กรมปศุสัตว์ พร้อมรับรอง GAPฟาร์มไก่ไข่ขนาด 1 พันตัวขึ้น ไปตามาตรฐานบังคับ

กรมปศุสัตว์ ขับเคลื่อนมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่เล็งรับรอง GAPขนาด 1,000 ตัวขึ้น ตามมาตรฐานบังคับ เพื่อให้ปลอดโรคและผู้บริโภคปลอดภัย ค่าธรรมเนียมบุคคลธรรมดา 100 บาท นิติบุคคล 1,000 บาท
นายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และโฆษกกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (GAP ฟาร์มไก่ไข่) มีขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 1,000 ตัวขึ้นไป จะมีผลบังคับใช้ จากที่ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้มีการบังคับใช้มาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่ไข่ สำหรับผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ ที่มีขนาดการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2564
มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ (GAP ฟาร์มไก่ไข่) มีวัตถุประสงค์สำคัญในการยกระดับการผลิตไข่ไก่ของประเทศ ให้มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยในการผลิต การป้องกันโรคระบาดสัตว์ โรคสัตว์สู่คน และสารตกค้าง เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และปกป้องอุตสาหกรรมจากภัยคุกคามของโรคระบาดสัตว์ที่สำคัญนั้น
ทั้งนี้ มาตรฐาน GAP ฟาร์มไก่ไข่ภาคบังคับ กำหนดขึ้นโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการออกใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตตามมาตรฐานบังคับและ มกอช. ได้มอบหมายภารกิจในการออกใบอนุญาตฯ ให้แก่กรมปศุสัตว์ที่มีหน้าที่ออกใบรับรองมาตรฐาน GAP
โดยสามารถยื่นขอใบอนุญาตผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ TAS-License ได้ที่ระบบยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯและแจ้งนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรเป็นมาตรฐานบังคับ มีค่าธรรมเนียมสำหรับบุคคลธรรมดา 100 บาท และนิติบุคคล 1,000 บาท (ตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับประกอบกิจการเกี่ยวกับสินค้าเกษตร พ.ศ. 2552) และสามารถยื่นขอใบรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ Biz portal ผ่านทางศูนย์กลางข้อมูลให้ธุรกิจติดต่อราชการแบบเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ณจุดเดียวหรือติดต่อสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ที่ฟาร์มตั้งอยู่ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ตาม สำหรับฟาร์มไก่ไข่ขนาดกลางและเล็ก ที่มีขนาดการเลี้ยง 1,000 – 9,999 ตัว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอที่จะยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและใบรับรอง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ยืนยันการเสนอ ร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการ เพื่อยกเว้นฟาร์มไก่ไข่ขนาดระหว่าง 1,000 – 9,999 ตัว ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตและใบรับรอง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการบรรจุเข้าวาระการประชุมของคณะรัฐมนตรีแล้ว
และสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่น้อยกว่า 1,000 ตัว มีจำนวน 125,972 ราย ไม่อยู่ภายใต้การบังคับของมาตรฐานฟาร์ม GAP ดังกล่าว กรมปศุสัตว์จะมีการส่งเสริมให้เข้าสู่มาตรฐานทางเลือก เช่น ปศุสัตว์อินทรีย์ หรือฟาร์มไก่ไข่เลี้ยงปล่อยอิสระต่อไป
"การที่เกษตรกรได้รับรองมาตรฐาน GAP นี้ จะสามารถยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของไข่ไก่ที่ผลิตจากฟาร์มได้ มีสุขอนามัยการผลิตที่ดี ลดความเสี่ยงของโรคระบาดและโรคสัตว์ติดคนและการปนเปื้อนสารตกค้าง อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์ม ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ "
ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือประชาชนทั่วไป มีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะ สามารถติดต่อได้ที่สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ โทร 02-653-4444 ต่อ 3155 หรือส่งข้อมูลได้ที่แอพพลิเคชั่น DLD 4.0