ปี68อุตฯการบินทุบสถิติผู้โดยสารแตะ5พันล้านคนครั้งแรก

ธุรกิจการบิน เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในแง่กายภาพที่สนับสนุนให้การเดินทางทำธุรกิจการค้าและท่องเที่ยวเดินหน้าไปได้ และในแง่ตัวเลขทางเศรษฐกิจพบว่า ปี 2567 ประมาณการว่าจะเติมเงินเข้าเศรษฐกิจโลกสูงถึง 31.5 พันล้านดอลลาร์
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ประกาศแนวโน้มทางการเงินสำหรับอุตสาหกรรมสายการบินทั่วโลกในปี 2025 ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำกำไรได้อย่างดีท่ามกลางความท้าทายด้านต้นทุนและห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่ยังมีปัจจัยน่ากังวลอยู่หลายประการ
IATA คาดการณ์ว่ากำไรอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกในปี 2568 จะอยู่ที่ 36,600 ล้านดอลลาร์ มีอัตรากำไรสุทธิ 3.6% ซึ่งดีขึ้นเล็กน้อยจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีกำไรสุทธิ 31,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 และมีอัตรากำไรสุทธิ 3.3% คาดว่ากำไรสุทธิเฉลี่ยต่อผู้โดยสารจะอยู่ที่ 7.0 ดอลลาร์ ต่ำกว่าระดับสูงสุด 7.9 ดอลลาร์ในปี 2566 แต่ดีขึ้นจาก 6.4 ดอลลาร์ในปี 2567
"ปี 2568 คาดว่ารายได้รวมของอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 1.007 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 4.4% จากปี 2567และจะเป็นครั้งแรกที่รายได้ของอุตสาหกรรมทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์ คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะสูงถึง 5.2 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 6.7% เป็นครั้งแรกที่จำนวนผู้โดยสารเกิน 5 พันล้านคน คาดการณ์ว่าปริมาณสินค้าจะสูงถึง 72.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.8% ตั้งแต่ปี 2567"
สำหรับตลาดในภูมิภาคเอเชีย IATA ประเมินว่า เอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในแง่ของปริมาณการขนส่งด้านผู้โดยสาร( RPK) โดยจีนกินส่วนกว่า 40% ของปริมาณในภูมิภาค ที่เติบโตถึง 18.6% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการกระตุ้นตลาดจากการผ่อนปรนข้อกำหนดวีซ่าสำหรับการเข้าประเทศหลายประเทศ รวมถึงจีน เวียดนาม มาเลเซีย และไทย
“แม้ว่าสายการบินของจีนรายงานการขาดทุนสุทธิในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากอุปทานส่วนเกินในตลาดภายในประเทศจีนเอง และการจำกัดเที่ยวบิน 100 เที่ยวต่อสัปดาห์จากจีนไปยังสหรัฐซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าก่อนเกิดโรคระบาดถึงหนึ่งในสาม”
หากมองในปี 2025 จะเป็นครั้งแรกที่จำนวนนักเดินทางจะเกิน 5 พันล้านคนและจำนวนเที่ยวบินจะสูงถึง 40 ล้านเที่ยวบิน การเติบโตนี้หมายความว่าการเชื่อมต่อทางการบินจะสร้างและสนับสนุนงานในเศรษฐกิจโลก ภาคที่เห็นได้ชัดที่สุดคือภาคการบริการและการค้าปลีกซึ่งจะเตรียมพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น แต่แทบทุกธุรกิจได้รับประโยชน์จากการเชื่อมต่อที่การขนส่งทางอากาศมอบให้ ทำให้พบปะลูกค้า รับสินค้า หรือขนส่งสินค้าได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายงานเล่าถึงปัจจัยเสี่ยงอุตสาหกรรมการบินในปี 2568 ว่า ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจที่รุนแรง เป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อแนวโน้มอุตสาหกรรม โดยความขัดแย้งมองว่ามีแนวโน้มจะแย่ลงหากสงครามในยุโรปและตะวันออกกลางลุกลาม แต่ในทางกลับกันหากสามารถบรรลุสันติภาพก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบในเชิงบวกอุตสาหกรรมการบินได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสงครามรัสเซีย-ยูเครน
"รายงานชี้ว่า ปัจจัยรัฐบาลทรัมป์ นำมาซึ่งความไม่แน่นอนที่สำคัญหลายประการ ทั้ังภาษีศุลกากรและสงครามการค้ามีแนวโน้มที่จะทำให้ความต้องการสินค้าทางอากาศลดลง และอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางเพื่อธุรกิจด้วย หากนโยบายเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้ออีกครั้งและต่อไปที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะเป็นผลกระทบเชิงลบต่อความต้องการในการบิน
“ตอนนี้ยังรอความชัดเจนว่า รัฐบาลสหรัฐจะยังไปต่อเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบินหรือไม่ หากยังทำต่อเนื่องเป้าหมายคาร์บอนศูนย์ก็จะดีขึ้นๆ แต่หากไม่ไปต่อ ต้องยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมการบินจะง่ายขึ้น เช่ การยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ เป็นต้น ”
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงอีกประการที่มองข้ามไม่ได้คือ ราคาน้ำมัน แม้ว่าราคาน้ำมันและต้นทุนเชื้อเพลิงในปี 2568 คาดว่าจะลดลงและเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับธุรกิจ แต่หากสถานการณ์พลิกผันไปในทางตรงกันข้าม ก็จะกระทบต่อธุรกิจการบินได้ในที่สุดด้วย
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานประจำปี 2567 ภาพรวมผู้โดยสารมีจำนวน 140 ล้านคน เพิ่มขึ้น 15.12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และมีการฟื้นตัว 85.14% เมื่อเทียบกับสภาวะปกติ ขณะที่ปริมาณเที่ยวบินในปี 2567 ในภาพรวมมีจำนวนมากถึง 8.8 แสนเที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 11.90% เมื่อเทียบกับปี 2566 ขณะที่ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมีการเติบโตมากกว่าสถานการณ์ปกติ คิดเป็น 101.63% เมื่อเทียบกับปี 2562 และมีจำนวนมากกว่าปี 2566 ถึง 22.4% จึงกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมการบินในปี 2568 มีทิศทางในการฟื้นตัวและสามารถกลับมาเติบโตได้ในระดับเดียวกันกับปี 2562
ขณะที่ปัจจุบันตลาดอุตสาหกรรมการบินของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 19 ของโลก และมีการคาดการณ์จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA ว่าตลาดการบินของไทยมีโอกาสขยายตัวจนขึ้นสู่อันดับที่ 9 ของโลกภายในปี 2576 ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลางการบินที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคและระดับโลกอย่างชัดเจน ดังนั้นแล้วหน่วยงานด้านการบินจะต้องเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการให้บริการ การรักษามาตรฐานความปลอดภัยระดับสากล รวมทั้งต้องเร่งผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ขณะที่ผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาราคาตั๋วเครื่องบิน พบว่า มาตรการการเพิ่มเที่ยวบินพิเศษช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ที่สายการบินให้ความร่วมมือ และมีที่นั่งเพิ่มขึ้นกว่า 70,000 ที่นั่งนั้น ทำให้ตั๋วเครื่องบินมีราคาลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและผู้โดยสารเข้าถึงราคาตั๋วเครื่องบินได้มากขึ้น และในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ CAAT ได้หารือ ร่วมกับสายการบินและผู้ให้บริการทุกหน่วยงานในการเตรียมมาตรการรองรับด้านต่างๆเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางและได้ราคาตั๋วเครื่องบินที่เหมาะสม