อย่าให้ "ภาคเกษตร" หายไปกับ "สังคมสูงวัย"

สองอาทิตย์ก่อน สถาบันวิจัยทีดีอาร์ไอขอสัมภาษณ์ผมเรื่องสังคมสูงวัย และคําถามหนึ่งซึ่งสําคัญและน่าสนใจคือ ภาคเกษตรไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสุดๆ หรือ Super Aged Society
วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นของผมเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ เพื่อเราจะได้ร่วมกันผลักดันเปลี่ยนแปลงภาคเกษตรไทยก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกิน
ภาคเกษตรมีความสําคัญต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนไทยมายิ่งยวดช้านาน ตั้งแต่ก่อนสมัยบรรพบรุษก็ว่าได้ ทั้งการผลิตข้าวที่เป็นอาหารหลักของคนทั้งประเทศรวมทั้งสินค้าเกษตรอื่นๆ
การเป็นฐานสําคัญของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ เป็นฐานภาษีให้กับรัฐบาล และเป็นที่มาของรายได้ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ
ย้อนหลังกลับไป 60 ปี 70% ของเศรษฐกิจไทยคือภาคเกษตร และกว่า 2 ใน 3 ของคนไทยมีรายได้หลักมาจากภาคเกษตร คนไทยเหล่านี้คือชาวนาที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวว่า "ทุกข์ของชาวนา คือ ทุกข์ของแผ่นดิน"
60 ปีผ่านไป ความสําคัญของภาคเกษตรปัจจุบันในแง่สัดส่วนของจีดีพีได้ลดลงเหลือ 9% แต่ 30% ของพื้นที่ในประเทศยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และ 1ใน 3 ของคนไทยยังมีรายได้หลักมาจากภาคเกษตร
ทั้งหมดชี้ถึงผลิตภาพหรือความสามารถในการเพิ่มการผลิตของภาคเกษตรไทยที่ตํ่ามากและไม่เปลี่ยนแปลง คือ ผลผลิตต่อไร่ของภาคเกษตรไทยไม่เพิ่มขึ้นเลยช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2002-2020)
เพราะวิธีการผลิตที่ยังเป็นแบบดั้งเดิม การขาดโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนเพราะรัฐไม่ลงทุน เช่น น้ำคือระบบชลประทาน ระบบดิจิทัล เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐานในชนบท ทําให้ไม่สามารถใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มการผลิต
ผลคือภาคเกษตรไทยล้าหลัง ไม่เติบโต ชาวนายากจน ขาดโอกาส และไม่มีกําลังแรงงานในภาคเกษตรเพราะลูกหลานจะเข้าเมืองหางานทํา ไม่ทําเกษตรกรรม
ภาคเกษตรจึงเหลือแต่เกษตรกรหรือชาวนาที่สูงวัย อายุเฉลี่ย 50 ปีกลางๆ ไม่มีคนหนุ่มสาว นี่คือกระดูกสันหลังของประเทศขณะนี้
ถ้าไม่มีการแก้ไข เกษตรกรที่เหลืออยู่ก็จะสูงวัยมากขึ้นและตายจากไปเมื่อสังคมสูงวัยแบบสุดๆ มาถึง พื้นที่การเกษตรจะถูกทิ้งว่างเปล่า ไม่มีใครทํา
ลูกหลานที่อยู่ในเมืองส่วนใหญ่คงไม่กลับมาเป็นเกษตรกรเหมือนรุ่นพ่อแม่ เพราะไม่ยึดติดกับพื้นที่หรือการเป็นเกษตรกร พร้อมทั้งไม่มีแรงจูงใจทางเศรษฐกิจให้กลับมา บางคนอาจขายที่ดินที่พ่อแม่ให้ไว้เพื่อเอาเงินไปทําอย่างอื่น
นี่คือสิ่งที่คงเกิดขึ้นใน 10-15 ปีข้างหน้า ก็คืออีกไม่นาน ทําให้การผลิตในภาคเกษตรของเราจะยิ่งถดถอย นําไปสู่ความตกต่ำของภาคเกษตรไทยเป็นการถาวรในที่สุด นี่คือความเสี่ยงที่รออยู่
ผลกระทบของความตกต่ำของภาคเกษตรต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งประเทศจะมหาศาล สำคัญสุดคือเมื่อการผลิตในภาคเกษตรถดถอย เราจะไม่ใช่ประเทศที่ผลิตอาหารได้เพียงพอเลี้ยงตัวเอง ไม่ต้องพึ่งใครและมีเหลือให้ส่งออกอีกต่อไป
ตรงกันข้าม เราอาจต้องนําเข้าอาหาร เช่นข้าว จากต่างประเทศเพื่อการบริโภคในประเทศ เพราะผลิตได้ไม่พอใช้พอกินซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทําให้ความเพียงพอของอาหารจะกลายเป็นประเด็นความมั่นคงของประเทศ
อีกประเด็นคือที่ดินที่ลูกหลานเกษตรกรขายทิ้งไม่สนใจ ก็อาจถูกซื้อและครอบครองมากขึ้นโดยคนต่างชาติทั้งระดับบุคคลที่เข้ามาเป็นเจ้าของที่ดินแทน
