จับตาบอร์ดชุดใหม่ 'การบินไทย' ตัวแทนจาก 'ผู้ถือหุ้น' เปิดตัว ก.พ.นี้
![จับตาบอร์ดชุดใหม่ 'การบินไทย' ตัวแทนจาก 'ผู้ถือหุ้น' เปิดตัว ก.พ.นี้](https://image.bangkokbiznews.com/uploads/images/md/2025/02/78kD3VIPF8qST6Jswe8R.webp?x-image-process=style/LG)
“การบินไทย” เตรียมเปิดรายชื่อบอร์ดชุดใหม่ ก.พ.นี้ หลังเปิดให้ผู้ถือหุ้นเสนอตัวแทนชิงเก้าอี้สิ้นสุดเมื่อ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา จับตา “คลัง” ส่งตัวแทนภาครัฐเต็มโควตา 4 ที่นั่ง คาดประชุมผู้ถือหุ้นโหวตนัดแรก 18 เม.ย.นี้
KEY
POINTS
- "การบินไทย" เตรียมเปิดรายชื่อบอร์ดชุดใหม่ ก.พ.นี้ หลังเปิดให้ผู้ถือหุ้นเสนอตัวแทนชิงเก้าอี้สิ้นสุดเมื่อ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา จับตา "คลัง" ส่งตัวแทนภาครัฐเต็มโควตา 4 ที่นั่ง คาดประชุมผู้ถือหุ้นโหวตนัดแรก 18 เม.ย.นี้
- "สุริยะ" เผยไม่ได้หารือกระทรวงการคลังส่งตัวแทนนั่งบอร์ด "การบินไทย" เชื่อคลังจะใช้สิทธิ์ในการส่งตัวแทนเต็มโควต้าที่สามารถดำเนินการได้
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้าออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในเดือน พ.ค.2568 เนื่องจากเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการขณะนี้สามารถดำเนินการได้ครบถ้วนแล้ว โดยการบินไทยจะยื่นคำร้องออกจากแผนฟื้นฟูกิจการในเดือน เม.ย.2568 หลังจากนั้นคาดว่ากระบวนการพิจารณาน่าจะอยู่ที่ราว 1 เดือน และเมื่อได้รับการอนุมัติออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว ประเมินว่าจะสามารถกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในไตรมาส 2
โดยผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ ตามที่การบินไทยได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางไว้นั้น จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จรวม 4 เงื่อนไข ได้แก่
1.การเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยจะต้องดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุนและได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ
2.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย
3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนที่จะรายงานผลสำเร็จของแผนฟื้นฟู
4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น
ล่าสุดปัจจุบันการบินไทยอยู่ในขั้นตอนดำเนินการเงื่อนไขสุดท้ายที่กำหนดความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ โดยผู้บริหารแผนอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อตัวแทนที่ผู้ถือหุ้นได้เสนอเข้ามาเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด) ใหม่ ซึ่งได้หมดเขตยื่นรายชื่อไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ขณะนี้การบินไทยได้รับรายชื่อตัวแทนผู้ถือหุ้นเสนอเข้ามาเป็นบอร์ดแล้ว ซึ่งเป็นรายชื่อของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย และผู้บริหารแผนจะทำหน้าที่ให้การรวบรวมรายชื่อเหล่านี้เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งแรก ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 18 เม.ย.2568 และจะเป็นอำนาจของผู้ถือหุ้นในการโหวตรับรองแต่งตั้งผู้เหมาะสมเข้ามาเป็นบอร์ดและบริหารนโยบายของการบินไทยหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ
“ตอนนี้ผู้บริหารแผนกำลังรวบรวมรายชื่อตามที่ผู้ถือหุ้นเสนอมา คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จเห็นรายชื่อในเดือน ก.พ.นี้ หลังจากนั้นต้องรอเสนอในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อโหวตรับรอง และจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนพิจารณาในบอร์ดว่าผู้ใดมีความเหมาะสมในการเป็นตำแหน่งต่างๆ ของบอร์ดต่อไป”
อย่างไรก็ดี ในฐานะฝ่ายบริหารของการบินไทยมองว่าโครงสร้างบอร์ดที่เหมาะสม และเกิดความคล่องตัวของการบริหารงานนั้น โดยปกติแล้วหลายบริษัทจะมีกรอบจำนวนบอร์ดอยู่ที่ 5-15 คน ขณะที่บอร์ดการบินไทยในช่วงที่ผ่านมามีจำนวนเต็มกรอบ และส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากภาครัฐเนื่องจากการบินไทยเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นในขณะนี้ส่วนตัวมองว่าเพื่อบริหารงานคล่องตัวมากขึ้น จึงไม่ควรมีจำนวนบอร์ดมากเกินไป หรือไม่ควรถึงกรอบกำหนด 15 คน
ทั้งนี้รายชื่อบอร์ดชุดใหม่ของการบินไทยนั้น จะมาจากผู้ถือหุ้นเสนอตัวแทนตามสิทธิของสัดส่วนหุ้น ซึ่งในส่วนภาครัฐโดยกระทรวงการคลัง ปัจจุบันหลังปรับโครงสร้างทุนยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วนอยู่ที่ราว 39% และหากรวมการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดจะคงสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 48% เบื้องต้นจึงประเมินว่าหากภาครัฐส่งตัวแทนเป็นบอร์ดเต็มจำนวนสิทธินั้น น่าจะอยู่ที่ราว 3-4 คน
ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายอื่น ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ได้แปลงหนี้เป็นทุนปัจจุบันมีสัดส่วนถือหุ้นรวมประมาณ 52% จะมีสิทธิส่งตัวแทนเป็นบอร์ด อาทิ ธนาคารกรุงเทพ จะได้สิทธิส่งตัวแทน 1 คน สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีสิทธิส่งตัวแทน 1 คน และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์จะมีสิทธิส่งตัวแทนตามลำดับการถือหุ้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าภาครัฐในฐานะผู้ถือหุ้นการบินไทยได้ส่งตัวแทนบุคคลใดไปดำรงตำแหน่งบอร์ดการบินไทย เนื่องจากเป็นอำนาจของกระทรวงการคลังที่เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงในการส่งตัวแทนดังกล่าว ซึ่งตนยังไม่ได้หารือในรายละเอียดกับกระทรวงการคลัง แต่เบื้องต้นเชื่อว่ากระทรวงการคลังจะใช้สิทธิ์ในการส่งตัวแทนเต็มโควต้าที่สามารถดำเนินการได้