‘นายก’ ลงพื้นที่นราธิวาส เร่งรถไฟทางคู่สายใต้

‘นายก’ ลงพื้นที่นราธิวาส เร่งรถไฟทางคู่สายใต้

นายก” นำทีมกระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เร่งรัดติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ขณะที่ “วีริศ” เผย เร่งเดินหน้ายกระดับระบบขนส่งทางราง ช่วยหนุนเศรษฐกิจชายแดนใต้

วันนี้ (16 มกราคม 2568) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบขนส่งทางรางจากทางเดี่ยวเป็นทางคู่ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาขนส่งทางรางให้เป็นแกนหลักของระบบการขนส่งสาธารณะ โดยมีเป้าหมายยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค เพื่อรองรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจ การค้า และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ด้วย โดยมีนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนโครงการรถไฟทางคู่ต่างๆ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ติดตามความคืบหน้าการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร 2.ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ - สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร และ 3.ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 เส้นทาง อยู่ระหว่างจัดเตรียมข้อมูลนำเสนอต่อ ครม. เพื่ออนุมัติโครงการต่อไป

‘นายก’ ลงพื้นที่นราธิวาส เร่งรถไฟทางคู่สายใต้

ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - สุไหงโกลก ที่ปัจจุบันเป็นทางเดี่ยว ระยะทาง 216 กิโลเมตร การรถไฟฯ มีแผนพัฒนาก่อสร้างเส้นทางดังกล่าวให้เป็นทางคู่ ครอบคลุมสถานีรถไฟ 27 สถานี และที่หยุดรถไฟ 8 แห่ง พร้อมย่านเก็บกองและขนถ่ายสินค้า (Container Yard) ที่สถานีนาม่วง และสถานีสุไหงโกลก จำนวน 2 แห่ง ด้วยงบประมาณ 34,590 ล้านบาท โดยการรถไฟฯ อยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง เพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการ

หากโครงการรถไฟทางคู่ต่างๆ ดำเนินการแล้วเสร็จ จะเป็นหนึ่งในระบบขนส่งสาธารณะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและตอบโจทย์การเดินทางของประชาชนในเส้นทางสายใต้ รองรับการเดินทางด้วยราคาที่ประหยัด อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการค้า การลงทุน ระหว่างสองประเทศอย่างยั่งยืน รวมถึงยังเป็นการพัฒนาพื้นที่ชายแดนใต้ การค้าชายแดน การท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างระบบขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้

‘นายก’ ลงพื้นที่นราธิวาส เร่งรถไฟทางคู่สายใต้           

“ท่านนายกฯ ได้สั่งการให้เร่งรัดพัฒนารถไฟทางคู่ให้เกิดความสะดวก ปลอดภัยกับผู้ใช้บริการ และส่งเสริมการขนส่งสินค้าเกษตรต่างๆ เพื่อเพิ่มการส่งออกสินค้า ซึ่งจะช่วยเร่งจีดีพีของประเทศ รวมถึงให้ติดตามเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรต่างๆ และเทคโนโลยีของประเทศเพื่อนบ้านว่ามีอะไรที่ก้าวหน้ากว่าเราหรือไม่ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสนับสนุนสินค้าการเกษตร ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในทุก ๆ พื้นที่” นายวีริศ กล่าวทิ้งท้าย