‘ภาษีคาร์บอน’ ผ่านเห็นชอบคณะกรรมการกลั่นกรองเศรษฐกิจ จ่อเข้า ครม. เดือนนี้

‘ภาษีคาร์บอน’ ผ่านเห็นชอบคณะกรรมการกลั่นกรองเศรษฐกิจ จ่อเข้า ครม. เดือนนี้

“ภาษีคาร์บอน” เตรียมเข้าครม. ในเดือนม.ค.นี้ หลังผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกลั่นกรองเศรษฐกิจฯ ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง เป็นประธาน

สำหรับความคืบหน้าในการบังคับใช้ภาษีคาร์บอน ล่าสุดแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวได้ผ่านการกลั่นกรองจากที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ครม.ด้านเศรษฐกิจ และการเกษตร คณะที่ 5 ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น รวมทั้งกระทรวงพลังงาน ซึ่งก่อนหน้านี้มีความเห็นต่างในหลักการภาษีคาร์บอน เนื่องจากห่วงกังวลว่าจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะเป็นต้นทุนสำคัญที่จะกระทบกับผู้ประกอบการและประชาชน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ข้อสรุปในที่สุด

โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไปภายในเดือนม.ค.นี้

ทั้งนี้ แม้การจัดเก็บภาษีคาร์บอนจะมีผลบังคับใช้ล่าช้าจากเดิมก็จะยังไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากอัตราภาษีคาร์บอนอยู่บนภาษีสรรพสามิตน้ำมันเดิม ซึ่งจะเป็นกลไกภาษีไปพลางในระหว่างที่ร่าง พ.ร.บการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังไม่มีผลบังคับใช้ 

สำหรับภาษีคาร์บอนที่จะเสนอเข้าครม.นั้น จะมีการแก้กฎกระทรวง และออกประกาศกรมสรรพสามิตกำหนดภาษีคาร์บอนในน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยกำหนดราคาที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า

รวมทั้งอัตราดังกล่าวจะทำให้น้ำมันดีเซล 1 ลิตร คำนวณการปล่อยคาร์บอน 0.0027 คูณกับราคาคาร์บอน 200 บาท เท่ากับ 0.55 บาทต่อลิตร โดยภาษีคาร์บอน 0.55 บาท ดังกล่าว จะรวมอยู่ในภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บอัตราลิตรละ 6.44 บาท ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดเก็บภาษีของญี่ปุ่นที่กระทรวงการคลังนำมาปรับใช้ในไทย

ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวในระยะแรกใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน ซึ่งทำให้ภาษีคาร์บอนเข้าไปอยู่ในภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเดิม ซึ่งทำให้ยังคงเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราเท่าเดิม โดยร่างประกาศที่เสนอ ครม.จะกำกับไว้ว่าอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันยังคงเหมือนเดิม

การคำนวณภาษีคาร์บอนในน้ำมันชนิดต่างๆ จะขึ้นอยู่กับค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factors) ตามมาตรฐานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การบังคับใช้ภาษีคาร์บอนระยะแรกจะไม่มีผลกระทบต้นทุนราคาน้ำมัน โดยระยะเริ่มต้นจะคำนึงถึงผลกระทบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งที่คิดเป็น 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ขณะที่ในระยะต่อไปจำเป็นที่จะต้องขยับเพิ่มตามความเหมาะสม เพื่อเป็นกลไกที่สนับสนุนการลดโลกร้อนมากขึ้น

สำหรับประเภทน้ำมันที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก ราคาภาษีคาร์บอนก็จะสูงกว่าน้ำมันที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า ซึ่งอัตราภาษีสรรพสามิตในปัจจุบัน น้ำมันที่ใช้พลังงานทดแทนก็มีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า

นอกจากนี้ มาตรการภาษีคาร์บอนเป็นกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับที่สร้างการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการปล่อยคาร์บอนให้ผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ส่งสินค้าออกไปยังประเทศปลายทางที่เสียภาษีในส่วนนี้นำไปเจรจาลดหย่อนค่าธรรมเนียม Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ได้ ซึ่งระยะแรกจะมีการปรับใช้ภาษีคาร์บอนโดยใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการเก็บภาษี สรรพสามิตน้ำมัน ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน โดยไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชน