายการปรับโครงสร้าง การดําเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของ ปตท. 
  • การลดสัดส่วนธุรกิจอีวีของกลุ่มปตท. ถือเป็นนโยบายตามวิสัยทัศน์ของ CEO ตามชูวิชั่นปี 2568 ดันปตท. ยั่งยืนในทุกมิติ 

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ถือเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกต่างออกมาตรการสนับสนุนนโยบายเปลี่ยนเครื่องยนต์สันดาปภายในเป็นรถไฟฟ้าเพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากกลุ่มยานยนต์ถือเป็นกลุ่มที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่สูง สร้างมลพิษและส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นโยบาย 30@30 เป็นแนวทางการส่งเสริมอีวีของประเทศ เพื่อให้มุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก โดยคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) 

เป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 725,000 คัน รถจักรยานยนต์ 675,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 34,000 คัน นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมการผลิตรถสามล้อ เรือโดยสาร และรถไฟระบบรางอีกด้วย

ดังนั้น กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทยต่างเล็งเห็นถึงธุรกิจอีวี จึงเริ่มมีเป้าหมายการผลิตที่ชัดเจน แต่ด้วยการลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่จะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง และต้องอาศัยความร่วมมือกับกลุ่มบริษัทที่มีความรู้ความสามารถที่เพียงพอ เพื่อสร้างเม็ดเงินและกำไรตามแผนที่ลงทุนไป

อย่างไรก็ตาม จากพิษเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อีกทั้งผู้ผลิตอีวีจีนเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยหลายแบรนด์ ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยมียอดผลิตลดลง ทำให้ธุรกิจที่จะลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีไทย ต้องปรับแผนลงทุนใหม่ ไม่เว้นแม้แต่ กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ต้องลดสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจอีวีเช่นกัน

บทเรียน ปตท.ถอยลงทุน EV ตัดทิ้งธุรกิจเสี่ยงไม่ทำกำไร

จากกรณีที่ นางสาวภัทรลดา สง่าแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ฮอริษอน พลัส จํากัด (Horizon Plus)

ได้มีมติอนุมัติการปรับโครงสร้างการถือหุ้น Horizon Plus ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท อรุณ พลัส จํากัด (Arun Plus) กับบริษัท ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จํากัด (Lin Yin) ในสัดส่วนการถือหุ้น 60% และ 40% ตามลําดับ (บริษัท อรุณ พลัส จํากัด เป็น บริษัทย่อยซึ่ง ปตท. ถือหุ้น 100%)  

โดยให้ Horizon Plus ดําเนินการลดทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้ว เป็นจํานวนเงินประมาณ 5,100 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการลดทุนจดทะเบียน Arun Plus และ Lin Yin จะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน Horizon Plus 40% และ 60% ตามลําดับ และมีทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้ว คงเหลือจํานวนประมาณ 5,400 ล้านบาท 

บทเรียน ปตท.ถอยลงทุน EV ตัดทิ้งธุรกิจเสี่ยงไม่ทำกำไร

ทั้งนี้ การลดทุนจดทะเบียนที่ชําระแล้วของ Horizon Plus เป็นไปตามนโยบายการปรับโครงสร้าง การดําเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของ ปตท. ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการดําเนินงานของ ปตท. โดยคาดว่าจะดําเนินการลดทุนจดทะเบียนแล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 2568 และส่งผลให้บริษัท Horizon Plus สิ้นสภาพการเป็นบริษัทย่อย ปตท. 

บทเรียน ปตท.ถอยลงทุน EV ตัดทิ้งธุรกิจเสี่ยงไม่ทำกำไร

อย่างไรก็ตาม ในการลดสัดส่วนธุรกิจอีวี ถือเป็นอีกนโยบายตามวิสัยทัศน์ของนายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. แถลงนโยบายถึงการดำเนินธุรกิจกลุ่มปตท. ตามวิชั่นปี 2568 ดันปตท. ยั่งยืนในทุกมิติ ต่อยอดธุรกิจที่มีโอกาส ไม่เน้นกำไรระยะสั้น ตัดใจเลิกธุรกิจที่ไม่ Perform ทรานส์ฟอร์มองค์กรมุ่งสู่ธุรกิจใหม่สร้างความยั่งยืนในอนาคต

สำหรับ Horizon Plus คือบริษัทร่วมทุนของ อรุณ พลัส และ Lin Yin ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป เพื่อร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ Horizon Plus มีเป้าหมายที่จะก่อตั้งโรงงานผลิต EV บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ของไทย 

