'การบินไทย' ลุยเคาะบอร์ดใหม่ 'ปิยสวัสดิ์ - ชาญศิลป์' ไปต่อ

'การบินไทย' ลุยเคาะบอร์ดใหม่ 'ปิยสวัสดิ์ - ชาญศิลป์' ไปต่อ

“การบินไทย” เตรียมประชุม 25 ก.พ.68 นี้ เคาะรายชื่อตัวแทนผู้ถือหุ้นนั่งบอร์ด พบเสนอ 11-15 คน พร้อมพิจารณาบอร์ดเก่า 3 ราย มีผลต่ออายุอัตโนมัติ

KEY

POINTS

  • ผู้บริหารแผน “การบินไทย” เตรียมประชุม 25 ก.พ.นี้ เคาะรายชื่อตัวแทนผู้ถือหุ้นนั่งบอร์ด ด้าน “ชาญศิลป์” เผยมีรายชื่อเสนอมา 11-15 คน ขณะที่ภาครัฐใช้สิทธิผู้ถือหุ้นใหญ่ ครองสัดส่วน 48% เสนอตัวแทนมากสุด
  • กำหนดพิจารณาคุณสมบัติ ประสบการณ์การทำงานในแวดวง

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ในช่วงท้ายของการเตรียมยื่นศาลล้มละลายกลางเพื่อออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยหลังจากมีการขายหุ้นเพิ่มทุนแล้ว จะเข้าสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ใหม่ เพื่อมากำหนดทิศทางการดำเนินการของการบินไทย หลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการ และผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบินไทยดำเนินการตามเงื่อนไขความสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการทั้งการจ่ายหนี้ โดยไม่มีการผิดนัดชำระ การปรับโครงสร้างทุนทำให้ส่วนทุนเป็นบวก 3-4 หมื่นล้านบาท การทำกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี 

ทั้งนี้ ปัจจุบันเหลือเพียงเงื่อนไขสุดท้าย คือ การแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ใหม่ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น รวมทั้งการบินไทยเปิดให้ผู้ถือหุ้นเสนอรายตัวแทนเข้ามาเป็นบอร์ดใหม่ของการบินไทยแล้ว โดยพบว่ามีการเสนอรายชื่อมาประมาณ 11-15 รายชื่อ ซึ่งในวันที่ 25 ก.พ.2568 คณะผู้บริหารแผนการบินไทยจะประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติ ประสบการณ์ และความเหมาะสมของแต่ละรายชื่อ ก่อนนำเสนอในการประชุมผู้ถือหุ้นนัดแรกในวันที่ 18 เม.ย.นี้ เพื่อรับรองรายชื่อบอร์ดใหม่ของการบินไทย 

นอกจากนี้ หากผู้ถือหุ้นเห็นชอบก็จะเตรียมไปสู่ขั้นตอนรายงานศาลล้มละลาย และแต่งตั้งบอร์ดตามตำแหน่งที่เหมาะสม อาทิ ประธาน รองประธาน กรรมการ และกรรมการอิสระ

"โครงสร้างบอร์ดการบินไทย ก่อนการฟื้นฟูกิจการมีจำนวน 15 คนโดยหลังจากการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ คงต้องพิจารณาโครงสร้างที่เหมาะสมด้วยเพราะหากมีจำนวนบอร์ดมากเกินไปก็ไม่เกิดความคล่องตัว และผู้บริหารแผนมองว่าผู้ที่จะมาเป็นบอร์ดการบินไทยต้องมีความรู้ ความสามารถ ในอุตสาหกรรมการบิน การเงิน การทำธุรกิจ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบินไทย"

ผู้ถือหุ้นเตรียมอนุมัติรายชื่อบอร์ดใหม่

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ตอนนี้ผู้ถือหุ้นส่งตัวแทนทั้งหมดแล้ว ซึ่งรวมไปถึงตัวแทนจากภาครัฐกระทรวงการคลังด้วย โดยหน้าที่ของคณะผู้บริหารแผนการบินไทย จะพิจารณารายชื่อบอร์ดชุดใหม่นั้น ทำได้เพียงพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละรายชื่อ แต่ท้ายที่สุดผู้ถือหุ้นจะเป็นผู้รับรองรายชื่อ และคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมในการเป็นบอร์ดการบินไทย 

ดังนั้นหากว่าผู้บริหารแผนมีความเห็นอย่างไร และผู้ถือหุ้นมีความเห็นต่าง ก็สามารถคัดค้าน และโหวตความเห็นกันได้ในการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะเกิดขึ้นในเดือนเม.ย.2568

มั่นใจกลับซื้อขายหุ้นกลางปี 2568

สำหรับภาพรวมธุรกิจของการบินไทย พบว่าในปี 2567 มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 15,195.21 ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยภายหลังปรับโครงสร้างทุน นอกจากการบินไทยจะมีส่วนทุนเป็นบวกแล้ว ยังมีเงินสดในมือ 9 หมื่นล้านบาท  หนี้สินลดลงเหลือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จากช่วงก่อนฟื้นฟูกิจการมีหนี้สิน 1.5 แสนล้านบาท 

แต่การบินไทยยังคงต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน ทั้งปัจจัยในด้านบุคลากรที่ขาดแคลน และค่าแรงสูงขึ้น การปรับตัว หากสภาวะการแข่งขันรุนแรงจากซัพพลายในตลาดมากขึ้น ตลอดจนปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจตกต่ำ

“หลังการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และกลับซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กลางปีนี้ ก็จะเข้าสู่การเป็นบริษัทเอกชนปกติ สิ่งสำคัญที่สุด คือปี 2568 และปีต่อๆ ไป การบินไทยจะต้องเติบโตอย่างสวยงาม เป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย และครองสัดส่วนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นในเอเชียแปซิฟิก”

“คลัง” ส่งชื่อเต็มโควตา 4 คน

แหล่งข่าวจากผู้ถือหุ้นการบินไทย กล่าวว่า ทราบว่าขณะนี้ภาครัฐได้เสนอตัวแทนเข้ามาเป็นบอร์ดชุดใหม่การบินไทย เสนอเต็มสิทธิประมาณ 4 รายชื่อ โดยเปรียบเทียบมาจากโครงสร้างเดิมที่กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วนประมาณ 47% ขณะที่ปัจจุบันยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วนประมาณ 38% และหากรวมหน่วยงานภาครัฐจะมีสัดส่วนที่ประมาณ 48% 

ทั้งนี้รายชื่อส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่มีเชี่ยวชาญในด้านการเงิน ดังนั้นคงต้องพิจารณากันอีกครั้งว่าตัวแทนแต่ละบุคคลนั้นมีความเชี่ยวชาญในแขนงเดียวกันหรือไม่ หากคล้ายกันมีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเสนอบุคคลรายชื่อนี้ และจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการบินไทยอย่างไร

สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นหลังปรับโครงสร้างทุน มีรายละเอียดประกอบด้วย กระทรวงการคลังถือหุ้น 38% ธนาคารกรุงเทพ 8.5% สหกรณ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 5.4% ธนาคารกรุงไทย 4.7% ธนาคารออมสิน 1.6% ธนาคารอิสลาม 1.4% ธนาคาร EXIM 0.6% NT 0.5% และอื่นๆ 39.4% 

ดังนั้นหากรวมการถือหุ้นของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมดจะคงสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 48% เบื้องต้นจึงประเมินว่าหากภาครัฐส่งตัวแทนเป็นบอร์ดเต็มจำนวนสิทธินั้น น่าจะอยู่ที่ราว 3-4 คน

ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายอื่น ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ได้แปลงหนี้เป็นทุนปัจจุบันมีสัดส่วนถือหุ้นรวมประมาณ 52% จะมีสิทธิส่งตัวแทนเป็นบอร์ด อาทิ ธนาคารกรุงเทพ จะได้สิทธิส่งตัวแทน 1 คน สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีสิทธิส่งตัวแทน 1 คน และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้กลุ่มสหกรณ์จะมีสิทธิส่งตัวแทนตามลำดับการถือหุ้น

“ปิยสวัสดิ์-ชาญศิลป์” นั่งบอร์ดต่อ

ขณะเดียวกันการประชุมผู้ถือหุ้น ต้องพิจารณาเกี่ยวกับวาระของบอร์ดการบินไทยชุดเก่าที่ดำเนินการตั้งแต่ก่อนเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ โดยปัจจุบันยังคงมีรายชื่อ 3 บุคคลดำรงตำแหน่ง และมีวาระเหลืออยู่กว่า 1 ปี ดังนั้นต้องพิจารณาว่ารายชื่อดังกล่าวจะยังคงมีผลต่อเนื่องเป็นบอร์ดการบินไทยชุดใหม่โดยอัตโนมัติหรือไม่ โดยรายชื่อประกอบด้วย 

1.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการ 2.พล.อ.อ.อำนาจ จีระมณีมัย กรรมการอิสระ และ 3.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการอิสระ

รวมไปนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการบินไทยในปัจจุบัน จะยังคงมีผลต่อเนื่องหรือไม่ เนื่องจากเป็นการแต่งตั้ง และต่อสัญญาจ้างเข้ามาดำรงตำแหน่งจากคณะผู้บริหารแผน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์