‘เทรดวอร์’ รอบใหม่กระทบ 23 อุตสาหกรรม กกร.ชงรัฐสกัดสินค้าจีนทะลักไทย

‘เทรดวอร์’ รอบใหม่กระทบ 23 อุตสาหกรรม กกร.ชงรัฐสกัดสินค้าจีนทะลักไทย

กกร.เผยสงครามการค้ารอบใหม่กระทบไทยยาว แนะรัฐบาลแลกข้อตกลงสหรัฐลดความเสี่ยงไทยได้ดุลการค้า จ้างล็อบบี้ยิสต์มือ 1 ตั้งวอร์รูม “ทีมไทยแลนด์” หวั่นสินค้าจีนทะลักไทยกระทบ 23 อุตสาหกรรม “เหล็ก - เครื่องใช้ไฟฟ้า - อาหาร” กระทบหนัก “คลัง” ยืนยันรัฐบาลตั้งคณะทำงานดูแลผลกระทบ

KEY

POINTS

  • สงครามการค้ารอบใหม่เริ่มขึ้น "ทรัมป์" ใช้คำสั่งของฝ่ายบริหารเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก-แคนาดา-จีน ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ เช่น สิน

สงครามการค้ารอบใหม่เริ่มแล้วหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ใช้คำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Order) เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก แคนาดา และจีน ท่ามกลางการตอบโต้คืน โดยเฉพาะจีนประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ เช่น สินค้าเกษตร

ในขณะที่รัฐบาลไทยมีแผนที่จะเจรจาสหรัฐที่มีแนวโน้มขึ้นภาษีสินค้านำเข้าไทย 10% หลังจากไทยได้ดุลการค้าสหรัฐต่อเนื่อง ส่วนผลกระทบอีกด้านมาจากการประเมินแนวโน้มสินค้าของสหรัฐ

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย วันที่ 5 ก.พ.2568 ได้หารือสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยมีการประเมินถึงกรณีที่สินค้าจีนถูกสหรัฐกีดกัน และทำให้จีนหันมาส่งออกไปประเทศอื่นมากขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท.ในฐานะประธานการประชุม กกร.กล่าวว่า กลุ่มสินค้าสำคัญที่ได้รับผลกระทบมาก เช่น เหล็ก พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม แก้ว และกระจก เครื่องสำอาง รวม 23 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งหากไม่ทำอะไรเลยปีนี้จะกระทบเพิ่มเป็น 30 กลุ่มอุตสาหกรรม

รายงานข่าวระบุว่า กกร.และกระทรวงพาณิชย์ได้มีการหารือผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม 23 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยครอบคลุมผลกระทบจากการนำเข้า ผลกระทบต่อการผลิต และผลกระทบต่อชั่วโมงทำงาน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก อาทิ

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก มีผลกระทบจากการนำเข้าต่อผลิตภัณฑ์โลหะ รวมทั้งผลกระทบการผลิตต่อโลหะขั้นมูลฐาน และผลกระทบชั่วโมงทำงานต่อผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์

‘เทรดวอร์’ รอบใหม่กระทบ 23 อุตสาหกรรม กกร.ชงรัฐสกัดสินค้าจีนทะลักไทย

กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มีผลกระทบจากการนำเข้าต่ออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่มีผลกระทบการผลิตต่อการผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ และเครื่องใช้ในครัวเรือน

กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม มีผลกระทบจากการนำเข้าต่อข้าว และผลิตภัณฑ์จากแป้ง, ผักและผลไม้, นมและผลิตภัณฑ์นม, กาแฟ ชา และเครื่องเทศ, ขนมหวาน และช็อกโกแลต รวมทั้งมีผลกระทบการผลิต ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็นแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ธัญพืช

นอกจากนี้ มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และโลหะการ, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมอะลูมิเนียม, อุตสาหกรรมหล่อโลหะ, อุตสาหกรรมพลาสติก, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และหัตถกรรมสร้างสรรค์

อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือ และก่อสร้างงานเหล็ก, อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมเยื่อ และกระดาษ, อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเสริม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์, อุตสาหกรรมแกรนิต และหินอ่อน, อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมหนัง และผลิตภัณฑ์จากหนัง, อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

หวั่นผลกระทบทางอ้อมสินค้า“จีน”ทะลัก

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความกังวลผลกระทบทางอ้อมเพราะจีนคือ ผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก และได้ดุลการค้าสหรัฐตลอด โดยปี 2566 สหรัฐมีมาตรการกีดกันเข้มข้นจึงลดสัดส่วนการส่งออกไปถึง 20% จากเดิมมูลค่ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การไหลบ่าของสินค้าจีนมาในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมค่อนข้างให้ความสำคัญกับการสกัดสินค้าไม่ได้มาตรการเต็มที่ แต่ยอมรับว่ามีหลายงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องบูรณาการร่วมกัน

เปิด 6 แนวทางเตรียมรับผลกระทบ

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.หารือแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายสหรัฐ โดยเฉพาะมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าที่ทำให้การค้าโลกได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะสินค้าจีนที่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดสหรัฐอาจไหลทะลักกลับมาที่ไทย และประเทศคู่ค้าของไทย ทำให้แข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้น 

ดังนั้น กกร.จึงเสนอแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือทั้งผลกระทบจากทางตรงและทางอ้อม ดังนี้

1.การเจรจาระดับรัฐเพื่อป้องกัน และบรรเทาการใช้มาตรการทางการค้าจากสหรัฐรวมทั้งสร้างความร่วมมือกับประเทศในอาเซียนเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจร่วมกัน

