'พลังงาน' ยันโรงไฟฟ้าสำรองจำเป็น สร้างความมั่นคง ลุยปรับลดค่าไฟ ดึงลงทุน
กระทรวงพลังงาน ชี้ จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรองเพื่อรับรองความต้องการใช้ตลอดเวลา ถึงแม้บางโรงไฟฟ้าจะไม่ได้เดินเครื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนทั้งใน-ต่างประเทศ รองรับการลงทุนด้าน Data Center และอีวี ด้านดัชนีคุณภาพบริการไฟฟ้าไทยอยู่ในระดับต้นๆ ของอาเซียน
วันนี้ (14 มกราคม 2568) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรอง เนื่องจากต้องคำนึงถึงความมั่นคงและการให้บริการกับประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีตัวเลขสำรองไฟฟ้า หรือ Reserve Margin อยู่ที่ 25.5%
แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลให้แผนการผลิตไฟฟ้าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่เกิดโควิดจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากดัชนีมวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ก็ไม่เป็นไปตามคาด แต่ใน PDP2024 ก็ได้มีการปรับแผนโดยจะมีการใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้น อีกทั้งราคาต้นทุนปัจจุบันเริ่มลดลง คาดว่าราคาค่าไฟฟ้าในอนาคตก็จะปรับตัวลงด้วย
นอกจากนั้น ดัชนีแสดงค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง (SAIFI) ของประเทศไทยอยู่ในระดับค่อนข้างเสถียรเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน หรืออยู่ที่ระดับ 0.88 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามและ สปป.ลาว ซึ่งมีค่าไฟฟ้าถูกกว่าเนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำ แต่ดัชนี SAIFI สูงถึง 3.23 และ 18.35 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปีตามลำดับ
ทั้งนี้ ต้องชี้แจงก่อนว่า โรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องแต่รัฐยังคงต้องจ่ายเงินให้ มีต้นทุนมาจาก 2 ส่วนสำคัญคือ 1. ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment : AP) ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ครอบคลุมตั้งแต่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าผลิต ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย โดยเอกชนจะต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้พร้อมใช้ตลอดเวลาและสามารถผลิตไฟฟ้าตามความต้องการประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยไม่สะดุด
การกำหนดค่า AP เป็นแนวปฏิบัติในทางสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่สะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องจ่ายไปก่อน และเอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงในการบริหารด้านต้นทุนเองทั้งหมด ซึ่งรัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ จริงๆ แล้วค่าพร้อมจ่ายมีอยู่ในเกือบทุกโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า แต่อาจจะจัดเก็บในรูปแบบที่แตกต่างกัน
2. ต้นทุนเชื้อเพลิง (Energy Payment : EP) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าจะได้รับค่า EP ตามปริมาณเชื้อเพลิงที่ กฟผ. สั่งการให้ทำการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ที่ผ่านมา ภาพรวมในการผลิตไฟฟ้า
กระทรวงพลังงานก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้า ดังนั้น โรงไฟฟ้าสำรองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิด Peak และพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้