อัปเดต Easy E-Receipt 2.0 ลดหย่อนภาษี สูงสุด 50,000 บาท เริ่มแล้ววันนี้ - 28 ก.พ.
อัปเดต Easy E-Receipt 2.0 มาตรการลดหย่อนภาษี สูงสุด 50,000 บาท ซื้อสินค้าและบริการในประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. - 28 ก.พ. 68 เช็กที่นี่! สินค้าหรือค่าบริการใดที่ไม่สามารถหักลดหย่อนได้
อัปเดต มาตรการลดหย่อนภาษี Easy E-Receipt 2.0 เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 โดย ผู้เสียภาษี สามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศ ตามจำนวนที่จ่ายจริงมาลดหย่อนภาษี ได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีต้องได้รับเอกสารยืนยันการใช้จ่ายในรูปแบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เท่านั้น
นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร ได้จัดทำรายชื่อผู้ประกอบการที่ใช้ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และระบบ e-Tax Invoice by Time Stamp เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการได้ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 เป็นต้นไป ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th หรือที่ https://etax.rd.go.th/ETAXSEARCH normal_person.html
ทั้งนี้ เมื่อผู้เสียภาษีซื้อสินค้าหรือใช้บริการแล้ว ให้ขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) โดยระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เพื่อความถูกต้องและครบถ้วนในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
“มาตรการภาษี Easy E-Receipt 2.0 เป็นมาตรการที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศ และเป็นการลดภาระภาษีของประชาชน จึงขอเชิญชวนผู้เสียภาษีซื้อสินค้า หรือรับบริการ พร้อมใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว
โดยมาตรการนี้ ผู้เสียภาษี สามารถลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท แบ่งเป็น
- ลดหย่อนสูงสุด 30,000 บาท ซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt)
- ลดหย่อนเพิ่มเติมอีก 20,000 บาท ต้องใช้หลักฐาน e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เช่นกัน โดยซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP), ซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชน, ซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคม
เช็ก สินค้าหรือค่าบริการใดบ้างที่ "ไม่สามารถหักลดหย่อนได้"
1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
2. ค่าซื้อยาสูบ
3. ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
4. ค่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และค่าซื้อเรือ
5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 เช่น ค่าสมาชิกต่างๆ
7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว
9. ค่าที่พักในโรงแรม
10. ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย
11. ค่าที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร RD Intelligence Center โทรศัพท์หมายเลข 1161 หรือติดต่อที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่งทั่วประเทศ