ทั้งนี้ มีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2567 มีกำลังการผลิตที่ 50,000 คัน/ปี และตั้งเป้าจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คัน/ปี ภายในปี 2573 เนื่องจากสภาพตลาดการแข่งขันรถ EV รุนแรง และสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทำให้ต้องเลื่อนโครงการผลิต EV ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

บทเรียน ปตท.ถอยลงทุน EV ตัดทิ้งธุรกิจเสี่ยงไม่ทำกำไร

สำหรับ ฮอริษอน พลัส ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2565 ดำเนินการตามแนวคิด BOL (Build-Operate-Localize) และเป้าหมายหลักเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และซัพพลายเชน เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว โดยโรงงานจะตั้งบนฐานการผลิตพื้นที่ 500,000 ตร.ม.เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจากเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบดั้งเดิม (ICE) ไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ฮอริษอน พลัส จะทำหน้าที่บริการออกแบบและผลิตตามสัญญา เพื่อให้บริการเจ้าของแบรนด์ทุกรายที่ต้องการผลิตรถยนต์ในไทย โดยใช้แพลตฟอร์ม MIH ในการปรับปรุงโฉมการผลิตอีวีทั่วโลก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และซอร์ฟแวร์สำหรับอีวีทั่วโลก 

บทเรียน ปตท.ถอยลงทุน EV ตัดทิ้งธุรกิจเสี่ยงไม่ทำกำไร

โดยคาดว่าจะลงทุน 37,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างอุปกรณ์การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยตั้งเป้าสร้างเสร็จและถึงขั้นตอนการส่งมอบการผลิตในปี 2567 และในเบื้องต้นจะมีกำลังการผลิต 50,000 คันต่อปี และจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 คันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอาเซียนที่เพิ่มขึ้นภายในปี 2573

เว็บไซต์ www.honhai.com ของบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (ฟ็อกซ์คอนน์) ได้รายงานพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2565 มีผู้เข้าร่วม เช่น นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), นายพิริยะ เข็มผล ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), ดร.จวง ซั่วหาน ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย, Jian Yibin ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มธุรกิจ D ของกลุ่ม Hon Hai Technology

สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ เกิดขึ้นในสมัยที่นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เพื่อผลิตและลงทุนอีวี และยังลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการถ่ายทอดความรู้และการฝึกอบรมแรงงาน รวมทั้งโรงงานผลิตอีวีจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับซัพพลายเชนรถยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท.รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน

บทเรียน ปตท.ถอยลงทุน EV ตัดทิ้งธุรกิจเสี่ยงไม่ทำกำไร

นอกจากนี้ เว็บไซต์ www.honhai.com ยังรายงานว่ารถยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักในระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งคิดเป็นประมาณ 6% ของ GDP ของประเทศไทย และมีการจ้างงานมากกว่า 750,000 คน โดยการเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ของบริษัทฮอริษอน จำกัด ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงสร้างงานและฝึกอบรมพนักงานเท่านั้น แต่ยังรักษาสถานะของประเทศไทยในฐานะเมืองดีทรอยต์ของเอเชียอีกด้วย

สำหรับ Hon Hai Precision Industry Co., Ltd. (รหัสตลาดหลักทรัพย์ไต้หวัน : 2317) ก่อตั้งขึ้นในไต้หวันในปี 2517 จากแม่พิมพ์และได้พัฒนาเป็นผู้ให้บริการไฮเทคอันดับแรกของโลก โดยมีส่วนแบ่งการตลาด มากกว่า 40% ครอบคลุมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค, ผลิตภัณฑ์เครือข่ายคลาวด์, ผลิตภัณฑ์เทอร์มินัลคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบอื่นๆ 

บทเรียน ปตท.ถอยลงทุน EV ตัดทิ้งธุรกิจเสี่ยงไม่ทำกำไร

ทั้งนี้ ปัจจุบันเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวันและมีรายได้รวมในปี 2564 อยู่ที่ 5.99 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวัน รวมทั้งมีแผนธุรกิจทั่วโลก ครอบคลุม 3 ทวีป และมีฐานการผลิตและบริการในกว่า 20 ประเทศและภูมิภาค

และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ลงทุนใน 3 อุตสาหกรรมเกิดใหม่ ได้แก่ "ยานยนต์ไฟฟ้า สุขภาพดิจิทัล และหุ่นยนต์" นอกจากนี้ ได้ลงทุนใน 3 สาขาเทคโนโลยีใหม่ ได้แก่ "ปัญญาประดิษฐ์ เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่"