และระดับธุรกิจที่บริษัทต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในปริมาณที่มากเพื่อทําธุรกิจ ที่อาจไม่ใช่การเกษตร หรือทําธุรกิจเกษตรแต่ในรูปแบบที่ทําลายความสมดุลของวิถีทางสังคม เช่น ไม่ปลูกข้าวในพื้นที่อู่ข้าวอู่นํ้า ทําให้ผลผลิตข้าวไม่พอกับความต้องการในประเทศ เกิดความขาดแคลน และสร้างประเด็นเรื่องความมั่นคงตามมา
เหล่านี้คือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นซึ่งทั้งหมดควรหลีกเลี่ยง ดังนั้น จึงจําเป็นที่เราคือคนทั้งประเทศต้องร่วมกันรักษาภาคเกษตรของประเทศเอาไว้ให้อยู่รอดและต้องทำอย่างเร่งด่วน อย่าปล่อยให้ภาคเกษตรล้มหายตายจากไปกับสังคมสูงวัย
สิ่งที่ต้องรีบทําในความเห็นผมมีสามเรื่อง
หนึ่ง ทําใหัคนไทยหนุ่มสาวกลับมาทํามาหากินและใช้ชีวิตในภาคเกษตรทั้งเป็นเกษตรกรและเป็นผู้ประกอบการ
อันนี้สำคัญสุด เพราะถ้าไม่มีใครทํา ก็จะไม่มีภาคเกษตร เป็นความท้าทายกับทุกประเทศที่เผชิญสังคมสูงวัย ไม่ว่าญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้
ซึ่งเป้าหมายแรกคือคนหนุ่มสาวที่อยู่ในภาคเกษตรอยู่แล้วให้อยู่ในภาคเกษตรต่อไป ตามด้วยคนที่ย้ายออกจากภาคเกษตรเพราะต้องหารายได้ และ คนหนุ่มสาวที่อยากเป็นเกษตรกร อยากประกอบอาชีพในภาคเกษตร เพราะใจชอบหรือเรียนมา
นี่คือกลุ่มคนที่จะเป็นอนาคตของภาคเกษตรไทยที่ต้องสร้างและรักษาเอาไว้ ด้วยแรงจูงใจทางเศรษฐกิจที่มากพอและถูกต้อง ซึ่งอยู่ในวิสัยที่รัฐทําได้ ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้ ข้อมูล เงินสนับสนุน สินเชื่อ และสิทธิระยะยาวในการใช้ที่ดินสำหรับผู้ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองแต่ต้องการเป็นเกษตรกร ซึ่งใจผมมองไปถึงให้รายได้พื้นฐานหรือ basic income ช่วงสิบปีแรก
สอง รัฐต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพลิกโฉมหรือ transform ภาคเกษตรไทยให้เป็นเกษตรอัจฉริยะทั้งประเทศ ผสมผสานองค์ความรู้ที่เกษตรไทยมีกับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะดับเบิ้ลผลผลิตภาคเกษตรไทยให้ได้ใน 10 ปี
โดย 5 ปีแรกเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการเติบโต สำคัญสุดคือการขยายพื้นที่ชลประทานซึ่งเจ้าของที่ดินรายใหญ่ต้องร่วมมือ การปฏิรูปที่ดินเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินว่างเปล่า ลงทุนในระบบอินเทอร์เน็ตที่ทั่วถึงและไม่แพง
และสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องขึ้นมารองรับ ทั้งด้านการผลิต เช่น ปุ๋ย การตลาด เช่น ระบบข้อมูลและตลาดสินค้าออนไลน์ การแปรรูป การเก็บรักษา การขนส่ง การวิจัยและพัฒนา สิ่งเหล่านี้อยู่ในวิสัยที่คนไทยสามารถทําได้และจะทําได้ดีมากๆ เมื่อทุกอย่างเปิด คือ มีโอกาส
สาม รัฐบาลต้องมีนโยบายชัดเจนเรื่องแรงงานต่างด้าวที่จะมาช่วยผลิกโฉมภาคเกษตร ทั้งการใช้ประโยชน์แรงงานไร้ฝีมือเป็นการชั่วคราวในช่วงปลูกและเก็บเกี่ยว
และจูงใจให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่มีความรู้ มีทุน มีเทคโนโลยี และมีประสบการณ์เข้ามาช่วยถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งอาจจําเป็นสำหรับการยกระดับภาคเกษตรให้ครบวงจรในระยะแรก
ตัวอย่างเช่น หลายประเทศมีการให้วีซ่าตามฤดูกาลเพื่อให้มีแรงงานต่างชาติเข้ามาช่วยในช่วงการปลูกและเก็บเกี่ยวได้อย่างเป็นระเบียบและถูกกฎหมาย หรือมีกฎเกณฑ์ชัดเจนในการถือครองที่ดินโดยคนต่างชาติเพื่อการเกษตรกรรม แยกเป็นรายเล็กรายใหญ่ เช่น นิวซีแลนด์ เป็นต้น
ประเทศเรามีปัญหามากและสังคมสูงวัยจะทําให้ปัญหาและความท้าทายยิ่งมีมากขึ้น การพึ่งรัฐและระบบราชการให้แก้ปัญหาก็เป็นความหวัง แต่ที่ทำได้คือ พวกเราคนไทยต้องช่วยกันคิด ช่วยกันวิเคราะห์ ช่วยกันแก้ไขปัญหาในเวลาที่ยังมีอยู่ เพราะไม่มีใครที่จะมาช่วยเราและประเทศเรา.
คอลัมน์เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
bandid.n@ppgg.foundation