ผวาเหล็กจีนดัมพ์ไทยรอบใหม่ ‘ผู้ผลิตเอเชีย’ หาตลาดแทนสหรัฐ หวั่นทะลักอาเซียน

ผวาเหล็กจีนดัมพ์ไทยรอบใหม่ ‘ผู้ผลิตเอเชีย’ หาตลาดแทนสหรัฐ หวั่นทะลักอาเซียน

“ทรัมป์” ขึ้นภาษีเหล็ก และอะลูมิเนียม 25% ผู้ผลิตเหล็กเอเชียหาตลาดใหม่ทดแทนจับตาเหล็กจีนทะลักเข้าอาเซียน และไทย ส.อ.ท.ชี้จีนมีกำลังการผลิตส่วนเกินปีละ 200 ล้านตัน ไม่ลดกำลังการผลิต ทุ่มตลาดเดือนละ 4.2 แสนตัน สนค.เผยไทยส่งออกเหล็ก - อะลูมิเนียมไปสหรัฐเพิ่มขึ้นเนื่อง

KEY

POINTS

  • สหรัฐพึ่งพาการนำเข้าอะลูมิเนียม เช่น แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเม็กซิโก โดยการนำเข้าสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในปี 2566 ส่วนเหล็กคิ

โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐออกมาชี้แจงว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียมทั้งหมด 25% เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2568 โดยเป็นการปรับขึ้นภาษีครั้งใหญ่ ซึ่งในนโยบายการค้าของสหรัฐ และอาจจะมีผลวันที่ 11-12 ก.พ.2568

บลูมเบิร์ก รายงานว่า ภาษีเหล็กตัวใหม่อาจสร้างความเสียหายให้ธุรกิจพลังงานสหรัฐตั้งแต่บริษัทพัฒนาพลังงานลมถึงบริษัทขุดเจาะน้ำมันที่ต้องพึ่งพาสินค้าเกรดเฉพาะที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐ

ปัจจุบัน สหรัฐพึ่งพาการนำเข้าอะลูมิเนียม เช่น แคนาดา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเม็กซิโก โดยการนำเข้าสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 80% ในปี 2566 ตามข้อมูลของมอร์แกน สแตนลีย์ ส่วนการนำเข้าเหล็กคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่าของการบริโภคโดยรวม แต่มีความสำคัญต่อภาคส่วนต่างที่ใช้เหล็กเกรดพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมการบิน และอวกาศ การผลิตยานยนต์ และพลังงาน

ขณะที่ไทยพบข้อมูลจากสำนักงานการค้าระหว่างประเทศสหรัฐ (ITA) ระบุว่า ส่งออกอะลูมิเนียมไปสหรัฐอันดับที่ 11 ของโลก ในปริมาณ 7.6 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่าราว 319 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.08 หมื่นล้านบาท)

การประกาศของทรัมป์ส่งผลให้การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดล่วงหน้าเมื่อวานนี้ขยับขึ้น โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอะลูมิเนียมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนการซื้อขายแร่เหล็ก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตเหล็กกล้า เพิ่มขึ้น 1% ในตลาดสิงคโปร์ ขณะที่หุ้นบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก อาร์เซเลอร์มิตตัล ปรับตัวลดลง 1.7%

“เอเชีย” หาตลาดใหม่แทนสหรัฐ

ประเทศผู้ส่งออกหลายแห่งในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งส่งออกทั้งอะลูมิเนียม และเหล็กให้สหรัฐพยายามแสวงหาตลาดอื่นๆ แล้ว โดยปัจจุบันการส่งออกเหล็กของเกาหลีใต้คิดเป็น 70% ของค่าเฉลี่ยการส่งออกทั้งปีระหว่างช่วงปี 2558-2560 ก่อนที่รัฐบาลทรัมป์ขณะนั้นจะเริ่มสงครามการค้าครั้งแรก 

แม้ในแง่ของมูลค่าแล้ว สหรัฐยังเป็นจุดหมายปลายทางที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเหล็กจากเกาหลีใต้ก็ตาม ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เกาหลีใต้กล่าวว่า กำลังติดตามสถานการณ์ในสหรัฐอย่างใกล้ชิด

สำหรับจีนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ทั้งเหล็ก และอะลูมิเนียมเช่นกันนั้น ทรัมป์ไม่ได้ชี้แจงว่าการนำเข้าโลหะจากจีนจะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรซ้ำซ้อนหรือไม่ เนื่องจากทรัมป์ได้กำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจีนไปแล้ว 10% ก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี รัฐบาลปักกิ่งได้ดำเนินมาตรการทางภาษีตอบโต้สหรัฐ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวานนี้ (10 ก.พ.68) โดยมุ่งเป้าไปที่สินค้านำเข้าจากสหรัฐซึ่งมีมูลค่าราว 14,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.75 แสนล้านบาท)

ผวาเหล็กจีนดัมพ์ไทยรอบใหม่ ‘ผู้ผลิตเอเชีย’ หาตลาดแทนสหรัฐ หวั่นทะลักอาเซียน

จีนดัมพ์ราคาเหล็กเกิดตั้งแต่ทรัมป์1

นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า อุตสาหกรรมเหล็กจีนได้รับผลกระทบตั้งแต่นโยบายทรัมป์ 1.0 ซึ่งทำให้สินค้าจีนที่ผลิตปริมาณมาก และราคาถูกเข้ามาแย่งตลาดในไทย และอาเซียนมากขึ้น โดยจีนผลิตเหล็กสัดส่วนสูงกว่า 50% ของการผลิตเหล็กของทั้งโลกรวมกัน

นอกจากนี้ หากมองยอดการส่งออกเหล็กไทยไปสหรัฐถือว่าไม่เยอะโดยเฉลี่ยปีละไม่เกิน 2 แสนตัน โดยส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ท่อ เหล็กรีดเย็น และผลิตภัณฑ์เหล็กเคลือบดังนั้น การขึ้นภาษีกลุ่มเหล็กของสหรัฐจึงมองว่าในระยะสั้นนี้ยังไม่กระทบมากนัก

เหล็กจีนล้นทะลักเข้าอาเซียน-ไทย

นายบัณฑูรย์ กล่าวว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตเหล็กของประเทศจีนกว่า 1,100 ล้านตันต่อปี ส่วนความต้องการใช้ในจีนราว 900 ล้านตันต่อปี จึงมีกำลังการผลิตส่วนเกิน 200 ล้านตันต่อปี ปริมาณการส่งออกสู่ตลาดโลกในปี 2567 คาดว่าสูงเป็นประวัติการณ์กว่า 110 ล้านตัน เพราะดีมานด์จีนยังไม่ดีขึ้น และจีนคงอัตราการผลิตสูงเกือบเต็มกำลังไว้ เพื่อรักษาการจ้างงานและรักษาความได้เปรียบเชิงขนาด และมุ่งส่งออกในระดับราคาที่ต่ำ

ดังนั้น การไหลบ่าของผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีนเป็นความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กที่เป็นเป้าหมายการส่งออกของจีน เช่น อาเซียนรวมทั้งไทย ต่อไป ดังนั้นมาตรการทางการค้าเพื่อความเป็นธรรมในการแข่งขันจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ผลิตเหล็กจีนแห่ลงทุนไทย

ขณะที่ปัจจุบันโรงงานเหล็กจีนในกรณีเหล็กเส้น มีบริษัทเหล็กจีนเข้ามาตั้งโรงงาน 6 บริษัท กำลังการผลิตรวม 3.7 ล้านตันต่อปี โดยบริษัทดั้งเดิมของไทยที่ยังดำเนินการอยู่ 40 บริษัท กำลังการผลิตรวม 6.8 ล้านตันต่อปี ส่งผลให้สัดส่วนกำลังการผลิต บริษัทเหล็กจีนต่อบริษัทเหล็กไทยดั้งเดิม 35:65

สำหรับกำลังการผลิตเหล็กในประเทศรวม 33.7 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นเหล็กทรงแบน ทั้งรีดร้อน รีดเย็น เหล็กเคลือบชนิด 17.2 ล้านตันต่อปี รวมถึงเหล็กทรงยาว เช่น เหล็กเส้น เหล็กลวด เหล็กรูปพรรณ 16.5 ล้านตันต่อปี

ทั้งนี้ ปี 2567 ไทยมีความต้องการใช้เหล็ก 16.3 ล้านตัน ผลิตในประเทศ 6.3 ล้านตัน ส่งออก 1.4 ล้านตัน และนำเข้า 11.4 ล้านตัน โดยนำเข้าจากจีนสูงสุดประมาณเกือบ 5 ล้านตัน คิดเป็นประมาณ 44% ของการนำเข้าทั้งหมด