2.การสนับสนุนในด้านกฎหมาย กฎระเบียบการค้า เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐ

3.การบูรณาการเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายในประเทศและการปฏิรูปกฎหมายเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน

4.การใช้มาตรการทางการค้าเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping :AD) ปรับลดระยะเวลาการไต่สวนการใช้มาตรการทางการค้า และการใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522

เข้ม Freezone ป้องกันสินค้าทะลัก

5.การควบคุมการตั้งหรือขยายโรงงาน รวมทั้งการให้การส่งเสริมในอุตสาหกรรมที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการ (Over Capacity) รวมถึงการกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมในเขต Freezone อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการลักลอบนำสินค้า และวัตถุดิบกลับมาขายในประเทศ

6.การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศ หรือสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MIT) ทั้งการ เพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การส่งเสริมขยายตลาดภาคเอกชน รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศในโครงการรัฐ เช่น การกำหนดการใช้สินค้าไทยในโครงการบ้านเพื่อคนไทยไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าโครงการ

แนะเร่งจ้างล็อบบี้ยิสต์เจรจาสหรัฐ

ขณะที่ผลกระทบทางตรงที่สหรัฐอาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าไทย นายเกรียงไกร กล่าวว่า การที่กระทรวงพาณิชย์หารือกับสหรัฐ ถือเป็นนโยบายเชิงลึกถือว่าแอคทีฟ เพราะทรัมป์มีความชัดเจนเรื่องการแลกเปลี่ยน “หมูไปไก่มา” ซึ่งไทยได้ดุลการค้าอยู่ที่อันดับที่ 11 เพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2562 จากระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นปี 2567 กว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ จึงอยู่ในข่ายที่โดนจับตา

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลไทยจะต้องเร่งคุยเพื่อต่อรอง ซึ่งเอกชนเสนอรัฐบาล 2 เรื่อง คือ

1.ตั้งวอร์รูมที่มีทั้งรัฐ และเอกชนเป็น “ทีมไทยแลนด์” ซึ่ง กกร.ส่งหนังสือถึง น.ส.แพทอง ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อตั้งรับผลกระทบเพราะเอกชนมีข้อมูล

2.เสนอจ้างล็อบบี้ยิสต์เก่ง เพราะเป็นกลไกที่สำคัญ ทุกประเทศจ้างหมดอย่าช้าเพื่อไม่ให้โดนประเทศอื่นแย่งคนเก่งไป และไทยจะได้ล็อบบี้ยิสต์เทียร์ 2 หรือเทียร์ 3 

ดังนั้น กรณีนี้ที่ประกาศขึ้นภาษีประเทศอื่นอาจเป็นประโยชน์ต่อไทย เพราะเม็กซิโกส่งออกสหรัฐ 77% เมื่อโดนขึ้นภาษีสินค้าจะแพงขึ้น ทำให้สินค้าจากเอเชียรวมถึงไทยมีโอกาสแข่งขันในสหรัฐในช่วงสั้น

สำหรับประเด็นที่ภาครัฐให้เพิ่มการนำเข้าเอทานอลจากสหรัฐ1 ล้านตัน คิดเป็นเงินไทยราว 7,000 ล้านบาท ถือว่าไม่มาก ซึ่งยังมีกากถั่วเหลือง และพืชเกษตรอื่นๆ อีก ซึ่งเท่าที่ดูสหรัฐอยากขายอาวุธ และเครื่องบินที่เป็นสินค้าของสหรัฐที่ต้องคุยแลกเปลี่ยนด้วย

กกร.หวังนายกฯ เจรจาจีน

ทั้งนี้ การที่นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเจรจากับนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เข้าใจว่าการเดินทางไปคือ การไปพัฒนาความสัมพันธ์ แต่ก็หวังว่านายกรัฐมนตรี จะหยิบเรื่องเศรษฐกิจมาหารือ เพราะเป็นคู่ค้าสำคัญกันมานาน 

รวมทั้งอาจจะยกประเด็นการย้ายฐานการผลิตของโรงงานจีนให้มาอยู่ในไทยโดยใช้วิธีร่วมธุรกิจเป็นพันธมิตร โดยให้คนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งไม่ถือเป็นนอมินีเพื่อลดการถูกจับตาจากสหรัฐได้

“เอกชนยังยืนยันให้ตั้งวอร์รูมเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความเห็น และข้อเสนอแนะในการเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐ” นายเกรียงไกร กล่าว

“รัฐบาล”ตั้งทีมเกาะติดสินค้าทะลัก

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีการตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการในการรับมือต่อไป รวมทั้งจับตาการตัวเลขสินค้านำเข้าจากต่างประเทศว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

โดยเฉพาะสินค้าจีนที่มีแนวโน้มว่าจะทะลักเข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น จากสงครามการค้าครั้งใหม่นี้ อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีของทรัมป์ไม่ได้ทำให้เกิดสินค้านำเข้าที่ทะลักเข้ามาในทันที แต่อยู่ที่ความต้องการสินค้าในประเทศด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังดำเนินมาตรการภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท โดยกรมศุลกากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทนกรมสรรพากรจนถึงสิ้นปี 2568 ซึ่งกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบจัดเก็บจากแพลตฟอร์มโดยตรงที่มีการขายสินค้านำเข้าในไทย โดยตั้งแต่เริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้ามูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 220 ล้านบาทต่อเดือน

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์