'ส.อ.ท.' แนะรัฐปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ชง 4 แนวทางดัน GDP ไทยโต

"ส.อ.ท." เสนอ 4 แนวทางหวังภาครัฐเดินหน้าเพิ่ม GDP ด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2567 ขยายตัว 2.5% ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 2.0% ส่วนไตรมาส 4 ขยายตัว 0.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยขยายตัวไม่มากเพราะการผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ลดลง 21% ขณะที่ดัชนีการผลิตรวม (PMI) อยู่ที่ 57% แม้การส่งออกขยายตัวดี
ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะขยายตัว 2.3-3.3% (ค่ากลางการประมาณการ 2.8%) โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคขยายตัว 3.3% และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.2% มูลค่าการส่งออกรูปดอลลาร์ขยายตัว 3.5% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 0.5-1.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของ GDP
เช่นเดียวกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ยังคงประมาณการจีดีพี ปีนี้ไว้ที่ 2.4-2.9% การส่งออกขยายตัวได้ 1.5-2.5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.8-1.2%
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ที่ต่ำแค่ 1 - 2% และไม่ได้ฟื้นตัวมากนัก หลังโควิด-19 เติบโตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งประเทศไทยไม่ควรติดกับดักเดิมๆ ที่ขาดการปรับตัว และขาดความกล้าหาญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตาม เอกชนอยากให้ภาครัฐมีนโยบายในการผลักดัน GDP โดยมีแนวทาง เบื้องต้นดังนี้
1. C = Consumption ลดภาระหนี้และค่าครองชีพของประชาชนและเอกชนด้วยนโยบายดอกเบี้ยที่เหมาะสมและการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs อีกทั้งลดการผูกขาด ส่งเสริมตลาดแข่งขันเสรี (ในประเทศ) ของทุกสินค้าและบริการ
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการผลักภาระให้เอกชน เช่น นโยบายประชานิยม ด้วยนโยบายค่าแรงขั้นต่ำที่ควรให้เป็นกลไก ตามกรรมการไตรภาคี ที่ปราศจากการแทรกแซง และเร่งนโยบายการเพิ่มรายได้ตามทักษะฝีมือแรงงาน ด้วยการ เร่ง Up Skill และ Re Skill ที่จะสร้างความยั่งยืนทั้งระบบ
อีกทั้ง ส่งเสริมการบริโภคสินค้าหรือบริการ ที่ MiT (Made in Thailand ) เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศ แทนการมุ่งซื้อสินค้าหรือบริการที่ถูกจากการนำเข้า ซึ่งจะทำลายผู้ผลิตในประเทศในที่สุด
2. I = Investment เน้นส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือบริการที่เป็นจุดแข็งของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ตามหลักโมเดล BCG และมุ่งส่งออก High value Product แทน การส่งสินค้าเกษตรขั้นต้นซึ่งมีมูลค่าต่ำกว่า
อีกทั้งเร่งการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากจุดแข็งของเรา (New Engine) เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อทดแทนส่วนที่หายไปจากยานยนต์สันดาป โดยผลักดัน Part Transform Policy เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น เครื่องจักรกลเกษตร, Aerospace, อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ, เครื่องมือแพทย์, ขนส่งทางราง และ Robotic เป็นต้น
"ที่สำคัญคือต้องผลักดันให้เกิด Technology Transfer ให้คนไทย ไม่ใช่มาใช้ประเทศไทย เป็นแค่การสวมสิทธิ์แปลงสัญชาติ เพื่อการส่งออกจากปัญหา Trade War"
3. G = Government Expenses เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ อุตสาหกรรมต้นน้ำเช่น ระบบน้ำ ให้ภาคเกษตร และรองรับอุตสาหกรรม BCG ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ส่งเสริมสินค้า MiT (Made in Thailand) มากกว่าสินค้านำเข้า รวมถึงการใช้งบประมาณภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ
4. เพิ่ม Export / ลด Import นอกจากการหาตลาดใหม่ๆ รวมทั้งการเจรจา FTA จึงควรส่งเสริมการส่งออก ด้วยมาตรการค่าเงินบาทที่อ่อนเทียบกับคู่แข่ง ซึ่งจะเป็นผลดีกับภาคการท่องเที่ยวด้วย รวมทั้งลดอุปสรรค เช่น ขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการส่งออก
นอกจากนี้ ควรลดการนำเข้าสินค้าที่สามารถผลิตในประเทศ รวมทั้งการลักลอบนำเข้าและการใช้ประโยชน์ในเขตปลอดอากร Free Zone ที่ทำลายอุตสาหกรรมในประเทศ
อีกทั้ง ควรเร่งการผลิตของในประเทศ แทนการนำเข้่า เช่น ส่งเสริมเขื้อเพลิงสะอาดจากภาคเกษตร ให้แข่งขันได้ เช่น เอทานอล E20 และไบโอดีเซล แทน การนำเข้า Crude oil (ฟอสซิล) ซึ่งยังตอบโจทย์ Climate Change
"ที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณรัฐบาลชุดนี้ ที่ได้เร่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหลายเรื่อง อย่างเต็มที่ ด้วยนโยบายดีๆ หลายเรื่อง และผมมั่นใจว่า เอกชนและทุกภาคส่วนต่างก็พร้อมที่จะให้กำลังใจและร่วมทำงานเชิงรุกอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ เพื่อผลักดันในประเทศไทยผ่านวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไปด้วยกัน"