“ปี 2567 มีการลงทุนก่อสร้างโรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อนโดยบริษัท ซินเคอหยวน จำกัด กำลังการผลิต 5.6 ล้านตันต่อปี ซึ่งเดิมกำหนดเริ่มการผลิตปี 2567 แต่ล่าช้าจากอุบัติเหตุการก่อสร้างเมื่อเดือนมี.ค.2567 จึงเลื่อนการเดินเครื่องเป็นปี 2568 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนในไทยจาก 4 บริษัทที่มีอยู่เดิม 7.9 ล้านตันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 13.5 ล้านตันต่อปีภายในปี 2568”

ทั้งนี้ คาดการณ์กำลังการผลิตเหล็กไทยเมื่อรวมโครงการเหล็กแผ่นรีดร้อนของซินเคอหยวนจะเป็น 40 ล้านตันต่อปี โดยกำลังผลิตเหล็กไทยปีนี้น่าจะอยู่ที่ 16.0-16.3 ล้านตัน

ชง 7 ข้อเสนอแก้วิกฤติเหล็กไทย

นายบัณฑูรย์ กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท.และ 10 สมาคมเหล็ก มีเสนอต่อนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2568 รวม 7 แนวทาง เพื่อบรรเทาวิกฤติอุตสาหกรรมเหล็ก ประกอบด้วย 

1. มาตรการห้ามตั้ง ห้ามขยายโรงงานเหล็กเฉพาะประเภทที่มีกำลังการผลิตมากเกินความต้องการใช้ภายในไทยแล้ว ได้แก่ โรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน

2. มาตรการส่งเสริมให้โครงการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐใช้สินค้าเหล็กในประเทศที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับปรุงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon

3.การเร่งกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป

4.มาตรการสงวนเศษเหล็กเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ

5.นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดการซากรถยนต์ เพื่อบริหารจัดการ และนำวัสดุมาแปรใช้ใหม่ (Recycle) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เหล็กจีนทุ่มตลาดกว่า 4.2 แสนตันต่อเดือน

6.นโยบายส่งเสริมการใช้สินค้าที่ได้รับการรับรองจาก ส.อ.ท.ว่าผลิตในไทย (Made in Thailand) ไม่เฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยขยายไปยังโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน (PPP) และโครงการก่อสร้างของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ด้วย

7.การสนับสนุนให้ใช้มาตรการทางการค้าเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์ และทันท่วงที เพราะไทยใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (AC) กับสินค้าเหล็กบางประเภทเท่านั้น โดยไม่ใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) ในขณะที่ไทยยังถูกจีนส่งสินค้าเหล็กมาทุ่มตลาดปริมาณเฉลี่ย 4.2 แสนตันต่อเดือน

สรท.ชี้กระทบซัพพลายเชนสหรัฐ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกเหล็ก และเหล็กกล้าไปสหรัฐไม่สูงเมื่อเทียบการส่งออกไปอินเดีย จีน มาเลเซีย และเกาหลีใต้

ทั้งนี้ อย่างไรก็ตามแม้ไทยจะส่งออกน้อยแต่เหล็ก และอะลูมิเนียมถือว่าเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมหลายประเภท ดังนั้นหากเป็นเช่นนี้จะกระทบต่อโครงสร้างการผลิตในห่วงโซ่อุปทาน

“ห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนของหลายกลุ่มอุตสาหกรรมจะเริ่มปั่นป่วนหากนโยบายนี้มีผลบังคับใช้” นายชัยชาญ กล่าว

นอกจากนี้ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ช่วง 5 ปี (2563-2567) ไทยส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ไปสหรัฐ และผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนี้

1.เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ส่งออกไปสหรัฐปี 2563 มีมูลค่า 1,015 ล้านดอลลาร์, ปี 2564 มูลค่า 1,397 ล้านดอลลาร์, ปี 2565 มูลค่า 1,503 ล้านดอลลาร์, ปี 2566 มูลค่า 1,494 ล้านดอลลาร์ และปี 2567 มูลค่า 1,205 ล้านดอลลาร์

2.ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม ส่งออกไปสหรัฐปี 2563 มูลค่า 190 ล้านดอลลาร์, ปี 2564 มูลค่า 547 ล้านดอลลาร์, ปี 2565 มูลค่า 667 ล้านดอลลาร์, ปี 2566 มูลค่า 251 ล้านดอลลาร์ และปี 2567 มูลค่า 437 ล้านดอลลาร์

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์